dot.b ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวในเมืองเก่าสงขลา ทำหน้าที่สเมือนสมองเมือง เปิดถึงเที่ยงคืน

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

     การทำร้านหนังสือในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทยอยปิดตัวไปเล่มแล้วเล่มเล่า นับเป็นความกล้าที่บางคนเอาความรักในการอ่านมาเดิมพันในสนามของธุรกิจร้านหนังสืออิสระ โดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ อย่างสงขลา ที่คนภายนอกแทบมองไม่เห็นโอกาส แต่ dot.b เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้เมืองไม่ขาดร้านหนังสือ

     ตึกเก่าสีขาวสองชั้นดึงดูดสายตาด้วยป้ายบอกขายหนังสือพร้อมอ่าน ที่ถ้ามองผ่านๆ ดูเหมือนป้ายขายตึก สูงขึ้นไปมีป้ายไฟชื่อร้านเล็กๆ มีอักษรดำบนพื้นขาวว่า dot.b ยิ่งมองเห็นน้องแมวนอนฟุบอยู่บนโต๊ะยาวด้านในริมกระจกกับชั้นหนังสือเรียงราย ผมยิ่งอดใจไม่ได้ที่จะผลักประตูเข้าไปสำรวจ ณะ-นคินทร์ พูนศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกำลังถือไม้กวาดไล่ฝุ่นซอกซอนไปตามชั้นวางหนังสือ

     “สงขลาเคยมีร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถนนยะหริ่ง แต่เมื่อร้านย้ายไปเชียงใหม่ ผมกับพี่โก้-ธีระพล วานิชชัง จึงอยากเติมช่องว่างของร้านหนังสือในเมืองเก่าให้ต่อเนื่อง เราเริ่มช่วยทำตั้งแต่แรกเริ่ม  โดยผมรับหน้าที่หลักช่วงกลางวัน ในขณะที่พี่โก้จะดูแลต่อในเวลากลางคืน”

     ณะ เริ่มเล่าเรื่องราวของร้านให้ผมรู้จัก พร้อมอธิบายคร่าวๆ ของการใช้พื้นที่

     “เราเปิดมาได้แค่ประมาณ 1 ปี 8 เดือน พยายามให้หนังสือมีความหลากหลาย กลุ่มหลักๆ ที่ขาย เริ่มจากหนังสือที่เราอ่านเอง แล้วน่าสนใจ รองลงมาเป็นหนังสือที่ขายดีรวมกับวรรณกรรมคลาสสิก  เราจัดไว้ที่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนทำเป็นสเปซโล่งๆ  ปรับเปลี่ยนเป็นลานแสดงงานหรือวงเสวนาบ้างตามแต่โอกาส ถ้าไม่มีอีเวนต์อะไร เราจัดพื้นที่ไว้ให้อ่านหนังสือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่อาจจะไม่ได้สะดวกสบายมาก”

     เมื่อพูดถึงโอกาสทางธุรกิจของร้านหนังสือในย่านเมืองเก่าสงขลา ณะ บอกว่า

     “ทุกคนอาจจะมีคำถามถึงการเปิดร้านหนังสือ แต่เมื่อมีร้านหนังสือ เหมือนเราสร้างพื้นที่ให้คนเห็น กลุ่มคนที่กระจัดกระจายก็จะแสดงตัวขึ้นมาเอง ร้านหนังสือเป็นที่ประเทืองปัญญาของผู้คน แล้วทำไมจะอยู่ไม่ได้ ยิ่งในความเป็นเมือง ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของระดับหัวกะทิอยู่แล้ว  ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่าร้านหนังสือกำลังจะตาย เมื่อคนหันไปอ่านหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น สุดท้ายหนังสือก็พิสูจน์ตัวเองว่ายังอยู่ได้ นักเรียนนักศึกษายังเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของ dot.b แนวโน้มของการประกอบการ เราวางเป้าไว้ไม่สูงมาก ภาพรวมก็ยังไปได้ อยู่ในระดับที่พอใจ”

     เมื่อเราพูดถึงเทคโนโลยี การอ่านหนังสือก็หนีไม่พ้นเช่นกัน  หนังสือเล่มกระดาษเริ่มกลายเป็นไฟล์ดิจิตอล แต่ทั้ง ณะ และผม ต่างเห็นพ้องกันว่า ทั้งความรู้สึกในการหยิบจับและสุนทรีในการอ่าน หนังสือเล่มยังได้เปรียบอยู่ดี

     “ส่วนเวลาเปิด-ปิดของร้าน เคยลองเปิดเช้าแต่เงียบ  เราเลยเริ่มนับเข็มนาฬิกากันที่ตอนเที่ยงดีกว่าพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตของพวกเราไปด้วย  และจะได้เป็นภาพจำว่า เราเปิดกลางคืนแน่นอน”

     น่าจะเป็นร้านหนังสือร้านเดียวในสงขลาหรือแค่ไม่กี่ร้านในประเทศที่เปิด-ปิดในเวลานี้

     

     “ตอนทำร้าน เราชอบประโยคหนึ่งว่า เมืองที่ดีควรมีร้านหนังสือ คุณอาจจะไม่ใช่นักอ่านก็ได้ แค่เดินเข้ามาเดินเล่น เข้ามาตากแอร์ อาจจะเจอหนังสือสักเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิต เหมือนที่เราเคยเจอ พอนับหนึ่งแล้ว เมื่อเราทัชกับมันแล้ว การอ่านอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ได้”

     วันหนึ่งหากการเดินทางของคุณ ได้ผ่านพบร้านหนังสือสักร้านจะเป็น dot.b หรือไม่ใช่  แค่ลองผลักประตูร้านหนังสือเข้าไป บางข้อความในหนังสือที่คุณไม่ได้ตั้งใจเปิดอ่าน  อาจจะสร้างปรากฎการณ์ยิ่งใหญ่ของชีวิต อย่างที่ ณะ สรุปทิ้งท้ายไว้ให้

     ข้อมูลติดต่อ https://www.facebook.com/dot.b.bookstore

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน