ขายสินค้าออร์แกนิก ให้ติดตลาดไทยและตะวันออกกลาง เคล็ดไม่ลับจาก Chanda แชมพูแบรนด์ไทย

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     จากความฝันของเด็กสาวอายุ 20 กว่าๆ ที่อยากมีแบรนด์ของตัวเอง หลังจากที่มีประสบการณ์ในการใช้ตลาดออนไลน์สร้างรายได้เรือนแสนให้ธุรกิจที่บ้านภายในหนึ่งเดือน จึงเริ่มมองเห็นโอกาสและอยากทำตามความฝันตัวเองที่อยากมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองที่ไม่ใช่ทำแค่ตลาดในประเทศเท่านั้นหากแต่ต้องเป็นแบรนด์สินค้าในระดับส่งออกต่างประเทศด้วย

     Chanda Organic (ชันดา ออร์แกนิก) แชมพูแบรนด์ไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมา และทำยอดขายได้หลักหมื่นขวดในเวลาไม่ถึงปี

     การสร้างแบรนด์สินค้าออร์แกนิกจะยากง่ายขนาดไหน ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคยอมรับกลับมาซื้อซ้ำ รวมทั้งวิธีการทำตลาดตะวันออกกลางต้องทำอย่างไร ไปฟังคำตอบกับสาวน้อยจากอุดรธานี สิปาง วิวัฒนกุลพาณิชย์ (แป้งจี่) เจ้าของแบรนด์ Chanda Organic

ความยากของการผลิตและขายสินค้าออร์แกนิก

     หลังจากรับปริญญาตรีแป้งจี่ก็มีโจทย์จากคุณแม่ว่าร้านถ่ายรูปและตึกที่อุดรธานีจะไปต่อหรือพอแค่นี้เพราะคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลามาดูแลนัก ลูกสาวคนเดียวของบ้านจึงสลัดชุดครุยและลงมาลุยธุรกิจที่บ้าน ด้วยการรีโนเวทร้านถ่ายรูปให้ดูสว่างขึ้น พร้อมกับแบ่งตึกให้ติวเตอร์เช่า และเปิดร้านแฟรนไชส์กาแฟ โดยทุกอย่างใช้การการตลาดออนไลน์เรียกลูกค้า ปรากฏว่าเพียงเดือนเดียวเธอทำรายได้หลักแสน นั่นทำให้แป้งจี่มองเห็นโอกาสทางออนไลน์จึงอยากจะสานฝันวัยเด็กสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา

     ด้วยความที่เป็นคนให้ความสนใจกับเส้นผมตัวเองอย่างมาก เพราะเคยมีอาการป่วยจนเส้นผมร่วงหนัก ผลิตภัณฑ์แรกที่เธอนึกถึงคือ ยาสระผม ที่ต้องทำจากสมุนไพรไร้สารเคมี เธอพยายามสรรหาวัตถุดิบดีๆ มารวมไว้ในขวดรวมทั้งมีการใช้สารสกัดนำเข้าที่ได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยระดับโลกถึง 2 สถาบันคือ สถาบัน Nanotech Briefs Nano 50 และ Salvana Technologies Inc.

     เมื่อถามว่าความยากง่ายของการผลิตสินค้าออร์แกนิกคืออะไร สาวอุดรธานีก็ชี้แจ้งว่า หากไม่นับรวมเรื่องวัยวุฒิบวกด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดูอ่อนเยาว์ส่งผลให้การดิวงานกับโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าค่อนข้างยากแล้ว การทำสินค้าออร์แกนิกแป้งจี่บอกว่าจะมีเรื่องที่หนักใจหลักๆ สองประเด็นคือ

     หนึ่ง เรื่องการผลิต เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรออร์แกนิกที่ไม่มีสารเคมีเจือปน นั่นอาจเป็นข้อจำกัดที่ไปส่งผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ตอนที่ทำแชมพูล็อตแรกจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นที่ไม่ค่อยดีนัก พอปรับปรุงครั้งที่สองกลิ่นหอมขึ้นแต่แชมพูที่ได้กลับทำให้เส้นผมแข็ง จึงต้องปรับสูตรอยู่หลายครั้งกว่าจะได้สูตรที่ลงตัวเป็นของตัวเอง

     สอง เรื่อง การตลาด วิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยเคมีสามารถเคลมลูกค้าได้ว่าเห็นผลในเวลาอันรวดเร็ว

ต้องมีจุดแข็งที่เป็นจุดขาย

     จากความสำเร็จที่เคยใช้ออนไลน์ทำการตลาดให้กับธุรกิจที่บ้าน พอมาทำแบรนด์ตัวเองการตลาดที่คาดว่าจะช่วยให้สินค้าเติบโตไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะการขายออนไลน์ไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อน

     “ปัจจุบันการขายออนไลน์มันยากมากๆ สินค้าประเภทเดียวกันใครยิงแอดมากกว่าก็จะได้รับการมองเห็น ช่วงแรกที่มาขายโดนปิดกั้นทุกอย่าง พอคนไม่เห็นสินค้าเรา ต่อให้สินค้าเราดีแค่ไหนก็จบ หนูก็ต้องไปศึกษาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่เก่งเรื่องออนไลน์ เพราะอัลกอริทึ่มปรับตลอดเวลาก็ต้องเรียนรู้ให้ทัน”

     สิ่งที่สาวอุดรพยายามแก้ไขคือ การปรับตัวและเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำการตลาดออนไลน์lให้มากขึ้น อาทิ การยิงแอดโฆษณา นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจในเรื่องกาพรีเซ็นต์สินค้า หมั่นตอบคำถามและอธิบายลูกค้าสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจ รวมถึงการเข้มงวดในเรื่องคุณภาพสินค้า

     “ถ้าสินค้าไม่ได้คุณภาพหนูไม่ปล่อยผ่านง่าย เช่น ลูกค้าชมว่าแชมพูดีนะแต่ขวดแพ็กเกจจิ้งไม่ค่อยดี กดยาก กดไม่ออก หนูก็เปลี่ยนแพ็กเก็จจิ้งใหม่ทันที หนูจะใส่ใจฟีดแบ็กลูกค้าจะดูว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไข อะไรที่ดีแล้วต้องรักษามาตรฐานไว้ให้ดี จนทำให้ลูกค้าบางคนก็ขอเป็นตัวแทนไปจำหน่าย คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของหนูที่ทำให้ไม่ถึงปีขายแชมพูได้เป็นหมื่นขวด”

ทำตลาดส่งออกคือความฝันที่สอง

     เจ้าของแบรนด์ Chanda ย้ำว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำสินค้าออร์แกนิกคือ การมีมาตรฐานรับรอง ฉะนั้นเธอจึงตั้งใจทำสินค้าให้ผ่านมาตรฐานอย. ตั้งแต่แรกไม่เพียงทำให้ลูกค้ามั่นใจเท่านั้น ยังเป็นการกรุยทางสู่การส่งออกสินค้าที่เป็นอีกหนึ่งความฝันของเธอ โดยเลือกเปิดตลาดที่ตะวันออกกลางเนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และค่อนข้างชอบสมุนไพรไทย

     “การส่งออกของหนูเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคอนเนกชัน อาศัยวิธีเข้าไปเรียนรู้ในกรุ๊ปต่างๆ กระทั่งรู้ว่ามีเอเจนซี่ที่จะช่วยในการทำธุรกิจส่งออกก็เลยได้ติดต่อดิวงานกัน ใช้วิธีการ matching คือเหมือนกับให้เขาเอาสินค้าไปเสนอขายให้ร้านค้าแล้วเราก็หักเปอร์เซ็นต์ให้ ปัจจุบันก็มีร้านค้าบาร์เรน โอมาน ที่สนใจนำสินค้าเราไปขาย”

     ทั้งนี้เจ้าของแบรนด์ Chanda ย้ำว่า การส่งสินค้าไปต่างประเทศนั้นก็ต้องศึกษาให้ดีว่าแต่ละประเทศมีข้อจำกัดอะไรบ้างทั้งเรื่องกฎหมายหรือแม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับสินค้า อาทิ วัตถุดิบบางตัวบางประเทศก็ใช้ไม่ได้กับบางประเทศ รวมทั้งเรื่องของการใช้คำโปรโมทที่เกินจริง  เป็นต้น

     “ถ้าหนูทำได้คิดว่าทุกคนต้องทำได้ แต่ต้องมั่นใจตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองมากๆ จริงๆ หนูก็ไม่ใช่คนเก่ง หนูเป็นคนพยายามเรียนรู้ พยายามหาข้อมูล หนูจะบอกตัวเองว่า หนูต้องพร้อมที่จะล้มนะ ถ้ามันเจ๊งคือการเรียนรู้ ต้องคิดบวก ถ้าคิดดาวทุกอย่างาจะดาวหมดเลย หนูว่าการให้กำลังใจตัวเองสำคัญ”

     เธอยังได้เผยถึงเป้าหมายต่อไปคือการขยายให้มีร้านออฟไลน์มากขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้มาสัมผัสกลิ่นได้ทดลอง และแตกไลน์ตัวใหม่คือ ทำครีมกันแดด

     “ปัจจุบันธุรกิจมันไปไว ไม่รู้ว่าอันที่ดีแล้วจะโดน disrupt หรือมีปัญหาตอนไหน ต้องมีอย่างอื่นมาซํพพอร์ต หาช่องทางให้ตัวเองไปเรื่อยๆ ให้เหมือนกับชื่อแบรนด์ Chanda ที่มีความหมายว่า ดวงจันทร์ที่กำลังส่องสว่าง”

Chanda Organic

Fb :https://www.facebook.com/chandaorganic

Web : www.chanda-organic.com

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ปฏิวัติธุรกิจโรงฟอกหนัง ปั้นแบรนด์ TACTUS หนังเฟอร์นิเจอร์พรีเมียม จับกลุ่ม niche ขายปลีกแบบไม่มีขั้นต่ำ

ในอดีตผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หนังแท้ ที่คัดสรรวัตถุดิบพรีเมียม อาจสั่งซื้อหนังจากต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าคุณภาพดีกว่า ทว่าบางครั้งหนังที่ซื้อจากต่างประเทศ ก็อาจถูกผลิตและส่งออกจากโรงฟอกในบ้านเราเอง  

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์