ยกระดับโรงงาน SME สู่โรงงานอัจฉริยะ เริ่มง่ายๆ ไม่ต้องใช้ทุนก้อนโต ฟังแนวคิด ผอ. ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     ในโลกอุตสาหกรรม 4.0 มีเครื่องมือและวิธีการมากมายที่จะทำให้โรงงานผลิตแบบเอสเอ็มอี สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดความสูญเสีย เพิ่มแต้มต่อธุรกิจ และสร้างกิจการที่ยั่งยืนสู่อนาคตได้ บางทีสิ่งที่ผู้ประกอบการคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และคงต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล อาจเริ่มต้นได้ง่ายกว่าที่คิด และแม้แต่กิจการขนาดเล็กและขนาดกลางอย่างเอสเอ็มอีก็สามารถทำได้ โดยตัวช่วยที่ชื่อ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC)

            SMC ตัวช่วยผู้ประกอบการ ยกระดับโรงงานอัจฉริยะ

     ในโลกที่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือภาคธุรกิจได้มากขึ้น กลายเป็นความท้าทายของกิจการขนาดเล็ก ที่หากยังไม่ปรับตัว หรือปรับไม่ทัน ก็อาจจะต้องเสียเปรียบในการแข่งขัน และทำธุรกิจยากลำบากขึ้นในอนาคต

     นี่คือ ที่มาของ “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน” หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ศูนย์เทคโนโลยี- อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) มีเป้าหมายหลักคือการผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)  โดยส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานได้

     “จะเห็นว่าวันนี้หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น เรียกว่า ระบบอัตโนมัติ ทุกอย่างที่ใช้แรงงานคนเปลี่ยนมาเป็นหุ่นยนต์ทำ ซึ่งนี่คืออุตสาหกรรม 3.0 (Industry 3.0) แต่พอเป็นอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) แค่มีหุ่นยนต์ยังไม่พอ แต่หุ่นยนต์นั้นจะต้องคุยกันได้ด้วย ต้องส่งข้อมูลเข้าระบบเพื่อที่จะให้ฝ่ายต่างๆ มองเห็นว่าสถานะการผลิตเป็นอย่างไร เวลามีออร์เดอร์ใหม่เข้ามาจากฝ่ายขาย ก็จะส่งต่อมายังระบบการผลิตได้เลย อย่างนี้เป็นต้น คือการเชื่อมโยงที่ไม่ใช่อยู่แค่ฝั่งของไอทีภายในบริษัทเท่านั้น แต่ลงมาถึงสายการผลิตในโรงงาน ซึ่งการยกระดับไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 นี้ จะช่วยให้โรงงาน ลดต้นทุน ลดของเสีย ลดความผิดพลาดในการทำงาน แก้ไขปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถผลิตของได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม เหล่านี้เป็นต้น”

     ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) บอกความสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0

ตรวจสุขภาพโรงงาน รู้วิธีปรับตัวให้ตอบโจทย์

     บริการของศูนย์ SMC มีตั้งแต่การฝึกอบรม และบริการประเมินสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางถึงที่โรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ว่าควรปรับปรุงเรื่องใด ให้เหมาะสมกับธุรกิจที่สุด

     “เรามีบริการประเมินความพร้อมว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่เขาใช้อยู่ในอุตสาหกรรมระดับไหน โดยจะมีผู้ประเมินเข้าไปประเมินให้ถึงโรงงานเป็นเวลา 1 วัน โดยจะประเมินรอบด้าน ทั้งเทคโนโลยี แผนธุรกิจ ซัพพลายเชนตลอดจนบุคลากร เสร็จแล้วเขาจะได้รายงาน 1 ฉบับ ที่จะบอกว่าเขาอยู่ในระดับใด แล้วควรไปปรับปรุงด้านใด เพื่อที่จะเหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด ซึ่งการจะขอการประเมินสามารถมาสมัครเป็นสมาชิก โดยที่เราจะมีการอบรมให้ฟรี และในปัจจุบัน เรายังเปิดระบบให้ผู้ประกอบการสามารถทำการประเมิน Thailand i4.0 Index ได้ด้วยตัวเองแล้ว ผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/i4platform”

     ปัจจุบันศูนย์ SMC มีการประเมินโรงงานไปแล้วประมาณ 200 โรงงาน ทั้งขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอี โดยในภาพรวมโรงงานมีความพร้อมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2.8  จาก 6

     “เหตุผลที่อุตสาหกรรมบ้านเรายังไม่เข้าสู่ 4.0 เนื่องจากประเทศไทย การใช้พวกหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ยังไม่เยอะเท่าไร ส่วนใหญ่จะเห็นอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ หรือบริษัทข้ามชาติ แต่สิ่งที่เราพยายามจะบอกคือ การไปสู่ 4.0 นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด บางคนอาจบอกว่า เขาไม่มีเงินซื้อหุ่นยนต์ แต่คุณไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้  แค่มีเครื่องจักรเก่าก็ทำได้ โดยไม่ต้องมาเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพียงแต่คุณจะทำอย่างไรให้รู้สถานะของมัน เช่น วันนี้ผลิตไปแล้วกี่ชิ้น ตอนนี้เครื่องหยุดหรือเครื่องเดิน ซึ่งเรื่องพวกนี้จะใช้เทคโนโลยี IoT เข้ามาช่วยก็ได้ มันเหมือนการเอาอุปกรณ์เสริมไปติดตั้ง หรืออย่างเลวร้ายที่สุด คุณก็ติดกล้องไปเลย แล้ววิเคราะห์จากภาพเอาก็ได้”

เริ่มต้นจากสิ่งที่มี SME ก็ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้

     ดร.พนิตา บอกเราว่า วันนี้เทคโนโลยีมีความหลากหลายมาก และมีหลายวิธีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี ทว่าสิ่งสำคัญไปกว่าเทคโนโลยี ก็คือ “ข้อมูล” (DATA) ที่ผู้ประกอบการสามารถเก็บได้จากการทำงานในทุกๆ วัน

     “การที่จะกระโดดจาก 2.0-3.0 ไป 4.0  นั้นเขาทำได้ แค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดข้อมูล ให้ข้อมูลเกิดขึ้นภายในโรงงาน วันนี้ดาต้าเป็นหัวใจสำคัญ อีกหน่อยคุณเอาองค์ความรู้ที่ใช้คนวิเคราะห์เขียนออกมาเป็นโปรแกรม แล้วมีการแจ้งเตือนอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องใช้คนดูก็ได้ ก็เป็นการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการลงทุนของแต่ละคน ต้องดูตามบริบทของเขาด้วย ไม่ได้บอกว่า ทุกคนจะต้องเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด หรือต่ออินเตอร์เน็ตได้ เพราะถ้าเขายังทำงานได้ดีอยู่ ไม่ได้มีออเดอร์เยอะ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเขาเริ่มมีปัญหาว่า อยากจะลดต้นทุน ลดของเสีย ลดความเสียหาย แบบนี้ก็ค่อยมาเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับเขาต่อไป”

     ทำไมวันนี้เอสเอ็มอี ถึงจะเมินเฉยกับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ได้อีกต่อไป ดร.พนิตา ฉายความท้าทายที่เกิดขึ้นในวันนี้ให้ฟังว่า

     “ถ้าคุณเป็นผู้ผลิต แล้วอยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ คุณจะเริ่มเห็นแล้วว่า บริษัทเหล่านั้นจะบังคับให้ทุกคนที่อยู่ในซัพพลายเชนของเขา ต้องมีระบบที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้รู้จำนวนผลิต สมัยก่อนอาจจะใช้ระบบแมนนวลก็ได้ เพื่อส่งรายงานให้เขาทุกวัน แต่ตอนนี้เขาบอกว่าคุณต้องมีระบบที่เชื่อมโยงกับระบบ ERP  นะ ฉะนั้นคนที่อยู่ข้างบนบอกความต้องการมา คุณจะไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ คุณจะถูกบังคับให้เปลี่ยนเอง  เพราะฉะนั้น เอสเอ็มอีต้องปรับตัว”

     ผอ.ศููนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน บอกอีกว่า อยากให้เอสเอ็มอี เห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นมิติของบุคลากร ที่ต้องให้ความสำคัญ และกลับมาพัฒนาคนของเราให้สามารถเรียนรู้ได้ บริษัทก็จะไปต่อได้อย่างยั่งยืน ขณะที่การเลือกใช้เทคโนโลยี อย่ามองแต่ ถูกที่สุด เร็วที่สุด แต่อยากให้มองในระยะยาว ซึ่งหากเป็นสิ่งที่ทำได้เองก็จะช่วยผู้ประกอบการได้เยอะมาก โดยเอสเอ็มอีสามารถฟอร์มทีมงาน แล้วสร้างโซลูชั่นเพื่อใช้แก้ปัญหาของตัวเองได้ ก็จะเกิดความเข้าใจ หากจำเป็นจะต้องซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอนาคต ก็จะรู้ถึงความจำเป็นของการใช้งานอย่างแท้จริง

     “ธุรกิจจะเกิดความยั่งยืนก็ต่อเมื่อ คุณสามารถสร้างคนในองค์กรให้มีความรู้ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี ขณะที่ผู้บริหารหรือซีอีโอเอง ก็ต้องให้ความสำคัญ และลงมาเล่นเอง โรงงานเหล่านั้นก็จะไปได้ไกล” เธอย้ำในตอนท้าย

     ในปีที่ผ่านมา SMC มีจำนวนโรงงาน ผู้ประกอบการ ที่ได้รับถ่ายทอดเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยี ARI (Automation Robotic and Intelligent System) รวม 178 หน่วยงาน ผ่านบริการต่างๆ ของศูนย์ฯ และบริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคของ SMC จำนวน 153 ราย การให้บริการฝึกอบรมถ่ายทอด เทคโนโลยีเพื่อยกระดับความพร้อมฯ ของ SMC จำนวน 1,479 คน สร้างผลกระทบทางสังคมและการหมุนทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 5,262  ล้านบาท รวมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมกว่า 120 ล้านบาทอีกด้วย

 

ช่องทางติดต่อ

ศููนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC)

เว็บไซต์   www.nectec.or.th/smc

FB : smceeci

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น