​Paraface แนะ 3 ไอเดีย ป้องกันงานโดนก๊อปปี้


   

       
     
     คงเป็นเรื่องที่ปวดหัวใจมากพอสมควร สำหรับผู้ประกอบการที่มีไอเดียสร้างสรรค์ ผลิตสินค้าดีๆ ออกมาขายสู่ตลาด แต่วันดีคืนดีกลับต้องมาโดนก๊อปปี้งาน ซึ่งกว่าจะคิดขึ้นมาได้แต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แล้วจะจัดการอย่างไรต่อไปดี ลองมาฟังประสบการณ์และแนวทางในการแก้ไขดีๆ จาก ชวิษฐ์ กิจการเจริญสิน และ สถาพร นาคศรี เจ้าของแบรนด์ Paraface (พา – รา – เฟซ) นาฬิกาและแอกเซสซอรีจากเชือกพาราคอร์ด ที่เคยเจอกับตัวมาแล้วถึงสองครั้ง


 

     “สำหรับแบรนด์ Paraface เราก่อตั้งมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว เคยถูกโดนก๊อปปี้งานถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นช่วงปีแรกที่เริ่มทำได้ไม่นาน คือ ทำนาฬิกาเหมือนเราเลยจากเชือกพาราคอร์ด แต่จุดสำคัญ คือ เขาเลียนแบบตัวล็อกสายที่เราคิดค้นกันขึ้นมาเอง ตอนนั้นเราก็แจ้งไปทางเพจเขาว่าคุณก๊อปปี้งานผมมานะตรงจุดนี้ๆ เขาก็ยอมรับและสุดท้ายก็เลิกขายไป คือ ตอนนั้นต่างฝ่ายต่างก็เป็นเด็กวัยรุ่นด้วยกันทั้งคู่เลยคุยไม่ยาก
 

     อีกครั้งหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน คือ เป็นแบรนด์นาฬิกาและแอกเซสซอรีจากเชือกพาราคอร์ดเหมือนกัน ซึ่งเราไม่ได้ติดตรงนี้ เพราะจริงๆ ใครจะทำก็ได้ แต่ที่ไม่โอเค คือ เขาพยายามเอารูปแบบบางอย่างของเราไปใช้ เช่น ทำแถบป้ายสินค้าออกมาคล้ายกัน เราทำแคมเปญอะไร เขาก็ทำตาม แต่ที่ชัดเจน คือ มีการก๊อปแคปชั่นจากเพจของเราไปใช้ขายของในเพจเขา ผมได้ปรึกษาไปทางกรมทรัพย์สินค้าทางปัญญา เขาก็อธิบายให้ฟังว่าการก๊อปปี้เนื้อหาต่างๆ เช่น บทความ เนื้อเพลง เรียกว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าก๊อปปี้ตัวสินค้า คือ การละเมิดสิทธิบัตร ในกรณีของผมเป็นการก๊อปแคปชั่นและวลีบางส่วนมาใช้ กฎหมายจึงไม่สามารถคุ้มครองได้ สุดท้ายจึงให้ทนายติดต่อเจรจาเข้าไป เขาจึงออกมาเขียนจดหมายขอโทษผ่านเพจ และลบโพสต์ข้อความที่ก๊อปปี้ต่างๆ ออก ก็จบเรื่องกันไป จริงๆ เราไม่ได้มีปัญหากับสินค้าประเภทสายพาราคอร์ด เพราะวัตถุดิบมันมีอยู่แล้ว ใครๆ ก็สามารถเอามาถักขายได้ แต่แค่อยากให้สร้างสรรค์งานของตัวเองออกมา”


 

     โดยชวิษฐ์และสถาพรยังได้ฝากคำแนะนำในการป้องกันการก๊อปปี้ผลงานไว้ดังนี้
 

     1.จดป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น จะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.จดเครื่องหมายการค้า หรือ โลโก้ เพื่อป้องกันการนำไปใช้ 2.จดสิทธิบัตรคุ้มครอง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีข้อสำคัญ คือ ต้องจดก่อนที่เราจะมีการเผยแพร่สินค้านั้นๆ ออกไปอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากทำการเผยแพร่ออกไปแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับมาจดภายหลังได้ ซึ่งหากคิดว่าไอเดียหรือสินค้านั้นๆ ถ้าทำออกมาแล้ว ต้องขายได้แน่นอน ควรไปดำเนินการจดเอาไว้ก่อน เพื่อให้ได้การคุ้มครองจากกฎหมาย

               

     

     2.สื่อสารให้รู้ว่าเป็นเจ้าแรก
เมื่อเราพยายามคิดค้นออกมาเป็นเจ้าแรกๆ แล้ว เราต้องพยายามสื่อสารออกไปให้คนอื่นรู้ด้วยว่า เรา คือ คนแรกๆ ที่ทำงานแบบนี้นะ มีรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์แบบนี้นะ ควรออกสื่อให้มาก เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นเราก่อน เพราะหากให้คนที่ก๊อปปี้เราชิงตัดหน้าออกไปก่อน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดตามมาได้
          

     

     3.พัฒนาสินค้าให้สมกับเป็นงานออริจินัล ในเมื่อเราเป็นคนแรกที่ทำออกมา งานของเราย่อมต้องดีกว่าคนที่ทำเลียนแบบหรือทำตามมาทีหลังเสมอ ฉะนั้นอย่าละเลยในการพัฒนาตนเอง หมั่นศึกษาคู่แข่งในตลาด อย่าปล่อยให้เขาแซงหน้าเราไปได้ พยายามปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเราจะกลายเป็นคนที่เดินนำหน้าคนอื่นอยู่ 1 ก้าวเสมอ



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024