วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

TEXT : Sir. Nim

 

Main Idea

  • Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นวางแผนหยุดผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน

 

  • สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น จนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่

 

     ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมยังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนใครตั้งแต่ปี 1970 (มีอัตราผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว) จนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 1994 และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ในปี 2007 วันนี้ “ญี่ปุ่น” กำลังประสบปัญหาสัดส่วนประชากรที่ไม่สมดุลอย่างรุนแรง อัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่จำนวนผู้สูงวัยกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์ว่าในปี 2070 ญี่ปุ่นอาจเหลือประชากรเพียง 87 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 125 ล้านคน

อัตราเกิดลดลง จาก 2 ล้าน เหลือ 7 แสนต่อปี

     ล่าสุดปัญหาดังกล่าว ถูกเปิดเผยให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากการปรับตัวของ Oji Holdings หนึ่งในผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นได้ประกาศยุติการผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กทารกในเดือนกันยายนที่จะถึงในปีนี้ และมุ่งเน้นไปที่การรองรับผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตามจำนวนประชากรสูงวัยของประเทศที่เพิ่มขึ้นแทน

     โดยกล่าวว่าบริษัทในเครือ Oji Nepia ปัจจุบันมีการผลิตผ้าอ้อมเด็กจำนวน 400 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 2001 ที่เคยผลิตได้สูงสุด 700 ล้านชิ้นต่อปี เช่นเดียวกับที่ Unicharm ผู้ผลิตผ้าอ้อมรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2011 ว่ายอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของบริษัทนั้นแซงหน้าผ้าอ้อมสำหรับเด็กทารกไปแล้ว มีการคาดการณ์ว่าตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นจะเติบโตมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

     ขณะที่ล่าสุด BBC News ก็ได้ออกมารายงานว่ายอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นแซงหน้าผ้าอ้อมเด็กทารกเป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นจากจำนวนทารกที่เกิดในญี่ปุ่นลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่จำนวน 758,631 คน โดยลดลงกว่า 5.1% จากปีก่อนหน้านี้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันแล้ว (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่น) ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ในปี 1970 อัตราการเกิดของทารกในญี่ปุ่นมีมากกว่า 2 ล้านคนทีเดียว

อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรญี่ปุ่นอาจลดเหลือ 80 ล้านคน

     จากอัตราการเกิดดังกล่าวที่ลดลง โยชิมาสะ ฮายาชิ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ออกแถลงเตือนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ดังกล่าวเรียกว่าเข้าขั้น “วิกฤต" และมีเวลาเหลืออยู่ไม่มากนักที่ผู้ประกอบการจะปรับตัว

     ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ประเทศของเขาจวนจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสังคมที่สมบูรณ์ได้ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง และยังต้องต่อสู้กับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นมากกว่า 1 ใน 10 คน มีอายุ 80 ปีขึ้นไปตามข้อมูลระดับชาติ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดย 29.9% ของประชากร 125 ล้านคน มีอายุอยู่ที่ 65 ปีขึ้นไป โดยอัตราการเกิดที่ต่ำและประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อการหดตัวของประชากรญี่ปุ่นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าจะลดลงประมาณ 30% เหลือ 87 ล้านคนภายในปี 2070 (เดอะการ์เดียนรายงาน)

     โดยจำนวนประชากรที่ลดลง ได้กลายเป็นวิกฤตสำหรับญี่ปุ่น รัฐบาลมีความพยายามทุ่มทุนในโครงการจูงใจคนในประเทศให้มีบุตรมากขึ้น ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยจะได้ผล เช่นเดียวกันกับจีนเองที่พยายามนำเสนอสิ่งจูงใจต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด จากจำนวนประชากรที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเช่นกัน เหมือนกับหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ ที่กำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดของประชากรลดลงเช่นกัน

     กลับมาที่ Oji Holdings ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้บริษัทจะวางแผนเลิกผลิตผ้าอ้อมเด็กในญี่ปุ่นไปแล้ว แต่จะยังคงผลิตผ้าอ้อมเด็กในตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น

     สำหรับในบ้านเราเอง แม้จะยังไม่เกิดวิกฤตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในอีกไม่ช้า คงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เตรียมทางหนีทีไร คิดพลิกแพลงธุรกิจเอาไว้ล่วงหน้าก่อนก็ดี

ที่มา : https://www.bbc.com/news/business-68672186

https://www.businessinsider.in/retail/news/japan-is-producing-so-few-babies-that-a-leading-diaper-maker-is-pivoting-to-adults/articleshow/108825690.cms

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน