Finanace

นารถนารี รัฐปัตย์ M.D. ธพว. แนะวิธีเติมทุนตุนความรู้เข้าสู่อีคอมเมิร์ซผ่านสินเชื่อ Extra Cash




Main Idea
 
  • โควิด-19 ยังคงอยู่และไม่รู้ว่าจะอยู่อีกนานแค่ไหน ในสถานการณ์เช่นนี้ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ SME
 
  • มาพร้อมแนวคิด “เติมความรู้คู่ทุน” ให้ทั้งเงินทุนและสนุนขยายตลาดเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง
 
 


     ในขณะที่สภาพคล่องที่หล่อเลี้ยงธุรกิจกำลังเหือดแห้งลงไปทุกที แต่โควิด-19 ยังคงอยู่และไม่รู้ว่าจะอยู่อีกนานแค่ไหน คงไม่ต้องบอกว่าผู้ประกอบการ SME จะได้รับผลกระทบเพียงใด ซึ่งในยามปกติเงินทุนก็เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ SME อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก การขาดสภาพคล่อง ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น เมื่อต้องมาเจอกับวิกฤตโควิด-19 อีก ผู้ประกอบการ SME จึงได้รับผลกระทบอย่างมากมาย  
           

     “เราไม่อยากให้ธุรกิจ SME สะดุดหรือหยุดชะงัก อยากให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ ดังนั้น แนวคิดการให้ความช่วยเหลือจะดูว่าช่วงนี้ธุรกิจยังไปได้ดีอยู่หรือไม่ และต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถประคองไปให้ได้ถึงปีหน้าหรือจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น”
 




     ประโยคบอกเล่าถึงความตั้งใจของ นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่สะท้อนถึงปัญหาของผู้ประกอบการ SME และการเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในหลายมาตรการ โดยเฉพาะ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash ที่ถูกออกแบบมาอย่างเข้าใจถึงปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจของ SME
 

     ถ้าตั้งโจทย์ว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเรา สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ SME ในเรื่องของสภาพคล่อง นั่นเท่ากับช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากพิจารณารายละเอียดของสินเชื่อ จะเห็นว่าเป็นสินเชื่อแบบใหม่ที่ช่วยผู้ประกอบการขนาดย่อมได้โดยตรง เนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจภาคการผลิต มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ภาคการค้าและบริการ มีการจ้างงานไม่เกิน 30 คน หรือรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ ช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียน หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจได้
 




     ทั้งนี้ ที่น่าสนใจสำหรับสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash คือ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีจุดเด่นตรงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ หากเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดา คิดอัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ใน 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR+2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ใน 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR+1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นที่พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
 

     “สมัยก่อนเวลาขอสินเชื่อต้องถามว่าขายได้เท่าไร หักต้นทุนแล้วเหลือกำไรเท่าไร อนาคตจะขายได้เพิ่มอีกเท่าไร ถ้าให้เงินไปต้องได้คืนเท่าไร แต่วันนี้ขอแค่ธุรกิจไม่ให้หยุดชะงัก เราจะหล่อเลี้ยงธุรกิจไปเรื่อยๆ จนเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น”
 




     อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทุนใหม่ช่วยเติมสภาพคล่อง แต่อีกด้านหนึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ หากผู้ประกอบการไม่หยุดนิ่งและปรับตัว ในการนี้ นารถนารีบอกว่า เมื่อไม่สามารถขายได้ด้วยวิธีเดิม ก็ต้องหาลู่ทางใหม่เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยแนวคิด “เติมความรู้คู่ทุน” นอกเหนือจากเงินทุนของ SME D Bank ยังให้การสนับสนุนขยายตลาด โดยผลักดันเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังต่างๆ เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE, JD Central เป็นต้น   
 

     “ท้ายที่สุดเรื่องเงินอาจจะเป็นเรื่องลำดับที่ 2 ของธุรกิจ จริงๆ แล้วธุรกิจต้องมีรายได้ต้องสามารถขายสินค้าหรือบริการได้ สิ่งที่เราทำควบคู่กันไปกับการช่วยเหลือทางการเงินก็คือ มุ่งเน้น Upskill-Reskill ช่วยในการปรับเปลี่ยนวิธีขายจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ มีการสอน มีคู่มือ ถ้าเข้าไปขายในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ฟรีค่าธรรมเนียมให้ในช่วงแรก โดยในช่วงโควิด-19 เราสามารถ Upskill-Reskill ผู้ประกอบการ SME รวมทั้งหมดกว่า 6,000 ราย และไม่ใช่แค่นี้ เรายังทำให้ในเชิงลึกด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น สถาบันต่างๆ มหาวิทยาลัย หากผู้ประกอบการ SME ต้องการพัฒนาด้านใดเพิ่มเติม เราจะทำตัวเป็นผู้เชื่อมโยงพาไปหาเหล่าพันธมิตรเพื่อให้ปรึกษาต่อไป”
               

     ณ วันนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของความท้าทายที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญ หลายคนตั้งคำถามว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อเดินหน้าต่อไปได้ นารถนารีจึงให้คำแนะนำว่า 1.ต้องปรับตัวเร็ว ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา 2.รักษาสภาพคล่องทางการเงินให้ได้ สินค้าค้างสต็อกที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ ให้แปลงเป็นเงินสด เพื่อรักษาสภาพคล่องมีเพียงพอ และ 3.หาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งมีหน่วยงานรัฐที่พร้อมเข้ามาช่วยเติมเต็ม รวมถึงให้คำปรึกษาเพื่อที่ผู้ประกอบการ SME จะปรับเปลี่ยนให้ทันกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup