Finanace

ธุรกิจเปลี่ยนมือ เรื่องธรรมดาที่ควรรู้! การ “เทคโอเวอร์” รูปแบบต่างๆ

Text : นเรศ เหล่าพรรณราย Co-founders SCN Media Pte.Ltd 




Main Idea
 
  • ปกติการเทคโอเวอร์เพื่อครอบครองตลาดหรือเพื่อช่วยให้กิจการสามารถอยู่รอดไปได้ สามารถทำได้หลายรูปแบบหลาย
 
  • พาไปทำความเข้าใจกันว่าการเทคโอเวอร์หรือรวมกิจการมีรูปแบบใดบ้าง
 



     ในโลกของสตาร์ทอัพมักจะได้ยินเรื่องของการ “เทคโอเวอร์” หรือควบรวมกิจการ (M&A) กันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์เพื่อครอบครองตลาดเพิ่มเติมหรือเพื่อช่วยให้กิจการสามารถอยู่รอดไปได้ เรามาดูกันว่าการเทคโอเวอร์หรือรวมกิจการมีรูปแบบใดบ้าง
 

     1.เทคโอเวอร์กิจการทั้งหมด

         เป็นเคสที่เกิดขึ้นโดยองค์กรที่มีขนาดใหญ่กว่าเข้ามากลืนกิจการที่มีขนาดเล็กกว่าไปทั้งหมด จุดประสงค์เพื่อที่จะได้ครอบครองทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้า ตราสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา พนักงาน ฯลฯ โดยองค์กรที่ขนาดใหญ่กว่าจะได้สิ่งเหล่านี้ไปทั้งหมดเพื่อที่จะต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่หรืออาจทำเพื่อเป็นการสะกัดกั้นคู่แข่งหน้าใหม่ที่กำลังจะขึ้นมาแข่งขัน

         กรณีการเทคโอเวอร์แบบนี้อาจเกิดได้ทั้งในเคสที่องค์กรที่ขนาดเล็กกว่ากำลังประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้เปิดโอกาสที่องค์กรใหญ่กว่าจะเข้ามาอุ้มกิจการ หรืออาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ผู้ก่อตั้งหรือผู้ถือหุ้นตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดเพื่อที่จะ Exit และแปลงสภาพตัวเองเป็นลูกจ้างในองค์กรใหญ่แทน

         เคสการเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมดนี้ที่โด่งดังคือการที่ Facebook ตัดสินใจเทคโอเวอร์กิจการ Instagram ที่ตอนนั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อนำโปรดักต์ที่มีมาต่อยอดกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่
 

     2.เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ

         เคสนี้เป็นการเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ 25% ขึ้นไปขององค์กรขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากตามกฎหมายถือว่าการถือหุ้นในระดับดังกล่าวถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อกิจการ เช่น สามารถแต่งตั้งกรรมการเข้าไปนั่งในบริษัทที่เข้าถือหุ้นได้หรือมีอำนาจในการตัดสินใจทางธุรกิจบางส่วน 

         กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการ Synergy ทางธุรกิจกับองค์กรที่มีขนาดเล็กกว่า เช่นอาจจะมีโปรดักต์หรือบริการที่ต่างกันเล็กน้อยและสามารถที่จะเกื้อหนุนกันได้ จึงเข้ามาถือหุ้นบางส่วนเพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ แต่ไม่ได้ต้องการที่จะเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมด

         ตัวอย่างของเคสดังกล่าวเช่น Tencent ที่ถือหุ้นใน Garena ซึ่งเป็นบริษัททางด้านเกมส์ E-Sport ในสัดส่วน 40% เพื่อสร้างความร่วมมือในด้านธุรกิจเกมส์ แต่ไม่ได้ถือหุ้นทั้งหมด
 

     3.ถือหุ้นในสัดส่วนคนละครึ่ง

         เป็นดีลที่มักเกิดกับสององค์กรที่มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกันที่ตัดสินใจควบรวมกิจการกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจเพิ่มเติม แม้สินค้าและบริการอาจจะใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันทั้งหมด น้อยครั้งจะได้เห็นการควบรวมกิจการระหว่างสององค์กรที่มีโปรดักต์ต่างกันอย่างชัดเจนและรวมกันเพื่อ Synegy อย่างสมบูรณ์แบบ

         การควบรวมกิจการรูปแบบนี้อาจจะเกิดในกรณีที่สององค์กรกำลังประสบปัญหาทางธุรกิจจึงจำเป็นต้องรวมกันเพื่อที่จะให้ธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้ รูปแบบการถือหุ้นมีตั้งแต่สัดส่วน 50:50 หรือ 51:49 

         ตัวอย่างการควบรวมกิจการรูปแบบนี้เช่นดีลล่าสุดที่ Wongnai ควบรวมกับ Lineman ซึ่งทั้งสองต่างเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันอยู่แล้วแต่ในช่วงที่ไวรัสโควิดส่งผลกระทบทางธุรกิจ จึงเป็นเหตุตัดสินใจให้สององค์กรควบรวมกันเพื่อนำจุดแข็งของสองฝ่ายมารวมกัน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup