Finanace

ไขข้อสงสัย 3 แนวทางประเมินมูลค่าของสตาร์ทอัพ

 

Text : Nares Laopannarai

     การประเมินมูลค่าของสตาร์ทอัพเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอยู่เสมอ เนื่องจากการเป็นกิจการที่ขนาดยังไม่ใหญ่มากหรือยังไม่มีผลประกอบการที่พิสูจน์ตัวเองได้ชัดเจน ทำให้ไม่มีสูตรที่ชัดเจนในการประเมินมูลค่า อย่างไรก็ตามนักลงทุน VC ยังพอที่จะมีวิธีประเมินมูลค่าของกิจการได้ด้วย 3 แนวทางได้แก่

     1. ใช้ Discount Cash Flow คำนวนมูลค่า

         วิธีการนี้จะประเมินมูลค่าโดยใช้คาดการณ์ตัวเลขผลประกอบการ เช่น รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาคำนวนเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ภายใต้ความคาดหวังว่ามูลค่ากิจการในปัจจุบันจะสามารถเติบโตได้อีกในอนาคตหากได้รับเงินทุนเข้ามา

         วิธีการดังกล่าวมีข้อดีคือสามารถเห็นตัวเลขมูลค่าที่ชัดเจนและสามารถที่จะพิสูจน์ได้ภายใต้สูตรการคำนวนที่ค่อนข้างจะเป็นสากล อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อเสียคือ Discount Cash Flow เป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่ใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทที่มีงบการเงินซึ่งมีระเบียบแบบแผนแล้ว แต่กับสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีงบการเงินที่สมบูรณ์หรือยังขาดทุน อาจจะทำให้การประเมินคลาดเคลื่อนได้ 

         รวมถึงการคาดการณ์ตัวเลขผลประกอบการในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จึง อาจทำให้มูลค่ากิจการสูงหรือต่ำกว่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน

     2. เปรียบเทียบกับธุรกิจประเภทเดียวกัน

         อีกหนึ่งวิธีซึ่ง VC นิยมใช้ประเมินมูลค่ากิจการก็คือการนำกรณีของการระดมทุนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกันมาเทียบเคียงกัน เช่น ธุรกิจ Delivery ที่อยู่ในต่างประเทศถูกนำมาเป็นต้นแบบในการประเมินมูลค่าของธุรกิจประเภทเดียวกันในประเทศไทย โดยอาจจะลดหรือเพิ่มมูลค่าได้ตามขนาดของกิจการที่ต่างกัน

         วิธีการดังกล่าวมีข้อดีคือมีตัวเปรียบเทียบที่มีความใกล้เคียงกันทำให้เห็นภาพชัดเจนของการระดมทุน แต่มีข้อเสียคือถ้าหากไม่มีกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเนื่องจากเป็นธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ก็อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ รวมถึงการเปรียบเทียบกิจการกันตรงๆ อาจจะไม่สามารถเทียบมูลค่ากันได้ 100% เนื่องจากโครงสร้างภายในกิจการของแต่ละรายอาจจะไม่เท่ากันแม้จะทำธุรกิจเดียวกันก็ตาม เช่น บางรายอาจจะมีธุรกิจอื่นๆ อยู่ในตัวหรือมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ต่างกัน

     3. มูลค่ากิจการคาดหวังในอนาคต

         วิธีการนี้ VC  จะมีบทบาทมากที่สุดเนื่องจากจะไม่ใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาประเมินมูลค่าแต่จะใช้มูลค่าของการที่ VC จะได้กำไรจากการขายหุ้นเพื่อ Exit ในอนาคต คำนวนกลับมาเป็นมูลค่ากิจการในปัจจุบัน

        แนวทางนี้อาจจะมีความรวดเร็วในการคำนวนมูลค่าเนื่องจากใช้เพียงแค่ปัจจัยภายในของกิจการและการตัดสินใจของ VC แต่ข้อเสียคือการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ VC ทำให้การประเมินมูลค่าอาจจะผิดพลาดได้

         ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหนก็ตามการประเมินมูลค่าของสตาร์ทอัพถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ไม่มีสูตรตายตัวและมีโอกาสที่จะผิดและถูกได้เสมอ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำแน่นอนคือมุ่งมั่นกับการสร้างกิจการให้แข็งแกร่งเพื่อที่จะได้รับการประเมินมูลค่ากิจการจาก VC ให้ได้ตัวเลขสูงสุด

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup