The Next War พลิกเกมสู้ศึกครั้งใหม่อี-คอมเมิร์ซไทย

Text : กองบรรณาธิการ




Main Idea
 
  • ทุกพื้นที่ในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยคู่แข่งมหาศาล ปี 2561 มีรายการสินค้าบนโลกออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 75 ล้านรายการ มากขนาดไหนคิดง่ายๆ ต้องใช้เวลาถึง 12 ปี! จึงจะดูสินค้าครบทุกรายการแบบไม่หลับไม่นอน
 
  • คาดว่าปี 2562 สินค้าในอี-มาร์เก็ตเพลสใหญ่ๆ ในไทยจะเพิ่มเป็นกว่า 100 ล้านรายการ แพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่เคยใช้เพื่อความสนุกความบันเทิง จะแห่มาทำออนไลน์ช้อปปิ้ง จนเกิดเป็นสงครามแย่งชิงเวลาที่ใครยึดลูกค้าไว้ได้นานที่สุดคนนั้นก็ชนะ!!




     ณ วันนี้ ถ้าอยากนำสินค้าไปปรากฏตัวบนโลกออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจอกับคู่แข่งมหาศาล สินค้าคุณภาพต่ำที่เคยตั้งราคาสูงเกินจริงวันนี้จะยังทำตลาดได้หรือไม่ การทำตัวเป็นคนกลางไปหาสินค้าจากจีนจากประเทศต่างๆ เข้ามาขาย วันนี้จะยังอยู่ได้ไหมเมื่อแบรนด์มากมายสามารถเข้ามาทำตลาดได้เองโดยไม่ต้องผ่านใคร จากยุคที่ผู้บริโภควิ่งหาสินค้า ผ่านสู่ยุคที่สินค้ามากมายไหล่บ่าเข้าหาผู้บริโภคแบบถึงเนื้อถึงตัว และตัดสินใจได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก เช่นนี้ผู้ค้าออนไลน์ต้องปรับตัวรับมือกับเกมรบใหม่นี้อย่างไร
 

     ที่สำคัญเกมนี้ไม่มีสูตรให้รบ ไม่มีแผนการที่ดีที่สุด ทุกอย่างพร้อมเปลี่ยนแปลงในทุกวินาที โดยไม่มีใบอนุญาตเห็นใจให้คนอ่อนแอ ถ้าไม่ปรับตัวก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกบีบตกขอบสนามไปได้ง่ายๆ




ถนนทุกสายมุ่งสู่อี-คอมเมิร์ซ


     ภายในปี 2020 คนไทย 84 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 59 ล้านคน จะเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ ขณะที่ทุกวันนี้พลเมืองไทยใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตสูงเฉลี่ยถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน กับกิจกรรมคือ โซเชียลมีเดีย บันเทิง ช้อปปิ้ง อีเมล์ ค้นหาข้อมูล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน (ข้อมูล ณ ปี 2561 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA) ETDA ยังคาดการณ์ต่ออีกว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ปี 2561 ที่ผ่านมา จะมีมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโตถึง 8 เปอร์เซ็นต์
เพราะตัวเลขการเติบโตที่ดูหอมหวานนี้ เลยดึงดูดให้ถนนทุกสายมุ่งสู่อี-คอมเมิร์ซ เกิดเป็นการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาหลายเท่า 
 
 


สินค้ามหาศาลไหลบ่าสู่น่านน้ำอี-คอมเมิร์ซ


     3-4 ปีก่อน หลายคนอาจเคยร่ำรวยจากการขายออนไลน์ในชั่วข้ามคืน ทว่าวันนี้กลับมีแต่เสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ว่า ขายยาก พอจะลงโฆษณากระตุ้นตลาด ก็ต้องทุ่มเม็ดเงินสูงขึ้น แต่ผลตอบรับกลับไม่หอมหวานเหมือนอดีต โหดร้ายไปกว่านั้นคือมีคนมาทำแบบเดียวกัน มีสินค้าใหม่ๆ เข้ามาแข่งขัน ไม่ใช่แค่สินค้าของผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่คือมวลมหาผลิตภัณฑ์ที่แห่แหนกันมาจากทั่วโลก
ไพรซ์ซ่า ให้ข้อมูลว่า เฉพาะสินค้าที่วางขายในอี-มาร์เก็ตเพลสชั้นนำในประเทศไทย อย่าง Shopee, Lazada และ JD Central พบว่ามีสินค้ารวมกันถึงกว่า 75 ล้านรายการ (ณ ปี 2561) เทียบง่ายๆ ว่า ถ้าต้องดูรายการสินค้าครบทุกรายการแบบไม่หลับไม่นอน ต้องใช้เวลานานถึง 12 ปี! ขณะที่ในปี 2562 ก็คาดว่า สินค้าในอี-มาร์เก็ตเพลสใหญ่ๆ ในไทยจะเพิ่มเป็นกว่า 100 ล้านรายการ แล้วสินค้า SME ไทยจะไปแทรกอยู่ตรงมุมไหน ในเมื่อโปรดักต์ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ คือสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โดยเป็นสินค้าเกี่ยวกับกีฬาและกิจกรรมกลางแจ้ง (Sport & Outdoor) 84 เปอร์เซ็นต์ สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง 83 เปอร์เซ็นต์  นาฬิกา แว่นตา และจิวเวลรี่ที่  82 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าแค่ 3 หมวดนี้ 8 ใน 10 คือผู้ขายจากต่างประเทศ
ส่วนที่ผู้ประกอบการไทยยังพอเข้าไปแทรกได้บ้าง เพราะไม่ค่อยมีผู้ค้าต่างชาติมากนัก นั่นคือ กลุ่มอุปโภคบริโภค และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) เป็นต้น
 




ออนไลน์ไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องเป็น Omni-Channel


     ในปี 2562 นี้ แพลตฟอร์มใหญ่ๆ ในประเทศไทย ต่างพยายามเปิดบริการใหม่ๆ ที่สนับสนุนการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นแปลว่าผู้บริโภคสามารถช้อปปิ้งออนไลน์ได้ในหลากหลายช่องทางขึ้น จากเดิมที่อาจจำกัดอยู่แค่เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือ อี-มาร์เก็ตเพลส แต่วันนี้จะมีช่องทางใหม่ๆ ที่สนับสนุนอี-คอมเมิร์ซ มากขึ้นนั่นคือเหตุผลที่ Omni-Channel จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
แบรนด์ H&M ที่ประเทศจีน ที่ใช้กลยุทธ์ Omni-Channel อย่างจริงจัง โดยมีสาขาทั้งหน้าร้านออฟไลน์ มีเว็บไซต์ออนไลน์ H&M ใช้กลยุทธ์การตลาดออนไลน์หลากหลายช่องทางเพื่อผลักดันคนให้เข้าสู่ช่องทาง อี-คอมเมิร์ซของตัวเอง โดยมี H&M CLUB เป็นฐานข้อมูลลูกค้าและเป็นหัวใจของธุรกิจเลยก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อคนมาซื้อไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ข้อมูลจะถูกเชื่อมต่อเข้าสู่ H&M CLUB จึงสามารถหลอมรวมประสบการณ์ในการซื้อสินค้าไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ให้เป็นประสบการณ์เดียวกันได้
 

บทสรุป  


     วันนี้การแข่งขันในสนามอี-คอมเมิร์ซไทยรุนแรงขึ้นทุกขณะ แต่ผู้เล่นที่อยู่ในสนามต่างเชื่อมั่นเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นกราฟขาขึ้นที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยหากเทียบกับอายุมนุษย์ มองว่าอี-คอมเมิร์ซไทยวันนี้ยังเป็นเด็กน้อยที่อยู่ในวัยกำลังเติบโต และยังโตไปได้อีกเป็นสิบๆ ปี แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจจะเจอกับความท้าทายมากขึ้น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ไม่ใช่แค่สงครามในประเทศแต่เป็นสงครามโลกที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัว โดยต้องมีสินค้าที่ดี เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น เลือกขายผ่านหลากหลายช่องทาง ไม่ยึดติดกับช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ท่องไว้ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหนก็ไปในทุกๆ ที่ที่เขาอยู่ และการสร้างฐานข้อมูลของลูกค้าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้เราสามารถต่อยอดไปสู่การขายซ้ำได้ โดยไม่ต้องหวาดหวั่นกับความไม่แน่นอนของแพลตฟอร์มต่างๆ และความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะต้องเจอในอนาคต
 

     เพื่อให้ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองในทุกสนามรบ  
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
     
 

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024