เปลี่ยนหินฝุ่นและเศษแก้วเหลือทิ้งเป็นพื้นหินขัด ไอเดีย Circular Economy บุญรักษาการโยธา  หวังสร้างธุรกิจยั่งยืนเคียงคู่โลกและสิ่งแวดล้อม

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : บุญรักษาการโยธา

Main Idea

  • จากเศษวัสดุที่เหลือเป็น Waste จากกระบวนการผลิตในการแปรรูปหินเพื่อใช้ในการก่อสร้าง

 

  • "บุญรักษา การโยธา" หนึ่งในผู้ประกอบการ จ.สระแก้ว กลับมองเห็นเป็นโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ จนผลิตเป็นสินค้าใหม่ ที่มีโอกาสขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย

 

  

     รู้ไหมว่าในการแปรรูปหินเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง จะมีสิ่งที่เรียก “หินฝุ่น” เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก บางคนอาจมองว่าเป็นของไร้ค่า แต่สำหรับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญรักษาการโยธา จังหวัดสระแก้ว กลับมองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มแต้มต่อให้ธุรกิจ โดยจับมือนักวิจัยใช้เศษหินฝุ่นและเศษแก้วเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต มาดีไซน์เป็นพื้นหินขัดจากเศษแก้ว ที่ตอบโจทย์ทั้งความแข็งแรง สวยงาม สร้างมูลค่าให้ของเหลือทิ้ง และยังเป็นโอกาสขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย

เมื่อธุรกิจก่อสร้างจะเพิ่มแต้มต่อด้วยนวัตกรรมรักษ์โลก

     บุญรักษาการโยธา ธุรกิจจัดจำหน่ายวัตถุดิบหินก่อสร้างส่งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จของปูนซิเมนต์ไทย (CPAC) และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างให้กับส่วนงานราชการ ที่ก่อตั้งธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2551

     หนึ่งในผู้ขับเคลื่อน คือ อภิรักษ์ บุญเกื้อ หุ้นส่วนคนสำคัญ เขาเรียนจบภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีความสนใจเรื่องการนำวัสดุทดแทนมาใช้ในงานก่อสร้าง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่นับวันจะหมดลง หนึ่งในนั้นก็คือ “ทรายธรรมชาติ”

     “ผมค้าหินมาระยะหนึ่งพบปัญหาว่า ในจังหวัดสระแก้วนั้นทรายธรรมชาติกำลังขาดแคลน ส่วนที่มีอยู่คุณภาพก็ไม่ดีเท่าไหร่ เวลานำไปผสมคอนกรีตกำลังอัดจะตก จึงต้องสั่งซื้อทรายมาจากจังหวัดไกลๆ ซึ่งทำให้กระทบกับต้นทุนอีก  ขณะที่พบว่าในโรงโม่หินเวลาผลิตหินก่อสร้าง จะมีหินฝุ่นออกมาด้วย ซึ่งคุณสมบัติจะคล้ายๆ ทราย ปกติจะนำไปอัดเป็นอิฐบล็อคอะไรพวกนี้ แต่ปริมาณการใช้ก็ยังน้อยมาก เรียกว่ามีเหลืออีกเป็นแสนตันเลย ผมเองรู้จักกับทางนักวิจัยคือ ดร.ประชุม คำพุฒ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเคยวิจัยเรื่องการนำหินฝุ่นมาใช้แทนทรายมาก่อน จึงได้เริ่มต้นทำวิจัยร่วมกัน ในการใช้งานช่วงแรกลูกค้าของเราเจอปัญหาเรื่องทราย เราจึงเสนอให้เขาใช้หินฝุ่นไปแทนทรายบางส่วนในการผสมคอนกรีต เลยมีโอกาสได้ขายหินฝุ่นเพิ่มจากหินปกติ เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน”

     แม้จะนำหินฝุ่นไปขายให้กับลูกค้า และนำไปใช้แทนทรายในธุรกิจก่อสร้างของพวกเขาอยู่บ้าง แต่อภิรักษ์กลับพบว่า ยังคงเหลือหินฝุ่นอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการผลิตหินทุกวัน และคนส่วนใหญ่ยังคงขาดความเข้าใจในการใช้หินฝุ่นอยู่ เนื่องจากใช้งานยากกว่าทราย และต้องอาศัยเทคนิคในการผสม เพราะดูดซับน้ำได้มากกว่าทำให้แห้งเร็วกว่า พวกเขาจึงนึกถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จะช่วยขยายโอกาสในการใช้หินฝุ่นได้มากขึ้น ที่สำคัญเข้าถึงตลาดได้หลากหลายขึ้นกว่าเดิมด้วย

           

เศษหินฝุ่นสู่พื้นหินขัดตอบโจทย์ทั้งการตลาดและโลก  

     “ผมจึงคุยกับนักวิจัยว่า จะนำหินฝุ่นมาวิจัยเพิ่มอย่างไร หรือจะมีผลิตภัณฑ์อะไรที่ใช้หินฝุ่นแทนทรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์บ้าง แล้วจะทำผลิตภัณฑ์อะไรเพื่อให้เกิดการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นได้ อีกเหตุผลคือ เราอยากทำงานวิจัยที่สามารถขึ้นทะเบียน “บัญชีนวัตกรรมไทย” ในอนาคตได้ด้วย เพื่อจะได้สิทธิพิเศษในการประมูลงานราชการ เพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันทางธุรกิจของเรา จึงร่วมกับอาจารย์ประชุม ทดลองนำเศษหินมาทำเป็นพื้นหินขัด โดยทางอาจารย์มีการนำเศษแก้วมาใช้ร่วมด้วย จนได้พื้นหินขัดจากเศษแก้ว ที่ผ่านการบดย่อยและเคลือบสี ซึ่งให้ทั้งความแข็งแรงคงทนจากการใช้หินฝุ่นมาเป็นส่วนประกอบแทนทราย และได้เรื่องของความสวยงามจากเศษแก้วที่สะท้อนแสงระยิบระยับ เล่นแสงได้มากกว่าพื้นหินขัดทั่วไปอีกด้วย”

     ผลิตภัณฑ์พื้นหินขัดจากเศษหินฝุ่นและเศษแก้ว พัฒนาออกมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มงานรับสร้างบ้านและตกแต่งภายใน อภิรักษ์บอกว่า เขามองที่จะนำพื้นหินขัดนี้ไปต่อยอดเป็นชิ้นงานสำหรับตกแต่ง เพื่อให้ได้ผลงานที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

     “ตอนนี้เรากำลังดูในเรื่องของดีไซน์เพิ่ม เนื่องจากมองว่า ลำพังตัวมันเองที่เป็นแผ่นพื้นหินขัด ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเอาไปทำเป็นชิ้นงานขึ้นมา เป็นสินค้าตกแต่งต่างๆ ก็น่าจะสร้างความน่าสนใจได้มากขึ้น เช่น ไปทดแทนวัสดุธรรมชาติ อย่างพวกเคาน์เตอร์หินอ่อน หรือทำมาเป็นตัวชิ้นงานเลย อย่างพวกอ่าง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้บริษัทของเรา ที่สามารถพัฒนาออกมาได้อีกมากในอนาคต” เขาบอกโอกาส

     

สร้างธุรกิจยั่งยืนด้วย Circular Economy

     บุญรักษา การโยธา เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เชื่อเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ว่าจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในอนาคตได้

     “เราเชื่อว่าการทำ Circular Economy จะทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะว่าเราจัดการต้นทุนได้ดีกว่าวัตถุดิบมีเหลือเฟือ มันจึงยั่งยืนกว่า ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้นทุกวัน ในขณะที่ทรัพยากรกลับน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะพวกเราใช้กันแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ของเหลือก็ไม่นำกลับมาใช้ใหม่  สิ่งที่เจอคือ ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เพราะทรัพยากรธรรมชาติหมดไปทุกวัน ถ้าเรายังไม่ปรับตัวไปสู่ Circular Economy อนาคตจะลำบากแน่นอน แต่ถ้าเรามาพัฒนาตรงส่วนนี้ เราจะได้ทั้ง 2 อย่าง คือเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกด้วย” เขาบอก

     เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต อภิรักษ์ยังคาดหวังที่จะนำผลงานไปขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมเพื่อสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจ และไม่ต้องเหนื่อยหนักกับงาน รวมถึงการมองหาวัสดุทดแทนใหม่ๆ มาใช้มากขึ้น เช่น เศษขี้เถ้า หรืออื่นๆ ที่สามารถนำมาผสมกับคอนกรีตได้ เพื่อจัดการของเหลือทิ้งให้เกิดคุณค่า และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีคืนสู่โลกใบนี้ไปพร้อมกัน

     “หลังโควิดที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก่อสร้างล้มหายตายจากไปเยอะมาก แต่ที่เรายังอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเพราะสายป่านของเรา และข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุน ที่เราสามารถจัดการได้ดีกว่า ทำให้มีแต้มต่อในการแข่งขัน และต้นทุนเราต่ำกว่า รวมถึงความไว้วางใจจากลูกค้า ทำให้ยังคงผ่านความยากลำบากต่างๆ มาได้ ส่วนในอนาคต เรายังคงมีแผนที่จะเติบโต และสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ โดยเชื่อว่า ถ้าไม่อยากถูกดิสรัป เราก็ต้องดิสรัปตัวเองให้ได้ก่อน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น