Q-Life

วังกรด...เรื่องเล่าริมลำน้ำน่าน

Text : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร Photo : ธนดิษ ศรียานงค์




    หอนาฬิกาเล็กๆ วางตัวเป็นวงเวียนให้ความเคลื่อนไหวในยามเช้าที่วังกรดค่อยเป็นค่อยไป มันคล้ายแลนด์มาร์กหนึ่งในไม่กี่อย่างของย่านการค้าโบราณแห่งนี้ ยามเช้าเงียบสงบ หลังพระสงฆ์จากวัดวังกลมคล้อยหลังจากย่านบ้านเหนือ รถไฟเที่ยวล่องเงียบเสียง ย่านเก่าที่มีชีวิตจริงแท้ ไร้การปรุงแต่ง ก็ดำเนินไปเหมือนทุกคืนวัน
 
     “แต่ก่อนวังกรดนี่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้า บ้านเรือนเราคึกคักตั้งแต่ตีสามตีสี่โน่น ตลาดติดแล้ว” บรรจง พิจิตรวิไลเลิศ เล่าระบายยิ้ม คืนวันเก่าๆ เหมือนจะเต็มไปด้วยความแจ่มชัด หากใครย้อนนึกถึงมัน จริงๆ มันเริ่มมาตั้งแต่ยุคเตี่ยของพี่บรรจง ชายชราที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์จีนทุกเช้าในห้องแถวแถบบ้านเหนือ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นชุดห้องแถวที่สร้างขึ้นในยุคหลังตลาดดั้งเดิมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย มันทอดยาวจากตามถนนเทศบาลจากบ้านเหนือไปบ้านใต้ โดยมี “ซอยกลาง” ซอยเทศบาล 9 เป็นถิ่นฐานเก่าแก่แต่แรกเริ่ม
 
     วังกรดนั้นเป็นชื่อเรียก 1 ใน 4 ของตลาดริมน้ำน่านแสนมีเสน่ห์แห่งนี้ จากแต่เดิมกว่าร้อยปีที่เริ่มมีผู้คนมาปักหลักอาศัยในชื่อบ้านท่าอีเต่า การก่อร่างปรับเปลี่ยนไปตามการปกครอง สู่บ้านบุ่งอันเป็นชื่อตำบล และที่เป็นชื่อติดปากผู้เฒ่าผู้แก่ในชื่อวังกลม ก็ด้วยตรงคุ้งน้ำหน้าหมู่บ้านในแม่น้ำน่านนั้นหมุนวนเป็นวงกลม ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามชื่อสถานีรถไฟ ด้วยเพราะชื่อวังกลมไปซ้ำกับชื่อสถานีหนึ่งในภาคอีสาน สู่การเป็น “วังกรด” เมื่อปี พ.ศ. 2451 ต่อเนื่องมายาวนาน
 
     “คนเก่าคนก่อนเขาเรียกวังกลมติดปากนั่นล่ะ” สมัยที่บรรจงเคยเป็นกำนันบ้านวังกรด เขาเล่าว่า เอกสารโบราณที่สืบค้นได้นั้นบ่งบอกว่ามีคนมาอยู่ที่วังกรดเริ่มต้นเพียง 8 คน “ตอนนั้นในโฉนดเห็นเลยว่าหมู่บ้านนี้ติดน้ำ 3 ด้าน อีก 1 ด้านเป็นป่าทึบ”
 
     การเดินทางในอดีตนำพาผู้คนให้มาทำมาหากินและตั้งชุมชนที่วังกรด แม่น้ำน่านเป็นเส้นทางหลัก การล่องเรือขึ้นเหนือพาพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนมาสู่บ้านวังกรด พวกเขาตั้งบ้านเรือนและค้าขายกันในยุคเริ่มแรก ก่อนที่การเกิดสถานีรถไฟวังกลมจะเปลี่ยนภาพหมู่บ้านริมคุ้งน้ำให้กลายเป็นย่านตลาด โดยผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งคือ หลวงประเทืองคดี คหบดีผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่วังกลมในอดีต หลวงประเทืองคดีและเหล่าชาวบ้านร่วมกันเริ่มสร้างตลาดขึ้น จนวังกลมกลายเป็นย่านซื้อ-ขายที่สำคัญของพิจิตร กล่าวกันในยุคสมัยนั้นว่า วังกลมเจริญกว่าพิจิตรเสียอีก

 
     ด้วยพิกัดที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำและทางรถไฟมากกว่าตัวเมืองพิจิตร ทำให้วังกลมกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายสินค้าของผู้คนทั้งจากตัวเมืองและอีกหลากหลายพื้นที่รายรอบ ตลาดที่หลวงประเทืองคดีและชาวบ้านร่วมกันสร้างนั้นหันหน้าชนซอยเทศบาล 9 หรือ “ซอยกลาง” ในปัจจุบัน แต่ละห้องแถวไม้เรียงรายด้วยร้านค้านานาชนิดๆ ตั้งแต่ร้านขายของเบ็ดเตล็ด เครื่องมือประมง อาหาร ร้านทอง ร้านเย็บผ้า ร้านขายยาแผนโบราณ ฯลฯ
 
     “แต่ก่อนหน้าซอยกลางเต็มไปด้วยขบวนเกวียน ทั้งพ่อค้าย่อย คนมาหาซื้อข้าวของ ทุกอย่างที่นี่เรียกว่าขายดีหมดล่ะ เวลาคนเขาจะกลับนะ เสียงกระดึงผูกคอวัวดังไปทั่วตลาด” บรรจงรำลึกความหลังครั้งยังเด็ก เขาว่าตรงหน้าซอยกลางเต็มไปด้วยคนจากสากเหล็ก วังทรายพูน และที่มาไกลก็คนแถบบ้านมุง ในเขตอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบัน
 
     รถไฟนำทั้งความเจริญและการติดต่อกับโลกภายนอกมาสู่บ้านวังกรด ทว่าแม่น้ำน่านก็เป็นอีกทางหนึ่งที่นำพาสินค้าและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาให้คนรุ่นบรรพบุรุษของพวกเขามาเนิ่นนานไม่ต่างกัน ว่ากันว่าตรงท่าน้ำริมแม่น้ำน่านนั้น ทั้งเรือเมล์เขียว เมล์แดง เรือเร่ขายของที่พวกเขาเรียกกันว่า “เรือฮ้วยจุ๊ง” นั้นจอดเรียงรายตั้งแต่รุ่งเช้า ยังมีเรือมอญที่นำพาสินค้าจากภาคกลางขึ้นมา ห้วงยามนั้นยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ คนวังกรดต้องใช้สลิงโยงข้ามฝั่งในการขนถ่ายสินค้า หรือเอาจักรยานขึ้นเรือข้ามฟากแม่น้ำและปั่นต่อไปในตัวเมืองพิจิตร
 
     ความเฟื่องฟูของตลาดวังกรดดำเนินไปควบคู่กับอาคารบ้านเรือนที่เหยียดขยาย จากเพียงแค่ในซอยกลาง แผ่ขยายออกไปตามวันเวลา หากเอาหอนาฬิกาบ้านวังกรดเป็นจุดหลัก ถนนเทศบาลที่ลากยาวตั้งแต่บ้านเหนือจดบ้านใต้นั้นเรียงรายโอบล้อมอยู่ด้วยเรือนแถวไม้สองชั้นอันเป็นห้องแถวไม้จากแบบของการรถไฟฯ มีรูปทรงและสัดส่วนเหมือนกันหมด ส่วนที่เก่าแก่สมัยตั้งต้นชุมชนนั้นอยู่ในซอยกลาง เรียงรายเป็นแถวแนวไปจดแม่น้ำน่าน ส่วนซอยเทศบาล 11 หรือ “ซอยโรงหนัง” ที่อยู่ข้างๆ ซอยกลางนั้น เป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวเป็นส่วนใหญ่ และต่างก็เก็บงำอดีตการค้าของวังกรดไว้ในความเก่าคร่ำเช่นเดียวกัน

 
     “สะพานข้ามแม่น้ำและถนนนั่นล่ะ ทำให้วังกรดซบเซาลง” เฒ่าชราสักคนสรุปเอาเองเช่นนั้น แต่มันก็สอดคล้องกันกับช่วงเวลาที่ตลาดแห่งหนึ่งได้ผันผ่านทั้งเฟื่องฟูและราโรย การคมนาคมที่สะดวกทำให้คนรายรอบเดินทางข้ามแม่น้ำไปสู่อำเภอเมืองฯ ได้ง่ายขึ้น จากที่คนเมืองต้องถ่อมากินก๋วยเตี๋ยว ซื้อข้าวซื้อของที่วังกรด กลับกลายเป็นด้านตรงกันข้าม ลูกหลานบางคนก็โยกย้ายไปร่ำเรียน ไปทำงานต่างถิ่น หลงเหลือเพียงเรือนแถวไม้ทอดยาวเรียงรายพร้อมอดีตที่ตกทอดอยู่ในอาคารไม้และความทรงจำของคนที่ยังอยู่กับมัน
 
     ซอยกลางจากที่เคยคึกคักกลับกลายเป็นบ้านอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การรถไฟฯ มีนโยบายจัดการพื้นที่ตลาดวังกรดให้เป็นระเบียบมากขึ้น ห้องแถวไม้สองชั้นที่ทอดขนานจากบ้านเหนือและบ้านใต้ที่สร้างโดยการรถไฟฯ แทนแผงตลาดในอดีตดึงคนออกมาจากซอยกลางหลายหลัง บ้านเรือนเปลี่ยนมือ ทว่าก็ยังเวียนวนอยู่ในกรรมสิทธิ์ของคนวังกรดไม่เปลี่ยนแปลง

 
      เราเดินเลาะกันไปตามแนวอาเขต บานประตูหรือฝาบ้านแต่ละหลังดูซีดเซียว แต่ก็เต็มไปด้วยเค้าความโอ่อ่า จินตนาการถึงคืนวันรุ่งเรืองได้ไม่ยาก ผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่ห้องหมายเลข 43 ห้องแถวที่ด้านในจัดแสดงเครื่องใช้และโมเดลจำลองชุมชนวังกรด ทั้งหมดจัดทำโดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมครั้งมีการศึกษาและฟื้นฟูด้านสถาปัตยกรรมชุมชนหลายปีมาแล้ว 
 
     “จริงๆ วังกรดเจริญมากในยุคผู้ว่าฯ แสวง สีมะเสริม นะผมว่า” ลุงธีระ ตาบทิพย์วัฒนา ยังคงหันหน้าเข้าหาหยูกยาสมุนไพรไว้สำหรับลูกค้าเก่าๆ เป็นประจำ ร้านสมบูรณ์โอสถในห้องแถวเลขที่ 33 หลังนี้ก็เช่นกัน ตู้ลิ้นชักยาเต็มผนังที่เขียนป้ายสมุนไพรต่างๆ เป็นมันวาว บ่งบอกการใช้งานที่ไม่เคยทิ้งร้าง มันหลุดรอดจากพ่อค้าของเก่ามาด้วยร้านยาเก่าแก่แห่งหนึ่งไม่ขาดห้วงคนดูแล “แต่ก่อนใครก็มาซอยกลาง มาวังกรด เดี๋ยวนี้น่ะ ต้อง ‘นอนขาย’ กันเลยทีเดียว ใครจะซื้อก็มาปลุก” ลุงธีระพูดติดตลก แต่มันหมายความถึงเหลือห้วงเวลาอีกไม่มากแล้ว สำหรับการค้าโบราณที่อยู่คู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
 
     ซอยกลางเปิดเผยภาพแห่งคืนวันผ่านถ้อยคำของผู้ที่ยังอยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่คือเหล่าคนเฒ่าคนแก่ที่ต่อสู้จนพอมีฐานะ ลูกหลานไม่ไปเติบโตทำงานที่กรุงเทพฯ ก็มักโยกย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่อื่นๆ หลงเหลือเพียงเมื่อบานประตูบานเฟี้ยมของแต่ละหลังเปิดออก มันจะฉายชัดอยู่ด้วยอิริยาบถของผู้คนและข้าวของเครื่องใช้โบราณที่ตกทอดกันมา
 
 
     สุดซอยกลางชนแม่น้ำน่าน หากเลี้ยวซ้ายจะนำพาไปสู่ ศาลเจ้าพ่อวังกลม อันเป็นที่เคารพนับถือของคนวังกรด ที่จะต่อออกไปยังซอยเทศบาล 7 หรือ “ซอยศาลเจ้า” ซึ่งเมื่อเราเดินเลาะกันต่อไป เรือนแถวไม้ชั้นเดียวชำรุดโทรมหลายห้องก็บ่งบอกถึงคืนวันอันผ่านพ้น ไม่มีสิ่งใดคงทนต่อหน้าวันเวลา
 
     “ตรงริมน้ำนี่แต่เดิมไม่ใช่แบบนี้นะ เรียกว่าเนืองแน่นเลยล่ะ ทั้งสินค้า โรงยาฝิ่นตรงที่ร้างโน่น โรงแรมสุขเสมอตั้งอยู่ในส่วนที่เป็นน้ำ ตลิ่งมันพังไปหมดละ” สกุล กัลยาณวิสุทธิ์ หรือที่คนวังกรดชินปากว่า เฮียฮ้อ เล่าพลางพาเราเดินเลาะแม่น้ำน่าน จากศาลเจ้าพ่อย้อนเข้ามาสู่ซอยเทศบาล 11 ซอยโรงหนังที่ใครต่อใครมักไม่พลาดหากได้มาถึงวังกรด
 
     ตรอกเล็กๆ แห่งนั้นกลับไปเชื่อมโยงกับทางหน้าตลาด มันเงียบเชียบเสียยิ่งกว่าซอกซอยใดในวังกรด เรือนแถวไม้แบบชั้นเดียวทอดยาวไปจนประชิดโรงหนังโบราณ ที่แต่เดิมคนวังกรดและผู้คนหลากหลายใช้เป็นอีกหนึ่งแหล่งบันเทิงเริงรมย์
 
     “หน้าโรงหนังนี่ของกินมากมาย คนขวักไขว่ สมัยนั้นนอกจากลิเก งิ้ว ก็มีหนังนี่ล่ะ ที่ดึงคนจากที่อื่นให้มาวังกรด” ลูกหลานวังกรดเองก็ไม่เคยลืมหมูสะเต๊ะของเฮียฮ้อ ลูกชายของตั้งเต๊กไต๋คนนี้มีฝีมือและได้สูตรมาจากพี่สาว “ขายตั้งแต่ปี 2500 โน่น หลังๆ เฮียขายเฉพาะงานงิ้วช่วงศาลเจ้าทำบุญ แต่เลิกละ เดี๋ยวนี้ค่าโสหุ้ยต่างๆ มันแพง”
 
     เฮียฮ้อไขกุญแจและแหวกบานเฟี้ยมเขรอะฝุ่นออกให้แสงลอดเข้าไปในโรงหนังมิตรบรรเทิง ด้านในก่ายกองด้วยข้าวของปนเป ทั้งที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ก็เป็นเก้าอี้ โต๊ะ รถเข็นที่ใครต่อใครต่างเอามาฝากไว้ “แต่ก่อนหนัง 16 มม. นี่ต้องหนังดาราคู่ขวัญอย่าง มิตร-เพชรา” เฮียว่าเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง อินทรีแดง หรือ เงิน เงิน เงิน นี่ฉายวนไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ
 
     เก้าอี้ไม้นั่งห้อยขาที่เฮียฮ้อเล่าว่า เต็มไปด้วยคนดูนั้นพังหายไปเนิ่นนาน เราขึ้นไปบนชั้นสอง บริเวณที่วางเครื่องฉายหนัง มองลงไปยังความเวิ้งว้างกลางแสงสลัว เฮียฮ้อชี้นั่น บอกโน่น เล่าถึงภาพต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นใน “วิกตาเหงี่ยม” ของคนวังกรดที่ถูกกาลเวลาย่อยสลายและพ่ายแพ้ต่อวัฒนธรรมการดู “ทีวี” ไปหลายสิบปีที่ผ่านพ้น
 
     ซอยโรงหนังมาสิ้นสุดตรงหน้าตลาดใกล้หอนาฬิกา ใครหลายคนพาเราเข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ ไปดูจักรเย็บผ้าโบราณที่ใช้ตัดผ้าอ็อกซ์ฟอร์ด หรือชุดทำงาน โดยป้าประนอม ร้านรองเท้าร้านเดียวในวังกรดอย่างรัตนสุวรรณของคุณแสนสุข และป้าสายหยุดยังคงเก็บเครื่องมือที่ใช้ตอกและแซะพื้นรองเท้าไว้เป็นอย่างดี
 
     คลับคล้ายว่าเรื่องราวการค้าขายโบราณที่หล่อหลอมบ้านวังกรดยังคงหลั่งไหลถ่ายเทจากชีวิตและความทรงจำของคนที่นี่จากรุ่นสู่รุ่น มันอาจเป็นภาพธรรมดาสามัญที่ใครก็ตามอาจพบเห็นได้ในเรือนบ้านย่านตลาดในหลายท้องที่

 
     แต่หากให้เวลาและจำแนกลึกลงในแต่ละเศษเสี้ยวทรงจำ มันล้วนเต็มไปด้วยอดีตเฉพาะตนเฉพาะอย่าง ซึ่งอาจมีเพียงแต่ผู้สร้างมันขึ้นมาเองเท่านั้น ที่เข้าใจว่ามันแตกต่างกับหนทางอื่นเช่นไร
 
     How to Get There
     จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ถึงนครสวรรค์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ถึงอำเภอสามง่าม แยกขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 115 ผ่านเมืองพิจิตร จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำน่าน แยกเข้าทางซ้ายมือตามป้ายบ้านวังกรด เลี้ยวขวาใต้สะพาน วิ่งขนานทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทศบาล 1 ถึงย่านเก่าบ้านวังกรด
 
     Where to Eat 
     ในตลาดวังกรดมีอาหารอร่อยให้เลือกลิ้มลองมากมาย ห้ามพลาดก๋วยตี๋ยวต้มพริกสดไซ้ลุ่ย ผัดไทยเจ๊ลั้ง น้ำหวานพี่นกหวีด กาแฟโกอี๊ด รวมถึงขนมหวานหลากหลาย
 
     Where to Stay
     The Nest Hotel Pichit ที่พักโมเดิร์นวินเทจแสนสะดวกสบายในเมืองพิจิตร ถนนสระหลวง โทร. 0-5603-6000 เฟซบุ๊ก : The Nest Hotel Pichit
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี