10 เรื่องต้องรู้ ก่อนก้าวสู่การเป็น Seller Carbon Credit

TEXT : สุภาวดี ใหม่สุวรรณ

     เวลานี้โลกได้ก้าวผ่านยุคโลกร้อนเข้าสู่ยุคโลกเดือด จึงได้เห็นภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลกใช้ “คาร์บอนเครดิต” เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เมื่อความต้องการคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ  ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสในการพัฒนาตนเองเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิต หรือ Seller Carbon Credit 

     แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักคาร์บอนเครดิตและสำรวจวิธีที่จะก้าวเดินบนเส้นทางนี้กันก่อน

1.คาร์บอนฟุตพริ้นท์” กับ “คาร์บอนเครดิต” คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

     คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักในการลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ

     แต่เอสเอ็มอีอย่าสับสนคำว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” กับ “คาร์บอนเครดิต”

     คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ “ปล่อย” จากทั้งองค์กร บุคคล หรือผลิตภัณฑ์

     ส่วนคาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณ ก๊าซเรือนกระจกที่ “ลดลง” หรือ “กักเก็บได้” จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ

     จะเห็นว่า 2 คำนี้มีความหมายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง  

2.คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ หรือภาคบังคับ มีความหมายอย่างไร

     วันนี้คาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเป็น “ภาคสมัครใจ” แต่ในอนาคตจะมีกลไกภาคบังคับเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้มีระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เข้ามาเกี่ยวข้อง

     สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ด้วยระบบ Cap and Trade แต่ละอุตสาหกรรมจะถูกจำกัดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี ถ้าปล่อยเกินเกณฑ์ ต้องซื้อสิทธิมาชดเชย ถ้าปล่อยต่ำกว่าเกณฑ์ สามารถเก็บคาร์บอนเครดิตไว้ใช้ภายหลังหรือขายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ปล่อยคาร์บอนเกินได้

     ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปและอเมริกา มีการบังคับใช้ ETS (Emission Trading Scheme) และภาษีคาร์บอนแล้ว รวมทั้งเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ นี่เป็นเมกะเทรนด์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

3.SME สามารถสร้างคาร์บอนเครดิตได้หรือไม่

     การจะได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต เอสเอ็มอีต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมที่จะทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในเรื่องใด ซึ่งควรจะตอบโจทย์ธุรกิจของตนเป็นหลัก เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน จัดการของเสีย ฯลฯ แล้วให้คาร์บอนเครดิตเป็นผลพลอยได้จากสิ่งที่ทำ

     โดยทั่วไปคาร์บอนเครดิตมีที่มาจากกิจกรรม 2 ประเภทหลัก ได้แก่

     1.กิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนไฟฟ้าจากสายส่ง ยิ่งผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ได้มาก คาร์บอนเครดิตก็มากตามไปด้วย

     2.กิจกรรมดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และการปลูกป่า กรณีการปลูกป่านั้นหากพื้นที่โครงการมีต้นไม้อยู่เดิมถือว่าไม่นับ คาร์บอนเครดิตจะเกิดขึ้นนับจากวันที่เอสเอ็มอีขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตแล้วเท่านั้น

4.เริ่มต้นซื้อขายคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างไร

     ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ต้องได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานต่างๆ ก่อน จึงจะสามารถนำมาซื้อขายกันได้

     ตัวอย่างมาตรฐานคาร์บอนเครดิตที่ได้รับความนิยมในระดับสากล เช่น Clean Development Mechanism (CDM) ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ Gold Standard (GS) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ และ Verified Carbon Standard (VCS) ของ Verra

     สำหรับประเทศไทย คาร์บอนเครดิตที่สามารถนำมาซื้อขายได้ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Project) ซึ่งดูแลโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

5.ต้องการขอรับรองจากโครงการ T-VER ต้องทำอย่างไร

     ผู้ที่จะเป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิตได้คือ “ผู้พัฒนาโครงการ” หรือ “เจ้าของโครงการ” ซึ่งอาจเป็นคนละรายกันก็ได้ เช่น บริษัท A ติดตั้งโซลาร์และขายไฟฟ้าให้โรงงาน B หากบริษัท A อยากจะทำโครงการ T-VER ก็ต้องไปขอสิทธิจากโรงงาน เช่นเดียวกันถ้าโรงงานอยากทำคาร์บอนเครดิต ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของระบบโซลาร์ แต่ทั้งผู้พัฒนาโครงการและเจ้าของโครงการสามารถแบ่งปันคาร์บอนเครดิตได้หากทำข้อตกลงร่วมกัน

     ไม่ว่าจะรับบทใด หากต้องการขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ก็ต้องจัดทำเอกสาร  จัดเก็บข้อมูล และขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต รวมถึงเปิดบัญชีคาร์บอนเครดิตกับ อบก. จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบ (Validation & Verification) จากผู้ประเมินภายนอก หากผ่านก็จะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อบก. โดย 1 เครดิต เท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองจะถูกบันทึกอยู่ในระบบบัญชีคาร์บอนของผู้ยื่นขอโดยไม่มีวันหมดอายุ ตราบใดที่มิได้โยกย้ายถ่ายโอนให้กับผู้อื่น

6.การดำเนินการต่างๆ มีค่าใช้จ่ายอย่างไร

     ทุกครั้งที่ขอรับรองคาร์บอนเครดิตมีค่าใช้จ่ายเสมอ จึงควรศึกษาวิธีการยื่นขอรับรองให้ดี เช่น กรณีที่กิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกมีระบบเดียว แต่ติดตั้งหลายแห่งในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น โครงการติดตั้งแผงโซลาร์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้โดยพัฒนาโครงการแบบควบรวมและขอขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการเดี่ยวได้ โดยไม่ต้องขอหลายครั้ง

     กรณีติดตั้งหลายแห่ง แต่ระยะเวลาในการติดตั้งไม่พร้อมกัน โดยอาจมีแผนจะติดตั้งภายใน 5 ปี ถ้าทำโครงการแบบควบรวมจะเสียประโยชน์ ได้เครดิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แนะนำให้ทำโครงการแบบแผนงานและขึ้นทะเบียนภายใต้กลุ่มโครงการย่อย ซึ่งเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มโครงการย่อยได้เรื่อยๆ และขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้พร้อมกัน จะช่วยลดค่าใช้จ่าย จึงเหมาะสำหรับโครงการขนาดเล็กๆ อย่างมาก

7.กิจกรรมแบบไหนที่จะเข้าหลักเกณฑ์ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER

     ไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่ลดก๊าซเรือนกระจกจะได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER โดยกิจกรรมดังกล่าวจะต้อง…

     1.เป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

     2.เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่กฎหมายบังคับให้ทำ เช่น บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต้องมีพื้นที่สีเขียว

     3.สามารถตรวจวัดในเชิงปริมาณหรือเชิงตัวเลขได้

     4.ไม่มีการทำซ้ำ เช่น การขึ้นทะเบียนซ้ำ หรือใช้เครดิตไปแล้ว จะไปหลอกขายคนอื่นอีกไม่ได้

 

8.รูปแบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีแบบไหนบ้าง

     การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ ได้แก่

     1.Over-the-counter ในอดีตผู้ซื้อและผู้ขายจะเจรจาต่อรองกันเองโดยตรง เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วจึงแจ้ง อบก. ให้ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

     2.FTIX Exchange แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่พัฒนาขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ อบก. เพื่อความโปร่งใสในเรื่องของราคา ลักษณะการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเหมือนกับการเทรดในตลาดหุ้น ปัจจุบันเปิดให้บริการเฉพาะนิติบุคคลเท่านั้น

9.การกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต

     ปัจจุบันมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราคา 19-3,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

     ปัจจัยที่มีผลต่อราคาคาร์บอนเครดิต ได้แก่ ประเภทโครงการ กิจกรรมการดำเนินการ ที่ตั้งโครงการ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเครดิตก็มีผลเช่นกัน เช่น หน่วยงานที่เป็นชุมชนมักได้รับโอกาสมากกว่า เพราะผู้ซื้อนิยมซื้อกับชุมชนท้องถิ่น ด้วยมองว่าเงินที่จ่ายไปจะถูกนำไปใช้บริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของชุมชน ดังนั้น โครงการใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนร่วม ย่อมมีแนวโน้มที่ราคาเครดิตจะสูงตาม

10.การสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิตจากหน่วยงานภาครัฐมีมากน้อยแค่ไหน

     ปัจจุบันมีหลายมาตรการออกมาเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เช่น สสว. ให้เงินสนับสนุนเอสเอ็มอีเกี่ยวกับค่าทวนสอบและค่าขอการรับรองกับ อบก. ด้าน BOI ก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำผ่านกลไกยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่นเดียวกับผู้เป็นเจ้าของเครดิตและผู้พัฒนาโครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรในการขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีอย่างยิ่งในการก้าวเดินบนสายสีเขียวนี้

เรียบเรียงจากงานสัมมนา : The Business Game Changer : เมกะเทรนด์ขับเคลื่อน SME สู่ความยั่งยืน ดร.ปราณี หนูทองแก้ว ผู้จัดการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต อบก.

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไมบันไดต้องมีแบรนด์? ฟังเฉลยจาก "ลายวิจิตร" ผู้คิดโซลูชั่นบันไดสำเร็จรูป พาธุรกิจโต 10 เท่า

โดยส่วนใหญ่ในธุรกิจ B2B การสร้างแบรนด์ อาจดูไม่ค่อยมีความจำเป็นมากเท่ากับ B2C ที่ขายปลีกโดยตรงถึงผู้บริโภค ยิ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น บันได แต่แล้วทำไม? บันได ต้องมีแบรนด์ ไปดูกัน

คำสารภาพจากแม่ค้าประตูน้ำ ยอมออกจาก Comfort zone สู่โลกออนไลน์ เมื่อความสำเร็จเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงนี้มักได้ยินเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าหนาหูว่า เศรษฐกิจไม่ดีและไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแบบธรรมดา แต่เป็นเศรษฐกิจที่แย่สุดๆ รับรู้ได้จากแม่ค้าหลายรายได้โพสต์คลิประบายความในใจจนกลายเป็นไวรัล

บ้านต้นไม้ร้อยหวัน โฮมสเตย์ที่อยากให้คนมาใช้ชีวิตเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ

บ้านพักแนวโฮมสเตย์รักษ์วิถีชุมชน ที่อยากชวนคนให้มาอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ รับเฉพาะลูกค้าจองล่วงหน้าเท่านั้น