เจ้าแรกในไทย "วุ้นเส้นเฮยะ" ทำจาก โมโรเฮยะ ฉายาผักพระราชาของอียิปต์ พลิกจากไร่อ้อยสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพ”

Text: Neung Cch.

Photo : Sunun Lorsomsub


       ผืนดินกว่า 10 ไร่ที่เต็มไปด้วยต้นอ้อย กลายเป็นมรดกที่วิทยา เพชรมาลัยกุล ต้องรับผิดชอบทันทีที่ผู้เป็นพ่อจากไป การกลับบ้านเกิดจังหวัดเพชรบุรีเพื่อสานต่อธุรกิจของครอบครัว ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด กลิ่นยาฆ่าแมลงกลายเป็นกลิ่นตัวที่คนรอบข้างเริ่มทัก อีกทั้งปัญหาสุขภาพของเขาและภรรยา ทำให้เจ้าของไร่เพชรมาลัยกุล เกิดคำถามกับตัวเองว่า

     นี่คือสิ่งที่เขาต้องทำไปตลอดชีวิตหรือ?

     จากคำถามนำไปสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่คือเปลี่ยนจากการทำไร่อ้อยสู่การปลูกผักโมโรเฮยะ หรือ "ผักพระราชา" ที่ว่ากันว่าอุดมด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการที่สูงที่คุ้นเคยกันในอียิปต์แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีนักในบ้านเรา

     การพลิกผืนดินเพื่อปลูกพืชชนิดใหม่ จึงเต็มไปด้วยคำถามมากายจากผู้คนรอบข้างแม้กระทั่งลูกน้องผู้ร่วมงาน

     ทุกคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ปณิธานที่อยากให้คนไทยได้ทานของดี และอยากเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้อยู่ต่อถึงรุ่นลูก ไม่เพียงจะได้ผักที่ขายดิบขายดี แต่ยังต่อยอดแปรรูปสินค้าสร้างแบรนด์ "เฮยะ" ที่โดดเด่นด้วยผลิตภัณฑ์ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ" เจ้าแรกของไทย

จุดเริ่มต้นจากความใส่ใจในสุขภาพ

     ปัญหาการทำไร่อ้อยที่ต้นทุนสูงแล้ว วิทยาและภรรยาต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะภรรยาที่ป่วยเป็นโรคไต ทำให้เขาเริ่มมองหาพืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงและรักษาโรค จนได้มาพบกับ "โมโรเฮยะ" ผักพื้นบ้านของอียิปต์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี ว่ากันว่าเป็นเคล็ดลับความงามของพระนางคลีโอพัตรา ด้วยความที่โมโรเฮยะมีวิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าผักทั่วไปหลายเท่า วิทยาจึงเริ่มปลูกโมโรเฮยะเพื่อรับประทานเอง และพบว่าสุขภาพของภรรยาดีขึ้น  
     เมื่อผู้คนรอบเข้างเริ่มเห็นก็สนใจเริ่มมีการถามหาผักโมโรเฮยะ จากที่ปลูกรับประทานเองก็กลายเป็นการปลูกเชิงพาณิชย์

จากไร่อ้อยสู่ผักโมโรเฮยะ: เส้นทางที่ไม่ง่าย แต่คุ้มค่า

     การเปลี่ยนแปลงจากไร่อ้อยมาปลูกผักโมโรเฮยะ วิทยายอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของตนเองและทีมงาน การเรียนรู้เทคนิคการปลูกผักชนิดใหม่ การหาตลาดสำหรับผลผลิต และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของโมโรเฮยะ

     "ช่วงแรกๆ มันยากมากครับ" วิทยาเล่า "เราต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองก่อนว่าทำได้จริงเหรอ แล้วก็ต้องไปบอกคนงานว่าเราจะเลิกปลูกอ้อยแล้วนะ มาปลูกผักแทน ซึ่งตอนแรกทุกคนก็ไม่เชื่อ แถมยังต้องหาตลาด หาคนซื้ออีก มันเป็นช่วงที่เหนื่อยมากจริงๆ"

     แต่ด้วยความมุ่งมั่นและใจรักในสุขภาพ วิทยาก็ไม่ย่อท้อ เขาค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว จนสามารถพลิกไร่อ้อยมาเป็นไร่ผักโมโรเฮยะที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

     "ความยากลำบากมันก็เหมือนบททดสอบครับ" วิทยา กล่าว "ถ้าเราไม่ยอมแพ้ เราก็จะผ่านมันไปได้ และผลลัพธ์ที่ได้มันก็คุ้มค่าเสมอ"

จากผักสดสู่ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ"

     ด้วยคุณสมบัติของผักและการเรียนจบทางด้านฟูดไซน์บวกกับประสบการณ์ในการทำงานที่โรงงานวุ้นเส้น วิทยาจึงเริ่มต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและเป็นเจ้าแรกของโลกคือ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ"

     “คามยากคือไม่ใช่ผักทุกอย่างที่จะนำไปทำวุ้นเส้นแล้วอร่อยไม่อืด”

     เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกแปรรูปผักโมโรเฮยะเป็นวุ้นเส้น วิทยาอธิบายว่า "ตอนแรกเราก็ทำเป็นผักสดขาย แต่ผู้บริโภคบางคนไม่มีพื้นที่ปลูกผัก หรือบางคนก็ไม่สะดวกที่จะทำอาหารจากผักสด เราก็เลยคิดว่าทำยังไงให้คนเข้าถึงโมโรเฮยะได้ง่ายขึ้น ก็เลยมาลงตัวที่วุ้นเส้น เพราะวุ้นเส้นมันเป็นอาหารที่ทานง่าย แล้วก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย"

     นอกจากนี้ วิทยายังมองว่าการแปรรูปเป็นวุ้นเส้นจะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง "อุปทานส่วนเกิน" ที่มักเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรได้อีกด้วย

     "ถ้าเราทำเกษตรแบบขายผลผลิตสดอย่างเดียว เราจะเหนื่อยมากครับ เพราะเราต้องเจอกับปัญหาเรื่องราคาที่ไม่แน่นอน เรื่องผลผลิตที่ล้นตลาด เรื่องการขนส่งที่ยากลำบาก การแปรรูปจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเรา ทำให้เรามีทางเลือกในการขายมากขึ้น และยังช่วยยืดอายุของผลผลิต ทำให้เราสามารถขายได้นานขึ้นด้วย"

ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมดีขึ้น

     วิทยายังเล่าถึงแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรของตนเองเพื่อความยั่งยืนในอนาคตว่า

     "เมื่อก่อนเราใช้คนเยอะ ใช้เครื่องจักรเยอะ สุดท้ายต้องปรับตัว ใช้คนน้อยลง ใช้พื้นที่น้อยลง แต่สามารถสร้างรายได้เท่าเดิม ค่าใช้จ่ายลดลง กำไรก็มากขึ้น อย่างทำไร่อ้อย ตัดไร่อ้อยผมใช้เกือบ 100 คน ตอนนี้ 5 คนก็ได้แล้ว"

     วิทยาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

     "ถ้าเรายังทำเกษตรแบบเดิมๆ เราอาจจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่ชอบทำเกษตรแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เราอาจจะต้องขายที่ดินทิ้งไปก็ได้ ผมเลยคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเราให้ทันกับยุคสมัย เพื่อให้ลูกหลานของเรายังคงมีอาชีพทางการเกษตรต่อไปได้ อย่างที่ผมเปลี่ยนมาปลูกผักโมโรเฮยะ เพราะเข้ากับเทรนด์สุขภาพเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี”

สร้างแบรนด์ "เฮยะ" สู่ตลาดโลก

     ในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีกับการบุกเบิกผักโมโรเฮยะ วิทยายอมรับว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้คนรู้จักและเปิดใจยอมรับทานผักตัวนี้ วัดได้จากการออกอีเว้นต์ที่มีเอเย่นซี่สนใจนำผักไปจำหน่าย หรือจากไร่ของเขาที่ทำเป็นศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีคนสนใจมาศึกษาดูงาน

     ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเฮยะวางจำหน่ายในร้านค้าของฝาก ส่งให้กับโรงแรม 5 ดาว นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นโมโรเฮยะในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

     “เป้าหมายต่อไปคือจะพัฒนา "เฮยะ" ให้เป็นแบรนด์ไทยที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่จุดเริ่มต้น แต่วัดกันที่ความมุ่งมั่นและความพยายาม" วิทยา สะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางที่เขาเดินผ่านมา และเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง

ข้อมูลติดต่อ
Facebook: ไร่เพชรมาลัยกุล
Tel. 063 782 9352

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน