Text : Nitta Su.
Photo : Pet Project
เพราะเป็นคนหนึ่งที่รักสัตว์เหมือนลูก เมื่อถึงเวลาต้องเลือกซื้ออาหารและขนมให้ จึงค่อนข้างให้การคัดสรรเป็นพิเศษ วันหนึ่งเมื่อคิดอยากเริ่มทำธุรกิจ จิณห์นิภา พลธนะวสิทธิ์ หรือ “หยง” สาวนักการตลาดที่เพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน จึงใช้เวลาว่างในช่วงปลายโควิด-19 คิดโปรเจกต์ทำธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา จากการใช้ Waste หรือเศษวัตถุดิบที่เหลือจากโรงเชือด มาผลิตเป็นขนมสัตว์เลี้ยงจากธรรมชาติ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Pet Project” ทดลองทำได้ไม่ถึงเดือน ก็เปิดวางขายบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดัง จนปัจจุบันมียอดจำหน่ายกว่าหลายพันชิ้นต่อเดือน ยอดนำวัตถุดิบมาผลิตไม่ต่ำกว่า 300-400 กิโลกรัมต่อเดือน
จากคนรักสัตว์ สู่ผู้ผลิตขนมแสนโปรดของสัตว์เลี้ยง
“จุดเริ่มต้นมาจากตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ เป็นช่วงปลายโควิด-19 ประมาณปี 2566 อยู่บ้านเฉยๆ ก็เลยอยากลองหาธุรกิจทำ ด้วยความที่ตัวเองเลี้ยงหมาอยู่แล้ว และค่อนข้างให้ความสำคัญกับการคัดเลือกอาหารให้น้องหมาที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ก็เลยอยากลองทำเป็นตัวขนมที่มีประโยชน์ ตอนแรกลองทำเป็นนมอัดแท่ง แต่ไม่สำเร็จ พอดีไปเจอคลิปจากเมืองนอก เขาเอาพวกเศษชิ้นส่วนที่เหลือ เช่น หูวัว, ปอด, จู๋วัว หรือ Bully Stick มาอบแห้งทำเป็นขนมให้สุนัข ซึ่งมันเป็น Single Ingredients มาจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่ปนอย่างอื่น ก็เลยลองไปหาซื้อและเอามาทำดูบ้าง ให้น้องหมาที่บ้านเป็นตัวทดลอง พอทำได้ ใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็ลองเปิดร้านใน Shopee กับ Lazada เลย เพราะตอนนั้นเราเริ่มมองเห็นเทรนด์คนเลี้ยงสัตว์กันเยอะขึ้น ไม่ได้เลี้ยงแบบทั่วไป แต่เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว” หยงเล่าที่มาให้ฟัง
โดยองค์ความรู้ต่างๆ เกิดจากการเรียนรู้ และลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง วัตถุดิบที่นำมาทำนั้นมาจากโรงเชือด เป็นเศษชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ที่เหลือจากการนำไปบริโภคเป็นอาหาร ซึ่งปกติมักถูกนำไปขายถูกๆ เพื่อนำไปอบแห้งและปั่นรวมเป็นอาหารสัตว์ราคาถูก หรือหรือบางส่วนอาจนำมาใช้ปรุงอาหาร เช่น กระดูกใบพาย เอามาต้มเป็นน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว แต่ก็ใช้ไม่เยอะเท่าไหร่
“ถ้าเป็นแต่ก่อน ที่ยังไม่ถูกนำมาแยกส่วนขาย ก็จะขายเหมารวมกัน เอาไปป่นเป็นอาหารสัตว์ราคาถูก แต่พอเราให้เขาลองชำแหละ แยกเป็นชิ้นส่วนให้ เราก็ให้ราคาดีขึ้น เหมือนเป็นสินค้าใหม่ให้กับเขาด้วย”
คำนึงถึงประโยชน์ และการใช้งานจริง
ถึงกรรมวิธีจะดูเหมือนง่าย แค่นำมาอบก็เสร็จแล้ว แต่หยงเล่าว่าความจริงแล้วรายละเอียด ไม่ใช่เลย ต้องมีการนำมาล้างทำความสะอาดอย่างดี จากนั้นนำไปตัดแต่งอีกที แยกส่วนที่ใช้ไม่ได้ออก รวมถึงตัดให้ได้ขนาดตามไซส์ที่ต้องการ เสร็จแล้วจึงนำมาเข้าเครื่องอบ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วน ก็ใช้เวลาในการอบที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะกับการนำไปใช้งานจริง
“โดยหลักๆ ขนมของเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ขนม Teach เพื่อใช้ในการสอนและให้รางวัล เป็นพวกขนมกรอบ กินไม่นานก็หมด ใช้เวลาในการอบประมาณ 12-18 ชม. เช่น ปอดหมู และ 2.ขนมแทะ ชิ้นจะใหญ่กว่า หนากว่า ต้องใช้เวลา 2-3 วัน เช่น จู๋วัว หรือตัวเดียวอันเดียว จะกินได้นานขึ้น ประมาณ 30 นาที เอาไว้แก้เบื่อ ช่วยฝึกสมาธิ ช่วยขัดฟัน ที่ต้องใช้เวลาอบยาวนาน เพราะเราใช้ไฟต่ำไม่เกิน 65-70 องศา เพื่อให้คุณค่าทางอาหารยังอยู่ เนื้อยังมีความเหนียว เคี้ยวมัน เคยทดลองใช้ไฟแรง เพื่อให้อบได้เร็วขึ้น ก็จะได้ออกมาเป็นกรอบๆ ไปหมด”
“นอกจากนี้ถึงเป็นสินค้าตัวเดียว เราพยายามทำออกมาให้เลือกหลายไซส์ หลายรูปแบบด้วย แตกเป็นหลาย SKU ให้เลือก เช่น ตัวจู๋วัว จะมีขายแบบทั้งเป็นแท่ง, เป็นม้วน และแบบถักเปีย เพื่อให้เหมาะกับความชอบของสุนัขแต่ละตัว หรืออย่างหลอดลม แต่ก่อนเราทำออกมาไซส์เดียว แต่พอได้ไปงาน Pet Expro ได้คุยกับลูกค้า ก็รู้ว่าลูกค้าเราเลี้ยงน้องหมาตัวเล็กเยอะ เราเลยทำออกมาให้เลือกหลายขนาด เช่น 3 นิ้ว, 6 นิ้ว เพื่อให้น้องหมาตัวเล็กก็กินได้สะดวกขึ้น
“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ลูกค้าบางคนยังไม่เข้าใจในการให้ขนมแก่สัตว์เลี้ยง บางคนเห็นว่าทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ก็ให้เยอะ แต่จริงๆ มันทดแทนอาหารไม่ได้ ยังไงขนม ก็คือ ขนมไม่ควรเกิน 10% ของน้ำหนักอาหารที่ต้องกินต่อวัน หรือบางคนเลี้ยงน้องหมาน้ำหนัก 2 กก. แต่จะให้แทะ Bully Stick ทั้งอัน ไม่ได้ ค่าโปรตีนจะพุ่งสูงเยอะเกินไป เป็นอันตรายต่อตับ ไต ได้ อีกอย่างอาจเป็นอันตรายต่อน้องด้วย เช่น ติดคอ ยังไงก็ต้องให้อยู่ในการควบคุมดูแลด้วย
พัฒนาสินค้าใหม่ทุกเดือน
ปัจจุบันสินค้าในแบรนด์ Pet Project มีทั้งหมดประมาณ 20 SKU ด้วยกัน ตัวที่ขายดีสุด คือ Bully Stick, หูวัว และกระดูกใบพายอ่อน เป็นสินค้าใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม
“ในทุกๆ เดือนเราจะพยายามหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาทดลองทำ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้า พยายามทำออกมาให้เลือกเยอะก่อน แล้วค่อยดูว่าตัวไหนที่คนไม่ชอบ ก็ตัดออก ตัวไหนที่คนนิยมและเข้าใจ ก็เอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น ขาไก่ เคยทำออกมาแต่คนไม่ชอบ จะรู้สึกว่า ขาไก่ มันไม่แพง แล้วทำมาขายราคานี้ แต่จริงๆ กว่าจะได้ออกมา ต้นทุนค่อนข้างสูง ต้องมาตัดเล็บทุกอัน อบอีก 3 วัน แต่ถ้าเป็นขาเป็ด จะขายดีกว่า ทั้งที่จริงก็คล้ายกัน แต่คนรู้สึกว่าขาเป็ดไฮโซกว่า แพงกว่า”
ในด้านการตั้งราคาขาย หยงเล่าว่าเธอวาง Brand Positioning ไว้ในระดับกลางค่อนไปทางสูง คือ พรีเมียม มีคุณภาพ แต่ราคาจับต้องได้ เน้นความคุ้มค่า คุ้มราคา และอยากเป็น Xpert ผู้เชี่ยวชาญด้านขนมแทะ
“เราอยากเป็นแบรนด์พรีเมียมที่จับต้องได้ ด้วยราคาต่อชิ้นเราอาจแพงกว่าบางแบรนด์นิดหน่อย แทนที่จะขายทีละชิ้นสองชิ้น เราจึงเน้นขายเป็นแพ็ค 3-4 ชิ้นแทน เพื่อให้ซื้อทีเดียวแต่ได้คุ้มกว่า เช่น Bully Stick 1 อัน ขายกันที่ราคา 80 บาทต่อชิ้น แต่พอเป็นแพ็ก 3 ชิ้น เราขาย 210 บาท ส่วนถามว่าจุดเด่นของเรา คือ อะไร ส่วนใหญ่ลูกค้าจะนึกถึงเราจากขนมแทะ ตอนนี้เราเลยมุ่งทำตัวนี้ก่อน และอยากเป็น Xpert ด้านขนมแทะ”
ดราม่าเกิด แบรนด์รู้จักมากขึ้น
ถึงแม้จะตั้งใจทำออกมาอย่างดีที่สุด มีการทำคลิปอธิบายขั้นตอนกระบวนการทำต่างๆ ออกไป เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น แต่กลับมีดราม่าจนได้
“ต้องบอกว่าลูกค้ากว่า 60% ที่เข้ามาซื้อทุกวันนี้ คือ ลูกค้าขาประจำของแบรนด์ที่มีการซื้อซ้ำ ดังนั้นเวลาสินค้าอะไรใหม่ออกมา เขาพร้อมจะสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ แต่เราก็มีการทำการตลาดกับลูกค้าใหม่ด้วย เป็นการทำคลิปเบื้องหลังออกมา เล่าเรื่องราวขั้นตอน กระบวนการทำต่างๆ เพราะอยากให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจกระบวนการผลิตว่าของเราสะอาดจริง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งหลายคนก็เข้าใจ แต่ก็มีบางคนไม่เข้าใจ จนเกิดดราม่าได้ ยกตัวอย่าง ขากระต่ายที่เรานำมาทำ เป็นกระต่ายเลี้ยงที่คนนำไปกินเนื้อ ส่วนขาเหลือทิ้ง ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร เราก็เลยเอามาทำ เพราะถ้าทิ้งไป ก็คือ Food Waste เปล่าๆ บางคนไม่เข้าใจ เห็นแล้วก็สงสารบ้าง รับไม่ได้ เพราะเลี้ยงกระต่าย ก็มีทั้งสองมุม เราเคารพทุกความคิดเห็น”
หยงบอกว่า สิ่งที่เธอทำ นอกจากเป็นรายได้ให้กับตัวเอง ได้ผลิตอาหารดีๆ ให้บรรดาสัตว์เลี้ยงที่เธอรักแล้ว คุณค่าของตัวธุรกิจเอง ยังได้ช่วยนำ Waste ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย
โดยทุกวันนี้มีการนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตอยู่ที่ประมาณ 300-400 กก. ต่อเดือน ยอดขายเดือนหนึ่งก็ตกหลายพันชิ้นได้ จากวันแรก ถึงปัจจุบันเติบโตกว่า 3 เท่า สำหรับแพลนในปีหน้าตั้งเป้าจะขยายตลาดไปยังรีเทลด้วยนำสินค้าเข้า Pet Shop ต่างๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการขอเลขทะเบียนสินค้าบางตัว โดยมองว่าปัจจุบันสินค้าชนิดเดียวกัน ในไทยยังมีผู้ผลิตไม่ถึง 10 เจ้า เป็นตลาดเล็กๆ แต่ยังมีโอกาสอีกมาก
หยงได้ฝากทิ้งท้ายเอาไว้สำหรับใครที่อยากลงมือทำธุรกิจ ถึงเพิ่งจะจบใหม่เหมือนเธอว่า
“ไม่ต้องคิดเยอะ ลงมือทำเลย ลองไปเลย ถ้าไม่ดี ก็ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายยังไง เราก็คงต้องทำให้มันดีอยู่ดี เหมือนกับเราที่ตอนแรกลองทำได้ แล้ว ยังไม่ถึงเดือนเลย ก็เปิดขายเลย จะรู้ว่าอะไรดี ไม่ดี ต้องลงมือทำก่อน ถ้าแค่เรียนรู้ แต่ไม่ทำ สุดท้ายก็ไม่รู้อยู่ดี”
ข้อมูลติดต่อ :
IG : petprojectth
โทร. 093-131-3136
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี