TEXT / PHOTO : Nitta Su.
Main Idea
- ย้อนไปสมัย 20-30 ปีก่อน หากใครเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี ร้านของฝากขึ้นชื่อที่ต้องแวะก่อนกลับ ก็คือ “แก้วของฝาก”
- แต่ปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ธุรกิจร้านของฝากอาจไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนเก่า ทำยังไงถึงจะให้ธุรกิจไปต่อได้
- ชวนมาถอด Key Success ความสำเร็จจากร้านแก้วของฝาก ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 30 ปี ไม่เพียงไปต่อได้ แต่ยังพัฒนาธุรกิจจนกลายเป็นแบรนด์ที่มากกว่าร้านขายของฝากด้วย
หากใครพอจะจำภาพ มะขามกวนแก้ว ที่ห่อด้วยซองพลาสติกสีเหลือง และบรรจุในกล่องพลาสติกใสได้ นี่คือ ภาพจำของฝากขึ้นชื่อ จ.กาญจนบุรี จาก ร้านแก้วของฝาก จนนำมาตั้งเป็นชื่อร้าน ต่อมาไม่นานได้ผุดสินค้าแม่เหล็กขึ้นมาอีกตัว ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “ขนมทองม้วน” ที่ต่อมาภายหลังไม่ได้เป็นเพียงแค่สินค้าของฝาก แต่กลับเป็นสินค้าส่งออกขายดีไปทั่วโลก แถมปัจจุบันยังเป็นผู้พลิกโฉมร้านของฝากรูปแบบใหม่ ที่นำคำว่า “บูทีค” มาใช้กับธุรกิจร้านของฝาก กลายเป็น “แก้วบูทีค” ร้านของฝากสาขาใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยสิ่งที่ทำให้ ร้านแก้วของฝาก ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในด้านต่างๆ จะมีอะไรบ้าง ลองมาฟัง วิวรรณ ล้อศิริ หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านแก้วของฝาก เล่าแนวคิดของแบรนด์ให้ฟังกัน
- สร้างประสบการณ์ : สินค้าต้องดี ด้วยคุณภาพ
“ที่ร้านแก้วของฝาก เราผลิตสินค้าเองกว่า 80% จึงสามารถควบคุมคุณภาพได้เอง อย่างสินค้าพระเอกของเราตอนนี้ คือ ทองม้วนกรอบ มียอดการผลิตกว่า 80-90% เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น และส่งออกมากกว่า 80% จนเรียกว่าเป็นเบอร์ 1 ของประเทศก็ว่าได้ โดยในเดือนหนึ่งๆ เราผลิตได้มากกว่า 300 ตัน ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ตลาดยุโรป และจีน
“เหตุที่ทองม้วนของเราได้รับการตอบรับที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตลอด อย่างตัวกะทิ เราจะเลือกใช้เฉพาะกะทิคั้นสดใหม่ๆ ไม่ใช้กะทิฟรีซ ไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลง เราก็ใช้แบบนี้มาตลอด เพราะทำให้ได้รสชาติหวานมันมากกว่า นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนามาตรฐานอยู่ตลอดเวลา เราเป็นโรงงานผลิตทองม้วนกรอบในไทยเพียงไม่กี่แบรนด์ ที่ทำมาตรฐาน BRC ทำให้ส่งออกไปตลาดอเมริกาหรือยุโรปได้ ซึ่งเป็นระบบที่ทำยาก และใช้เงินทุนสูง โดยล่าสุดเราก็ทำมาตรฐานออร์แกนิกให้กับตลาดที่จีนด้วย บางคนอาจมองว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการ คือ ความยุ่งยาก แต่เรากลับมองว่า ถ้าเราทำมาตรฐานที่ดีขึ้นได้ ก็มีโอกาสในการขยายหรือจับตลาดใหม่ๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ ”
- สร้างประสบการณ์ : พัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัยอยู่เสมอ
“ร้านแก้วฯ เราเป็นแบรนด์แรกเลยที่มีการเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งขนมทองม้วนกรอบ จากถุงใส มาเป็นถุงฟอยด์ เราถือเป็นเจ้าแรกในไทยเลยที่กล้าทำ เพราะขนมสมัยก่อนต้องใส่ถุงใสๆ เพื่อให้มองเห็นสินค้าที่อยู่ข้างใน แต่เราเลือกใช้แบบนี้ เพราะมองว่าช่วยรักษาคุณภาพสินค้าให้เก็บได้ยาวนานขึ้น และยังสร้างความสวยงาม แปลกใหม่ จากจุดนี้เองเรามองว่าเป็นอีกรอยต่อสำคัญที่ทำให้เราโตขึ้นมาแบบก้าวกระโดด เพราะเมื่อแพ็กเกจจิ้งถูกพัฒนา ทำให้สินค้าของเราพร้อมจะเอาไปขายที่ไหนก็ได้ในประเทศหรือทั่วโลก ถ้าเรายังใช้ถุงใสเหมือนเดิม อาจไม่ได้จุดประกายให้มีคนสนใจนำไปทำตลาดให้
“ซึ่งในส่วนนี้ ทำให้เราต้องขยายโรงงานผลิตใหม่ขึ้นมาใหม่ และตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ “มีดี 8” มาจากพี่น้องทั้งหมด 8 คนในรุ่นแรก เพื่อมาช่วยดูแลด้านการผลิตโดยเฉพาะ เมื่อกำลังคนพร้อม ในส่วนกำลังทรัพย์ที่จะขยายเครื่องจักรและโรงงานผลิต โชคดีที่เราได้ทาง SME D Bank เข้ามาช่วยในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขที่เข้าใจผู้ประกอบการ SME ทำให้เราไม่ต้องแบกรับภาระตรงนี้หนักมากเกินไป”
- สร้างประสบการณ์ : ไม่ใช่แค่ร้านขายสินค้า แต่คือ การมอบประสบการณ์ให้ลูกค้า
“ในธุรกิจของฝาก ส่วนใหญ่อาจทำในรูปแบบที่รับซื้อมาและนำมาขายต่อ เพื่อรับมาขาย แต่ของร้านแก้ว อย่างที่บอกว่าเราพยายามพัฒนาสูตรของตัวเองขึ้นมา และทำเองกว่า 80% เราจึงนำตรงนี้มาสร้างจุดขายให้กับลูกค้า คือ ไม่ใช่แค่การมาเลือกซื้อสินนค้า ซึ่งสามารถซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ถ้ามาที่นี่เขาสามารถเห็นกระบวนการผลิตสดๆ ได้ในตอนนั้นเลย ถือเป็นจุดเด่นของร้านเราเลย ที่หน้าร้านของเราจะเน้นทำของสดโชว์ เช่น ทองม้วนสด, ขนมชั้น เพราะรู้สึกว่าทำให้ลูกค้าตื่นเต้นได้มากกว่า พอเขาซื้อของสดเราแล้ว ก็จะนำไปสู่การเลือกซื้อสินค้าของฝากที่เป็นของแห้งตามมา เรามองว่าเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญของการทำร้านของฝากในวันนี้ ซึ่งในแต่ละซีซั่น เราจะมีการทำเมนูใหม่ๆ ออกมา เป็นกิมมิกให้ลูกค้าได้ติดตามด้วย”