Rent the Runway ไฮโซได้ในราคาประหยัด



 



Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

    
    คำกล่าวที่ว่า “โลกนี้ไม่มีผู้หญิงไม่สวย มีก็แต่คนที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองดูดี” นั้น ดูจะแฝงความเป็นจริง เห็นได้จากการที่ผู้หญิงโดยเฉพาะสาวๆ มักพยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นด้วยบุคลิกภาพที่ดี และปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” นอกจากหน้าตาแล้ว สิ่งที่เสริมให้สาวๆ ดูดีแน่นอนย่อมเป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ยิ่งเวลาออกงานสำคัญๆ ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องเป้ง!


  คำถามก็คือสำหรับผู้หญิงทำงานรายได้ปานกลาง พวกเธอมีสิทธิ์สวมใส่ชุดที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง และถือกระเป๋าหรูๆ กรีดกรายออกงานโดยไม่เดือดร้อนเงินในกระเป๋าหรือไม่ คำตอบคือมีแน่นอน


    เจน ไฮแมน และ เจนนี่ ไฟลส์ สองสาวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ HBS-Harvard Business School ทำให้ฝันของสาวๆ อเมริกันเป็นจริงด้วยการเปิด Rent the Runway ธุรกิจให้บริการเช่าชุดหรูจากดีไซเนอร์พร้อมกระเป๋าและเครื่องประดับ


   โดยช่วงแรกเปิดให้บริการทางออนไลน์ ต่อมาภายหลังจึงมีหน้าร้านรวม 3 สาขาคือ ในนิวยอร์ก 2 แห่ง และที่ลาสเวกัสอีกหนึ่งสาขา นับจากที่เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2552 ปัจจุบัน Rent the Runway มีสมาชิกกว่า 5,000,000 คน พนักงานราว 250 คน และเป็นพันธมิตรกับดีไซเนอร์กว่า 200 คน รวมถึง Calvin Klein, Vera Wang, Badgley Mischka, Diane Von Furstenberg และอีกหลายคน  


    จุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจมาจากเจนกลับไปบ้านที่นิวยอร์ก และเห็นน้องสาวบ่นว่าไม่มีชุดใส่ไปงานแต่งงานทั้งที่เสื้อผ้าก็เต็มตู้ออกอย่างนั้น แต่เพราะไม่อยากใส่ชุดซ้ำๆ น้องสาวเธอจึงยอมควักเงินกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อชุดใหม่ของดีไซเนอร์คนหนึ่ง และท้ายที่สุดมันก็จะถูกแขวนเก็บไว้ในตู้หลังจากใส่ไม่กี่ครั้ง นับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าแม้แต่น้อย

    ข้อมูลจากงานวิจัยระบุผู้หญิงอเมริกันแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าใหม่เฉลี่ยปีละ 64 ชิ้น และครึ่งหนึ่งของเสื้อผ้าที่ซื้อใหม่ใส่เพียงครั้งเดียว ส่วนใหญ่ใส่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียแล้วจะไม่อยากใส่ซ้ำ เจนนำเรื่องนี้ไปปรึกษาเจนนี่ ซึ่งเคยทำงานเป็น Strategic Planner ให้กับบริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังหลายแห่ง เมื่อทั้งคู่ตกลงที่จะทำธุรกิจร่วมกัน Rent the Runway ธุรกิจให้เช่าชุดทางออนไลน์จึงถือกำเนิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 


    โดยปกติสิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มธุรกิจคือ การเขียนแผนการธุรกิจเพื่อนำไปขอทุนสนับสนุนจากบรรดาบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) แต่ 2 สาวนักศึกษาฮาร์วาร์ดกลับแหกกฎด้วยการลุยทำธุรกิจไปก่อนแล้วค่อยหาทุนทีหลัง


    “เราเริ่มจากการตระเวนหาซื้อชุดของดีไซเนอร์แบรนด์ต่างๆ เน้นว่าเป็นไซส์ที่เราใส่เอง เพราะถ้าธุรกิจไม่เวิร์กขึ้นมา อย่างน้อยเราก็เก็บเสื้อผ้าไว้ใช้เอง ากนั้นเราก็ตระเวนไปตามมหาวิทยาลัย เช่น ฮาร์วาร์ด และเยล หรือสถานศึกษาที่กำลังจะมีการจัดงานเพื่อคุยกับนักศึกษาว่า เรามีชุดให้เช่านะ พร้อมกับฝากแค็ตตาล็อก เว็บไซต์ และเบอร์โทรศัพท์” เจนนี่เล่าย้อนไป ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 


    นอกจากลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักศึกษาแล้ว ยังครอบคลุมถึงพนักงานออฟฟิศรายได้ปานกลางที่มีจำนวนมาก สำหรับระเบียบในการให้บริการมีดังนี้ ลูกค้าเช่าชุดและเครื่องประดับได้คราวละ 4 หรือ 8 วัน โดยจะมีบริการส่งถึงประตูบ้าน สนนราคาอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาชุดและเครื่องประดับ หากยืม 2 ชุด ชุดที่ 2 คิด 25 ดอลลาร์ฯ ทุกการเช่าจะรวมค่าประกัน 5 ดอลลาร์ฯ หากชุดได้รับความเสียหาย ลูกค้าต้องรับผิดชอบโดยการซื้อชุดนั้น


   เมื่อสอบถามความเห็นของลูกค้าส่วนใหญ่จะชื่นชอบบริการนี้ เพราะแทนที่จะเสียเงินเป็นพันเพื่อซื้อชุดใส่ไม่กี่ครั้ง พวกเธอจ่ายครั้งละ 50-70 ดอลลาร์ฯ ก็แทบจะเดินไปเฉิดฉายบนเวทีได้ แถมของยังส่งตรงถึงบ้าน เมื่อใช้เสร็จก็แค่เอาของใส่ซองที่ Rent the Runway ให้มา ปิดผนึกแล้วนำไปหย่อนตู้ไปรษณีย์ส่งคืนให้บริษัท นับว่าสะดวกมาก 


 



    ไม่กี่ปีหลังดำเนินธุรกิจ Rent the Runway เติบโตอย่างรวดเร็ว ลูกค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 100,000 คน มีชุดให้เช่ารวมแล้วกว่า 65,000 ชุด เครื่องประดับ 25,000 ชิ้น ลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านออนไลน์หรือจะแวะมาเลือกหาชุดที่ร้านได้ โดยจะมีสไตลิสต์ประจำทุกสาขาเพื่อคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทรนด์แฟชั่นและการแต่งกาย ส่วนลูกค้าที่เช่าชุดทางออนไลน์ก็สามารถรับคำปรึกษาได้เช่นกัน ผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือไลฟ์แช็ต นอกจากบริการเช่าชุดและเครื่องประดับ Rent the Runway ยังต่อยอดธุรกิจด้วยการจำหน่ายสินค้า เช่น เครื่องสำอาง ชุดชั้นใน ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวและการขจัดขน เป็นต้น


    หลังจากที่ธุรกิจอยู่ตัวและมั่นใจว่าส่อแววสดใส ผู้บริหารหญิงทั้งสองก็เริ่มนำแผนธุรกิจไปเสนอยังบริษัทเงินร่วมลงทุน ผลก็คือมีบริษัทต่างๆ ให้การสนับสนุนทุนรวมแล้ว 54 ล้านดอลลาร์ฯ Rent the Runway มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 15 สาขาตามเมืองใหญ่ และเพิ่มแบรนด์เสื้อผ้า รวมถึงประเภทของเสื้อผ้าที่ให้เช่าเพื่อให้ครอบคลุมที่สุด ความสำเร็จของสองสาว เจน และเจนนี่ การันตีได้จากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ เช่น นักธุรกิจดีเด่นอายุต่ำกว่า 30 นักธุรกิจหน้าใหม่ที่โตแบบก้าวกระโดด ขณะที่ Rent the Runway ก็ได้รับการยกย่องเป็นเว็บไซต์ยอดเยี่ยม และบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด

  
    เจนนี่ซึ่งนั่งเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจพูดถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จว่า อยู่ที่หุ้นส่วนร่วมทำธุรกิจต้องเข้ากันได้ดี ต้องมีทัศนคติ Can Do คือเชื่อมั่นว่าทำได้ และลงมือทำโดยไม่ต้องสนใจแผนธุรกิจ “ดิฉันว่าการเขียนแผนธุรกิจเป็นอะไรที่เสียเวลา ทางที่ดีควรลงมือทำเลย อาจเริ่มที่สเกลเล็กๆ ก่อนเป็นการชิมลางตลาด แล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้น ทำไป เรียนรู้ความผิดพลาดไป การทำธุรกิจก็เหมือนกับการทำบททดสอบในตลาดจริง อันไหนไม่เวิร์กก็ตัดทิ้งไป ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงลงได้สำหรับผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ” เจนนี่ยังตบท้ายอีกว่า แม้ลงมือทำไปแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลว แต่มันหมายถึงโอกาสอาจยังไม่อำนวยต่างหาก


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง