Finanace

10 กฎเหล็กเอาตัวรอดจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ

Text : วันวิสา งามแสงชัยกิจ
 
 


Main Idea
  
  • เมื่อต้องเจอภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ที่ยังไม่แข็งแกร่ง ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง
 
  • ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจสะดุดและต้องหยุดไปในที่สุด ต้องมาดูกฎเหล็ก 10 ข้อต่อไปนี้  
 
 



     ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวโดยรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แน่นอนว่าการทำธุรกิจก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME จึงควรตื่นตัวและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอถ้าไม่อยากให้ธุรกิจสะดุดและต้องหยุดไปในที่สุด แต่จะทำอย่างไรเมื่อเจอพิษเศรษฐกิจตกต่ำนั้น ต้องมาดูกฎเหล็ก 10 ข้อต่อไปนี้  
 
     1. ประเมินผลและขจัดหนี้ส่วนเกิน
         หากรายได้ที่เข้ามาลดลงย่อมหมายความว่าผู้ประกอบการ SME อาจจะไม่สามารถทำการชำระหนี้ที่มีอยู่ได้เหมือนตอนที่ยังมีรายรับที่ดีเป็นปกติ ดังนั้น ควรมีการประเมินผลและพิจารณาถึงหนี้ที่มีอยู่อย่างรอบคอบเพื่อหาทางจัดการกับหนี้ที่เป็นส่วนเกิน โดยอาจจะเป็นไปในแนวทางของการใช้การค้ำประกันเงินกู้โดยสถาบันที่สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก การจำนอง วงเงินสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งสัญญาเช่าต่างๆ
 
     2. ลดขนาดองค์กรให้เล็กลง
         เมื่อประสบกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้อยู่รอดได้คือ การปรับลดขนาดองค์กรให้เล็กลง แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนพนักงาน และเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการลดจำนวนคนลงที่ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยในส่วนนี้อาจจะต้องใช้วิธี Outsource ออกไปแทน
 
     3. ติดตามการเงินทุกวัน
         เพราะเรื่องการเงินเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ควรทำการติดตั้งระบบที่ทำการแทรคการดำเนินงานของธุรกิจ และรายงานการเงินแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ซึ่งการติดตามการเงินทุกวันนี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้เห็นว่าส่วนไหนเป็นตัวทำกำไรหรือทำให้ขาดทุนให้กับบริษัท เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนงานและกลยุทธ์ต่อไป
 
     4. ลดสินค้าคงเหลือและค่าโสหุ้ยต่างๆ
         เพื่อที่จะทำให้การเงินมีความคล่องตัวขึ้น ผู้ประกอบการ SME ควรพิจารณาว่ามีอะไรที่เป็นสินค้าคงเหลือและค่าโสหุ้ยต่างๆ บ้าง เพราะนั่นคือแหล่งที่ล็อกเงินสดเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุต่างๆ และอื่นๆ ที่ไม่ได้จ่ายบ่อยๆ โดยต้องดูว่าต้นทุนอะไรบ้างที่สามารถปรับลดได้ หรือปรับลดขนาดของสต็อกลง โดยการหาทางระบายสินค้าออกไปให้เร็วที่สุด แล้วทบทวนการบริหารจัดการสต็อกด้วยว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ช่วงเวลาไหนควรสั่งสินค้าเพิ่ม สินค้าตัวไหนต้องรีบระบาย 
 
     5. ฝึกพนักงานต่อตำแหน่งมากกว่า 1 คน
         หากงานหรือหน้าที่ใดมีพนักงานที่สามารถทำได้มากกว่า 1 คนจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมีคนใดคนหนึ่งลาออกเพราะยังมีคนที่สามารถรับช่วงต่อในการทำหน้าที่ตรงนั้นได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME จึงควรจัดอบรมและฝึกพนักงานให้มีความสามารถและทักษะที่หลากหลายเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการทำงานอยู่เสมอ การใช้วิธีนี้จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างไม่ต้องสะดุดและทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
 
     6. ทบทวนแผนการตลาด ลดการใช้จ่ายในสื่อแบบเดิมๆ
         อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกอย่างทำได้ด้วยปลายนิ้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ควรหันมาทำการตลาดผ่านออนไลน์และใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงผู้บริโภค การใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางที่จะโปรโมตสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็วกว่าการใช้สื่อแบบดั้งเดิม   
 
     7. ไม่ใช้การขายที่ไม่ได้กำไรและการลดราคา
          อย่าปล่อยให้โปรดักต์ที่มีนั้นเสียเปล่า ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายควรเพิ่มข้อได้เปรียบทางการค้าให้มีมากขึ้นด้วยการยกระดับการให้บริการ คุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์เพื่อที่จะทำให้ลูกค้าสนใจและอยากได้สินค้าโดยที่แบรนด์ไม่ต้องทำการลด แลก แจก หรือว่าแถมให้ฟรีๆ
 
     8. ขยายการเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด
         การตลาดที่ใช้ออนไลน์มาเป็นเครื่องมือจะช่วยให้ธุรกิจขยายไปได้ทุกที่ ยิ่งถ้าแบรนด์ไหนสามารถสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้แล้วนั้นยิ่งทำให้ได้ใจลูกค้ามากเท่านั้น ดังนั้น แม้จะเจอพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ต้องพยายามขยายการเข้าถึงลูกค้าโดยเฉพาะจากลูกค้าใหม่และช่องทางใหม่ๆ เช่น อาจลองหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ซึ่งต้นทุนต่ำ เป็นต้น
 
     9. บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
         การบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพในที่นี้หมายถึงการติดตามและทำการวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญต่างๆ ในการดำเนินกิจการ รายงานทางการเงินและความสามารถในการผลิตหรือผลิตภาพ เพื่อให้การทำธุรกิจเดินไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพมากขึ้น
 
     10. เน้นคุณภาพ
         แน่นอนว่าเรื่องของการคำนึงถึงคุณภาพเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องมี ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบไหนก็ต้องรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานตลอดเวลา เพราะเรื่องของคุณภาพถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้หรือใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง        
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup