BONO_BRAND แบรนด์ที่ใช้ครีเอทีฟเปลี่ยนเศษผ้า เป็นสินค้าแฟชั่น ดันยอดขายโตกว่า 200%

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : BONO_BRAND

Main Idea

  • “ถ้าแม่บอกอันนี้น่ารักแปลว่าอันนี้ขายไม่ได้ ถ้าบอกว่าอันนี้น่าเกลียดใครจะซื้อแปลว่าขายได้” หนึ่งในวิธีที่เจ้าของแบรนด์ BONO_BRAND ใช้ในการออกแบบสินค้าให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย

 

  • รวมถึงการครีเอทเปลี่ยนเศษผ้าตกยุคให้เป็นสินค้าแฟชั่น สามารถนำกางเกงยีนส์เก่าหนึ่งตัวมาใช้ผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ถึง 95% และสร้างธุรกิจที่ค่อยๆ เติบโตแบบยั่งยืนเข้าสู่ทศวรรษที่สองไปพร้อมๆ กับกระแสเทรนด์รักษ์โลก

 

     แฟชั่นมักหมุนเวียนไปตามกระแส ยุคหนึ่งคนนิยมใส่เกงขาม้า ผ่านมาสักพักคนชอบใส่เกงขาบาน ขาลีบ บ้างก็มีการดัดแปลงตัดขาเพื่อนำกลับมาใส่ใหม่ แต่เศษผ้ายีนส์ที่ถูกตัดเหล่านี้ก็ยังกลายเป็นขยะอยู่ดี ทำให้ในแต่ละปีโลกต้องการพื้นที่ในการฝังกลบขยะเสื้อผ้ามากกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10%

     ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักให้ บอย-พิษณุพงศ์ ทรงคำ มีความตั้งใจอยากจะช่วยลดจำนวนขยะจากเศษผ้า อีกทั้งเขามองว่าเศษผ้าเหล่านี้ยังเป็นของดีที่มีคุณค่าเพียงแต่กาลเวลาทำให้ถูกละเลยไป จึงได้เริ่มนำแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Upcycle มาใช้ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันเขาสามารถนำกางเกงยีนส์เก่าหนึ่งตัวมาใช้ผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ถึง 95% และยังเป็นสินค้าที่ได้รับการตอบจากผู้บริโภค ตอกย้ำว่าสิ่งที่เขาเพียรพยายามเริ่มออกดอกออกผล เมื่อกราฟธุรกิจของเขากำลังเติบโตไปตามเทรนด์รักษ์โลกที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

สามคนร่วมสร้างหนึ่งแบรนด์

     หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พิษณุพงศ์ชอบงานประดิษฐ์จากเศษผ้าอาจเพราะบ้านที่สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ของเขานั้นมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า เวลาปิดเทอมกลับไปที่บ้านเห็นกองเศษผ้าเหลือๆ ที่หลายคนมองว่าเป็นขยะ แต่เขากลับมองว่าสวยดี จึงเริ่มนำมาทำเป็น พวงกุญแจ ตุ๊กตา ไปขายตามถนนคนเดินที่เชียงใหม่ รวมทั้งเมื่อเปิดเทอมก็นำไปขายที่กรุงเทพฯ ตามเทศกาลต่างๆ

     พิษณุพงศ์ เล่าต่อว่าตอนที่เขาเริ่มทำธุรกิจนี้ในช่วงปี 2540 นั้นกระแสเรื่องการรีไซเคิล ในบ้านเรายังไม่ถูกพูดถึงมากนัก ผู้บริโภคยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสินค้ารักษ์โลกเท่าไหร่ แต่ที่สินค้าของเขาขายได้ เพราะเน้นความแปลก โดยที่เขามีวิธีทำออกแบบสินค้าที่ฉีกกรอบหลักการตลาด

     “ถ้าผมจะขายให้ลูกค้าผมได้ ต้องถามแม่ก่อนอันนี้น่ารักไหม ถ้าแม่บอกอันนี้น่ารักแปลว่าอันนี้ขายไม่ได้ ถ้าบอกว่าอันนี้น่าเกลียดใครจะซื้อแปลว่าขายได้” พิษณุพงศ์ กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

     พอเรียนจบเขากับเพื่อน กระปุก-วรรณนี คนแรงดี ตัดสินใจร่วมกันเปิดร้านขายสินค้าที่จตุจักร แต่พอเปิดร้านได้สักระยะ เขาก็กลับไปช่วยงานบ้านที่เชียงใหม่ ในขณะที่วรรณนี ก็หันมาทำกางเกงยีนส์ขาสั้นมือสองขายต่อที่จตุจักร ซึ่งต้องมีการตัดขากางเกงยีนส์ทำให้มีเศษขากางเกงยีนส์เหลือจำนวนมาก

     “เรารู้สึกเสียดายว่ายีนส์พวกนี้สภาพมันยังดีอยู่มาก ไม่น่าเป็นขยะ หรือถ้านำเศษขากางเกงยีนส์ไปขายก็ได้คู่ละประมาณ 3-5 บาทเท่านั้น มันน่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้”

     จากความคิดนั้นจึงเกิดการร่วมมือกันที่ครีเอทให้เศษกางเกงยีนส์กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าใหม่ภายใต้ชื่อ BONO_BRAND ที่เป็นการร่วมมือกันสามคน คือ พิษณุพงศ์ วรรณนี และจรีรัตน์  (ภรรยาของพิษณุพงศ์)

     ปัจจุบัน BONO_BRADN ใช้ประโยชน์จากเกงยีนส์เก่าหนึ่งตัวได้ถึง 95% ถ้าเป็นผ้าชิ้นใหญ่ทำเป็นเสื้อผ้า ผ้าชิ้นเล็กทำเป็นกระเป๋า เก้าอี้สตู ฯลฯ

Upcycle กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้น

     ในช่วงแรกๆ ที่ผลิตสินค้าพิษณุพงศ์ มักเจอคำถามว่าทำไมสินค้าราคาแพงจัง ต้นทุนวัตถุดิบก็ไม่ได้สูง เขาชี้แจงว่า

     “ยอมรับว่าถ้าการผลิตสินค้าจากเศษผ้าไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเปรียบเทียบกันการผลิตสินค้าที่ใช้ผ้าใหม่มี 5 ขั้นตอน การผลิตเสื้อผ้าจากเศษกางเกงยีนส์มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัว เพราะมีรายละเอียดจุกจิกมากมายที่ต้องทำ ตั้งแต่การทำความสะอาด การตรวจสอบผ้าว่ามีตำหนิไหม ดูว่าผ้ามีสี มีลายอย่างไร เพื่อมานั่งคิดออกแบบการต่อเศษผ้าเหล่านี้ให้เป็นโปรดักส์ที่ออกมาสวย ต้องมีการออกแบบการวางแพทเทิร์น รวมทั้งต้องใช้เศษผ้าให้ได้มากที่สุด งานที่ยากขึ้นก็มีผลกระทบต่อค้าจ้างคนงาน เป็นเหตุให้สินค้ามีราคาค่อนข้างสูง”

ยากกว่าการผลิต คือ การดิวกับคน

     แม้จะมีขั้นตอนการผลิตยุ่งยาก แต่พิษณุพงศ์บอกว่าเขาเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ด้วยความสนุก ชอบทำอะไรที่ยากๆ ไม่เหมือนคนอื่น เหมือนสร้างเส้นทางของตัวเองขึ้นมาซึ่งอาจมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ

     “ความยากอยู่ที่การดิวให้คนอื่นเข้าใจว่า จริงๆ แล้วผ้าเก่ายังมีคุณภาพ เพียงแต่วงการแฟชั่นเป็นลูป ลูปไหนได้รับความนิยมก็จะผลิตสิ่งนั้นออกมาเยอะๆ พอหมดยุคสินค้าพวกนี้ก็ถูกยัดให้เป็น waste เพราะคนไม่ใส่แล้ว แต่ตัวคุณภาพของผ้ายีนส์ยังอยู่คงทนและอยู่ไปได้อีกนาน มันเลยน่าเสียดายถ้าถูกเอาไปทิ้ง ไปยัดไว้ในที่ใหนสักที่หนึ่ง เราจึงเอามาแปรสภาพใหม่ให้อยู่ในเสื้อผ้าที่ใส่ได้ในปัจจุบัน อัปมันใหม่กับมาได้รับความนิยม ตรงนี้ตอบได้ว่ามันไม่ได้เสื่อมค่าเพราะเป็นของเก่า เสื่อมค่าเพราะยุคสมัยไม่เห็นคุณค่าของมัน แต่พอมาเป็นยุคนี้ที่คนเห็นคุณค่าสิ่งแวดล้อม คุณค่ามันก็เลยถูกอัปมาเป็นเท่าตัวไปโดยปริยาย”

กราฟธุรกิจโตตามเทรนด์สิ่งแวดล้อม

     จากที่สินค้าเคยขายได้ด้วยความแปลก แต่ที่ทำให้ BONO_BRAND เติบโตมาเรื่อยๆ คือ จุดยืนในการนำเศษผ้ามาผลิตเป็นสินค้า

     “ตลาดชอบของแปลกไม่ได้ใหญ่มาก สร้างรายได้พอสมควร แต่วันนี้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับจุดยืนเรา ถามว่ายอดโตเท่าไหร่ ผมว่าด้วยสินค้าที่ทำเราเปลี่ยนไปผลิตชิ้นใหญ่ขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนเป็นงานทำมือชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งร้อยกว่าบาท แต่ตอนนี้ชิ้นใหญ่ขึ้น มีกระบวนการเยอะขึ้น บวกกับระยะหลังเทรนด์ BCG, Climate change ทำให้สิ่งที่เราทำตั้งแต่แรกถูกคิดถึง ได้รับการทาบทามจากหน่วยงานภาครัฐ ได้รับเชิญไปออกบู๊ธ ในเชิงของธุรกิจ รู้สึกจังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีมาก ทำให้ยอดเราเติบโตผมว่ามากกว่า 100 สัก 200% ได้”

เคล็ดไม่ลับทำสินค้ารักษ์โลกให้ผู้บริโภครัก

     พิษณุพงศ์ เผยถึงสูตรในการผลิตสินค้าจาก waste นั้นเขาไม่ได้มองแค่เรื่อง waste อย่างเดียว มองถึงเรื่อง people ให้เกิดการจ้างงานในชุมชนด้วย ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างแรกจะต้องมีความเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนงานที่ออกมาจะขายได้หรือไม่ก็ต้องกลับมาดูที่สินค้าด้วย

     “ไม่ว่าคุณจะผลิตสินค้าจากอะไร สุดท้ายลูกค้าต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ คุณภาพก็ต้องสมกับราคา ไม่ใช่ทำจาก waste แล้วของดูเป็น waste ไม่มีมูลค่า ต่อให้มี Storytelling ดีแค่ไหน คนก็ไม่ซื้อ สินค้าต้องตอบโจทย์การใช้งาน สวยแต่ใช้งานไม่ได้คนก็ไม่ซื้อ

     “เมื่อก่อนผมจะเจอคำถามจากลูกค้าว่า มันจะทนหรอ จะดีหรือ ผมก็เลยคิดว่าถ้าเราจะชนะคำถามพวกนี้ได้ก็ต้องคุณภาพอย่างเดียวเท่านั้น  อีกเรื่องคือ  ความคิด ผ้าอาจไม่ต้องเป็นเสื้อย่างเดียวไปทำเป็นอย่างอื่นได้ พยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ อย่างกระเป๋า Freitag เขาเอา waste จากผ้าใบทำกระเป๋าสามารถส่งชายไปทั่วโลก ฉะนั้นวิธีคิดก็สำคัญ เราจะสามารถสร้างตัวเองให้เติบโตได้ขนาดไหน ทำสินค้าให้มีคุณภาพรวดเร็วขึ้น เพิ่มยอดยังไง ทำให้คนรู้จักได้ยังไง ขึ้นอยู่กับกระบวนการออกแบบการทำงานด้วย”

ความยั่งยืนสำคัญไม่แพ้กำไร

     อย่างไรก็ดีเจ้าของแบรนด์ BONO บอกว่า การเป็นผู้ประกอบการสมัยนี้จะคำนึงถึงแต่เรื่องกำไรเป็นหลักไม่ได้ แม้เรื่องกำไรเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความยั่งยืนของทุกสิ่งทุกอย่างก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าทำธุรกิจที่มองเห็นแต่ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง วันหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ได้ ฉะนั้นการการทำธุรกิจตอนนี้ต้องคิดให้รอบด้าน

     “เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นเทรนด์ขับเคลื่อนโลก ยกตัวอย่างผมไปแม็คโครแถวบ้าน เห็นจอทีวีที่เปิดตรงแคชเชียร์เขาไม่ได้โฆษณาสินค้าหรือโปรโมชั่นสินค้า แต่กำลังบอกว่าแม็คโครใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์ได้แล้วเท่าไหร่ มันแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ใหญ่ยังให้คุณค่ากับมัน เราเป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ถ้าไม่วิ่งเข้าหาความรู้จากมัน วิ่งเข้าหามัน เราจะหลุดออกไปจากสิ่งที่คนจะยอมรับในอนาคต แล้วในเชิงธุรกิจเราอาจหลุดวงโคจร ถ้าเรายังอยากอยู่ในธุรกิจก็ต้องเข้าใจสิ่งพวกนี้ด้วย”

     “ตอนนี้เหมือนภาพข้างบนกดลงมาให้คนต้องทำ แต่ผมว่ามันจะไม่สำเร็จเลย ถ้าผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไม่ตื่นขึ้นมาทำเรื่องนี้แล้วก็ดันมันขึ้นกลับไป ผมหวังว่าวันหนึ่ง เทรนด์นี้เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำ ต่อไปการแยกขยะไม่เใช่่เรื่องดูเท่ การใช้ถุงผ้าไปช้อปปิ้งไม่ได้ดูเก๋ เพราะถ้ามองว่าเป็นเรื่องเท่ เก๋ แปลว่าเรื่องนี้มีบางกลุ่มเท่านั้นที่ทำ”

     เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต พิษณุพงศ์ บอกว่า ในเมื่อทุกยังมีเสื้อผ้าผลิตใหม่ออกมาหลายล้านชิ้น เท่ากับเขาก็ยังมีวัตถุดิบที่จะทำต่อไปได้ เขาก็คงทำต่อไป

     “ถ้าเทียบกับอาหาร ผมคงคล้ายๆ กับ อาหารออร์แกนิก ที่คนจะเลือกทาน ทำเพื่อให้โลกของเรายังคงสภาพอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ต่อไปวัตถุดิบก็อาจจะมาจากอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผ้า ตอนนี้สะสมกระดุมไว้เยอะมาก กำลังหาวิธีนำใช้อยู่ ถ้าเรามีดีไซเนอร์จะพาวัตถุดิบไปในที่ที่เหมาะสมได้ อนาคตคงต้องมีคนเหล่านี้เพิ่มมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ” พิษณุพงศ์ กล่าวสรุป

BONO_BRAND

BONO Studio

โทร. 081 784 4024

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

1:2 Coffee 3 ปี ร้อยล้าน เส้นทางความสำเร็จร้านกาแฟในเชียงรายขยายสู่กรุงเทพ

1:2 Coffee, onetotwo,แรงบันดาลใจ, ธุรกิจกาแฟ, ธุรกิจร้อยล้าน, sme, ไอเดียธุรกิจ, ผู้ประกอบการ, เจ้าของธุรกิจ, เทรนด์ธุรกิจ, บริหารธุรกิจ, case study, SME, กลยุทธ์การตลาด, คาเฟ่, ร้านกาแฟ

รู้จัก YJ 3D MODEL สตูดิโอเก็บความทรงจำแบบล้ำๆ ที่ทำคนจิ๋วเสมือนจริง!

การเก็บความทรงจำด้วยภาพถ่ายเป็นที่ระลึกแบบเดิมๆ นั้น ในวันนี้ต้องหลบให้กับโมเดลฟิกเกอร์ 3 มิติ ที่เราสามารถสแกนตัวเองแล้วได้คนจิ๋วเสมือนจริงมาเป็นความทรงจำแทน โดยเริ่มมีสตูดิโอที่ทำโมเดล 3 มิติมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ YJ 3D MODEL Studio

ทำ Workshop ให้เป็น Hero Product กลยุทธ์ปลุกฮีโร่พันธุ์ใหม่ สไตล์ Herbaria Studio

ใครว่า Hero Product ต้องเป็นแค่สินค้าเพียงอย่างเดียว เมื่อวันนี้ Workshop ก็สามารถเป็นฮีโร่ตัวจริงของแบรนด์ได้ เหมือนอย่างที่เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร แห่ง Herbaria Studio ผู้ให้กำเนิด Workshop สุดอาร์ท กำลังทำอยู่..