เกมรุกใหม่ PAHKAHMAH THAILAND เกาะเทรนด์ BCG ชูอัตลักษณ์ชุมชน ความสำเร็จที่ไม่เลือกเป็นฮีโร่คนเดียว

TEXT : เรื่อง จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : PAHKAHMAH THAILAND

Main Idea

  • 11 ปี ก่อน แบรนด์ PAHKAHMAH (ปากาม้า) ที่เล่นคำมาจากคำว่า “ผ้าขาวม้า” ได้ถือกำเนิดขึ้น ใต้การนำของ "ธเนษฐ ปานอ่วม" ผู้มีความฝันอยากสร้างแบรนด์ผ้าขาวม้าไทย ให้เป็นเหมือน ยูนิโคล่

 

  • ผ่านมาครึ่งทาง วันนี้ปากาม้ากลายเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีความหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋า ของที่ระลึก ของใช้ของตกแต่ง ฯลฯ พลิกโฉมผ้าขาวม้าไทยให้ดูทันสมัยและมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เข้ากับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น

        

     PAHKAHMAH คือแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้าขาวม้าไทย ที่โลดแล่นอยู่ในสนามมากว่า 10 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2555) เติบโตจากธุรกิจเล็กๆ มาเป็นแบรนด์ระดับประเทศ มีจำหน่ายทั้งในสนามบิน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ กระทั่งในร้านสะดวกซื้อ สร้างรายได้หลักสิบล้านบาทต่อปี วันนี้พวกเขาปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่เลือกเป็นฮีโร่คนเดียว แต่มุ่งชูอัตลักษณ์ชุมชน ทำงานร่วมกับแบรนด์อื่น เดินหน้าธุรกิจใต้แนวคิด BCG เติบโตยั่งยืนคู่ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมปูทางสู่ธุรกิจร้อยล้านใน 5 ปี    

การเดินทางในน่านน้ำ BCG ของ ปากาม้า ไทยแลนด์

     11 ปี ก่อน แบรนด์ PAHKAHMAH (ปากาม้า) ที่เล่นคำมาจากคำว่า “ผ้าขาวม้า” ถือกำเนิดขึ้น ใต้การนำของ ธเนษฐ ปานอ่วม กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปากาม้า (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้มีความฝันอยากสร้างแบรนด์ผ้าขาวม้าไทย ให้เป็นเหมือน ยูนิโคล่ ผ่านมาครึ่งทาง วันนี้ปากาม้ากลายเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีความหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋า ของที่ระลึก ของใช้ของตกแต่ง ฯลฯ พลิกโฉมผ้าขาวม้าไทยให้ดูทันสมัยและมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เข้ากับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ (สินค้าแฟชั่น) นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ของที่ระลึก) และลูกค้าองค์กร (รับผลิตให้กับลูกค้าองค์กร) โดยมีรายได้ประมาณหลักสิบล้านบาทต่อปี

     ตลอดการทำธุรกิจ PAHKAHMAH ยืนหยัดที่จะอยู่ข้างเดียวกับโลกและสิ่งแวดล้อม พวกเขาพยายามหาแนวทางที่จะลดของเสียจากกระบวนการผลิตให้มากที่สุด ผุดไอเดียนำของเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ เลือกใช้เส้นใยจากธรรมชาติและการย้อมสีธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และเลือกทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อเติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน

     “เราอยู่ในธุรกิจสิ่งทอ ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกแบบและตัดเย็บ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราพอจะทำได้ ก็คือการนำของเสีย (Waste) ที่เราสร้างขึ้นจากกระบวนการผลิต เช่น เศษผ้าชิ้นเล็กๆ จากการตัดเย็บเสื้อผ้า หรือว่ากระเป๋า นำมาทำเป็น กระเป๋าชิ้นเล็ก ที่เก็บพวงกุญแจ หรือว่าที่รองแก้ว รองจาน เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ในปีที่แล้วเรายังลงไปทำงานกับชุมชนที่ผลิตสินค้าให้กับเราด้วย โดยเริ่มให้แม่ๆ ใช้เส้นใยธรรมชาติ เช่น ผักตบชวา กัญชง เส้นใยสับปะรด ฯลฯ มาผลิตชิ้นงาน รวมถึงการย้อมสีธรรมชาติ และเน้นการทอมือให้มากขึ้น”

     เขาบอกไอเดียเริ่มต้นของการเดินทางสู่ BCG Economy ในแบบปากาม้า โดยเริ่มจากการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า ทิ้งทำลายให้น้อยลง ทำงานรักษ์โลกร่วมกับชุมชน ขณะที่ในองค์กรเองก็ปรับตัว โดยทำเป็นสมาร์ทออฟฟิศ มีการใช้โซล่าเซลล์มาช่วยประหยัดพลังงาน กระทั่งเลือกใช้รถไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นต้น

Colab แบรนด์อื่น ทำสินค้ารักษ์โลกให้ว้าวขึ้น

     หนึ่งในการทำงานเพื่อโลก พวกเขาไม่ได้ทำแบบโดดเดี่ยว แต่เลือกทำงานร่วมกับแบรนด์อื่น (Collaboration) เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้น่าสนใจยิ่งกว่าเก่า  

     เช่น การทำผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่พัฒนาจากนวัตกรรมเคลือบยางพารา x ผ้าขาวม้าสไตล์ Patchwork (งานต่อผ้าเป็นรูปทรงและสีสันต่างๆ) ซึ่งเป็นการบริหารเศษผ้า โดยทำให้เกิดวัสดุใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยสนับสนุนการซื้อน้ำยางจากวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดสงขลาอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้หวังเจาะตลาดแคมปิ้งและการท่องเที่ยวแนว outdoor ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของ PAHKAHMAH และมีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในวันนี้

     ตลอดจนผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่พัฒนาขึ้นจากเศษแหอวนจากในทะเล ร่วมกับแบรนด์ที่จัดการขยะทะเลอย่างเป็นระบบ และนำมาเพิ่มมูลค่าเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

     ทำไมการทำผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ถึงต้องใช้ความร่วมมือกับแบรนด์อื่น ธเนษฐ บอกเราว่า เพราะแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน  ซึ่งการร่วมมือกันจะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่น่าสนใจขึ้น ก้าวข้ามไปจากข้อจำกัดเดิมๆ ที่ตัวเองมีได้

     “ถ้าไม่ได้ X กับใครเลย เราก็อาจทำงานออกมาตามความสามารถที่เรามี แต่ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไร ก็คงไม่สามารถก้าวข้ามอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ หรือกระทั่งก้าวข้ามกลุ่มเป้าหมายที่เรามีอยู่ได้ แต่การทำงานร่วมกับคนอื่น มันมีเสน่ห์ตรงที่ว่า ทั้งเราและเพื่อนต่างจะแข็งแรงขึ้น มีการแชร์กลุ่มเป้าหมายร่วมกัน แชร์แวลูแบรนด์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นย่อมได้อะไรมากกว่าที่เราทำเองคนเดียวแน่นอน” เขาย้ำ

สร้างอัตลักษณ์ชุมชน เติบโตยั่งยืนไปด้วยกัน

     โมเดลการทำงานในอดีต คือบริษัทคิดงาน แล้วเอาไปให้ชุมชนผลิตตามความถนัด  แต่โมเดลการทำงานในวันนี้ คือการขยับบทบาทตัวเองมาให้ชุมชนเป็นพระเอก โดยการผลิตสินค้าใหม่ๆ จะผูกพันกับชุมชนในแต่ละที่ ใช้อัตลักษณ์ของชุมชนหรือเสน่ห์ของชุมชนนั้นๆ มาเป็นจุดขาย

     “จากนี้การทำสินค้าหนึ่งชิ้นจะมีองค์ประกอบของแต่ละชุมชนอยู่ในนั้นด้วย เช่น ผ้าขาวม้าจากกาฬสินธุ์ จะเป็นผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติแล้วก็หมักโคลน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็จะขึ้นกับแต่ละชุมชนเช่นเดียวกัน ปากาม้าในปีหน้า จะเป็นเหมือนการเดินทาง โดยเราจะทำสินค้าจากชุมชนนี้ ออกมาเป็นเรื่องราวแบบนี้ แล้วก็เดินทางไปเรื่อยๆ หน้าเว็บไซต์รวมถึงหน้าเพจของเรา จะมีสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันไปจากทั่วประเทศ เชื่อว่าวิธีนี้ลูกค้าจะมีความสุขมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้รู้เรื่องราวที่มา สินค้าที่พิเศษเฉพาะ และยังได้ร่วมสนับสนุนชุมชนอีกด้วย มั่นใจว่าโมเดลนี้ จะทำให้เราสามารถออกจากเรดโซน (Red Zone) ที่เป็นอยู่ได้”

     เขาบอกเกมรุกบทใหม่ที่มาพร้อมจุดแข็งของ PAHKAHMAH คือการมีช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย สามารถกระจายไปสู่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม ตลอดจนการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งนั่นคือหัวใจความสำเร็จของโมเดลนี้

     เป้าหมายของพวกเขา คือการมุ่งสู่ธุรกิจร้อยล้านในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยตลาดในประเทศจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และมีสินค้าที่เป็น “โปรดักต์ฮีโร่” เกิดขึ้นจริงให้ได้ ในกลุ่มของสินค้าของที่ระลึก ที่เจาะตลาดนักท่องเที่ยว จะพัฒนาสินค้าที่มีมาร์จิ้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการใช้เรื่องราวของชุมชนมาบอกเล่าก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญในเรื่องนี้ ขณะที่ลูกค้าองค์กร ก็จะเพิ่มการบริการที่พิเศษมากขึ้น เช่น อยากได้อะไรจากชุมชนไหน อินกับเรื่องราวของที่ใด ก็สามารถเลือกผลิตงานกับชุมชนที่ต้องการได้ เหล่านี้เป็นต้น

     นี่คือ ตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เชื่อในการทำธุรกิจข้างเดียวกับโลกและสิ่งแวดล้อม พร้อมวางแผนเติบโตไม่หยุดนิ่ง เขาบอกเหตุผลที่ SME ในวันนี้ต้องไม่มองข้ามเรื่อง BCG ส่วนหนึ่งเพราะกำลังเป็นเทรนด์ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และผู้คนกำลังจับตามอง  คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญเขาเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า BCG เป็นหัวใจที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน และได้รับความรักจากลูกค้ามากขึ้น

     “ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ถือเป็นความรับผิดชอบของพวกเราในฐานะที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ฉะนั้นถ้าการกระทำเล็กๆ ของเราจะมีส่วนช่วยรักษาโลกใบนี้เอาไว้ได้ เราทำธุรกิจ ได้เงิน และยังรักษ์โลกไปด้วยกัน ขณะที่ลูกค้าเองก็รักแบรนด์เรามากขึ้น เชื่อว่านี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดของการทำธุรกิจในวันนี้” เขาย้ำในตอนท้าย

ช่องทางติดต่อ

FB : pahkahmah

LINE : @pahkahmah

IG : pahkahmah_thailand

Web : www.pahkahmahstore.com

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น