Q-Life

​ริมน้ำจันทบูร ณ ที่ซึ่งลมหายใจยังไม่หายสูญ

Text: ฐากูร โกมารกุล ณ นคร Photo : ธนดิษ ศรียานงค์


     
     ริมแม่น้ำสายโบราณ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล หรือที่พี่น้องชาวจันทบุรีคุ้นจะเรียกกันว่าวัดโรมันคาทอลิกดูงดงามอลังการ ซุ้มโค้งประตูหน้าต่าง ช่องกระจกสี รวมไปถึงยอดโดมสีดำมะเมื่อมเบื้องบนอาบแสงสปอตไลต์เหลืองอร่าม

     ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโบสถ์ศิลปะกอธิกที่ตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำจันท์หลังนั้นเต็มไปด้วยความงดงาม มันค่อยๆ เผยเรื่องราวของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่แรมรอนผ่านผืนทะเลมาสู่จันทบุรีแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา

     เคียงข้างกับวัดโรมัน ที่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยผู้มาเยือนไม่เคยขาดหายตั้งแต่เช้าจดค่ำ ชุมชนคาทอลิกเชื้อสายเวียดนามต่างตั้งบ้านเรือนอยู่รายรอบ ฝีมือช่างของพวกเขาตกทอดเป็นลายฉลุและส่วนประดับของบ้านไม้โอ่โถงหลายหลังทั้งแถบข้างโบสถ์และแถวริมแม่น้ำจันท์


     
     แม้จะไม่หลงเหลือภาษาเวียดนามในคำพูดจาของลูกหลานชาวเวียดนามในทุกวันนี้ ทว่าศรัทธาในพระเจ้าของพวกเขาที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษยังคงมั่นไม่เสื่อมคลาย ชาวไทยเชื้อสายญวนเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคาทอลิกชาวเวียดนาม 130 คน ที่โยกย้ายหลบหนีการเบียดเบียนทางศาสนาในเวียดนามมาแสวงหาบ้านหลังใหม่ในริมแม่น้ำจันท์ราวปี พ.ศ.2242 ปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยกรุงศรีอยุธยา

     พร้อมๆ กับการเติบโตขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ของย่านท่าหลวงและตลาดล่าง แถบถนนสุขาภิบาล อีกฟากฝั่งแม่น้ำจันท์ ตรงข้ามกับวัดโรมัน คนญวนที่ล่องเรือมาสู่เมืองจันทบูรแต่ครั้งอดีตได้ปักรากฝากฝังตัวเองอยู่ร่วมกันกับคนจีนและคนไทยพื้นเมืองของจันทบุรีเรื่อยมา

     คนไทยเชื้อสายจีนคล้ายเป็นสัญลักษณ์ของย่านตลาด พวกเขามาถึงกลางเมืองจันทบุรีพร้อมเรือค้าขายในสมัยที่การเดินทางทางทะเลและแม่น้ำยังเป็นทางเลือกหลัก พวกเขาลงหลักปักฐานและเติบโตพร้อมๆ กับภาพการค้าในห้องแถวอันเป็นอาชีพถนัด หลายคนเมื่อสร้างครอบครัวที่มั่นคงก็สมัครเข้ารับราชการจนได้บรรดาศักดิ์

     เราเดินข้ามสะพานหน้าวัดโรมันคาทอลิก มันคล้ายเส้นสายเล็กๆ อันเก่าแก่ที่เชื่อมโยงคนฝั่งตลาดล่างเข้ากับฝั่งที่เราเดินผ่านพ้นมา คนญวนและคนจีนในตลาดก็คงใช้สะพานหรือท่าน้ำหลากหลายแห่งที่ไล่ไปตามถนนสุขาภิบาลในการพึ่งพาใช้ชีวิต น้ำในแม่น้ำจันท์ขอดแห้งและไม่ใสสะอาดดังที่ใครหลายคนใช้อาบกินในอดีต แต่มันก็งดงามเสมอยามยืนมันเอื่อยไหลข้างเคียงย่านตลาดโบราณ

     “แต่ก่อนน้ำในแม่น้ำสะอาด กุ้ง ปลา หอยนี่หากันได้สบาย” พฤนท์ สุขสบาย เล่าย้อนความหลังในบ้านของขุนบูรพาภิผล ปู่ของเขา ห้องแถวที่ยาวเหยียดไปจดแม่น้ำจันท์ปรากฏเป็นร้านขนมไข่ พฤนท์ และป้าไต๊ ผู้เป็นแม่ยึดมันเป็นอาชีพสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้


      
     ล่วงมากว่า 60-70 ปี ในความทรงจำของเหล่าเฒ่าชราริมแม่น้ำจันท์ ที่ภาพคุ้นตาคือการพบกันระหว่างภูเขากับทะเลผ่านสินค้าและความเจริญหลากหลายที่ปรับเปลี่ยนเข้ามา ทั้งหนังกวาง หนังเสือ หนังงูเหลือม ขี้ค้างคาว กระวาน กานพลู และของป่าจากแถบเทือกเขาคิชกูฎและสอยดาว หรือปูปลาจากฝั่งทะเล

     ในตรอกกระจ่างและศรีจันทร์ที่เชื่อมกับถนนสุขาภิบาลช่วงปลายตลาดล่าง ช่วงวันธรรมดาที่ตลาดพลอยยังไม่เปิด ตามตรอกซอยเต็มไปด้วยแง่มุมของวันวาน ตอนป้าเด็กๆ นะ เรามีแต่ดูพวกผู้ใหญ่จับปลา ส่วนผู้หญิงอย่างย่าป้าทอเสื่อกันตลอด” วัชรา อารีพรรค-ป้าตุ้ม ค่อยๆ ถอดสลักกลอนและเปิดบานเฟี้ยมออกทีละบาน บ้านไม้สีเทาเลขที่ 5 อายุร้อยกว่าปีท้ายถนนกระจ่างซอย 4 หลังนี้สวยงามด้วยลายฉลุฝีมือช่างญวน มันเก็บงำทั้งชีวิตและศรัทธาของคนญวนริมน้ำจันท์มาหลายต่อหลายช่วงอายุคน



    ผืนไม้กระดานหน้ากว้างราว 1 เมตร ความยาวเทียบเท่าตัวบ้านทั้งหลัง ไม่มีต่อท่อน ทำเอาเราตื่นตะลึง ยังไม่รวมเฟอร์นิเจอร์โบราณ แท่นบูชาพระคริสต์ที่สลักเสลาละเอียดลออ ป้าตุ้มเล่าว่า จันทบุรีในอดีตเป็นเส้นทางลำเลียงไม้ตะเคียนทองจากป่าแถบตำบลตะเคียนทอง พลวง และคลองพลู  

     จากแต่เดิมที่อาชีพดั้งเดิมของคนญวนในยุคปู่ ยุคพ่อของป้าตุ้มและอีกหลายคนคือ การประมงและทอเสื่อ ว่ากันว่าในอดีตตามบ้านญวนริมน้ำทุกหลังต้องมีหูกทอเสื่อ มีราวตากกกย้อมสี มีภาชนะย้อมสีและคนปั่นเอ็น
              
     มันปนเปกันมานานแล้ว ไทย ญวน จีน ขนมญวน อาหารญวนนี่ก็กลายมาเป็นอาหารพื้นบ้านจันทบุรีหลายอย่าง ขนมเบื้อง ขนมโก๋ญวน ขนมโบ๋ เครื่องในต้ม หมูชะมวง ก๋วยเตี๋ยวผัดปู” ป้าตุ้มเล่า

     ความยาว 1 กิโลเมตรกว่าๆ นำพาเราไปพานพบกับอดีตของย่านเก่าจันทบูรที่ยังเปี่ยมลมหายใจ จากตลาดล่างไล่เลยเลียบขนานแม่น้ำจันท์ไปสู่ท่าหลวง เรือนแถวโบราณทั้งไม้และปูน แตกต่างทั้งงานช่างตกแต่ง โครงสร้างสถาปัตยกรรม ลวดลายจำหลักไม้แสนวิจิตรตามหน้าต่าง ประตู ช่องลม

     บ้านขายขนมไข่ของป้าไต๊นั้นคงความเป็นห้องแถวชั้นเดียวอายุร้อยกว่าปีมีลายจำหลักเถาองุ่นที่ด้านใน ไล่เลยไปไม่ไกลทางซ้ายมือคือ ซากกำแพงก่ออิฐฉาบปูนตำที่เคยเป็นบ้านตลาดของพระยาวิชยาบดี (แบน บุนนาค) ข้าราชการที่เคยรับหน้าที่สำคัญในการปกครองเมืองจันทบุรีที่ยังคงไล่เรียงเชื้อสายพี่น้องลงมาได้ถึงลูกหลานบุนนาคแถบเขาบายศรีที่อำเภอท่าใหม่

     บ้านของหลวงประกอบนิติสารชัดเจนสถาปัตยกรรมแบบจีนไว้ตรงหน้าบ้าน ซุ้มประตูงานช่างจีนราวฉากในภาพยนตร์ย้อนยุค รายล้อมรอบด้านไปในย่านตลาดล่างคล้ายภาพเก่าใหม่ผสมผสาน ทั้งบ้านอยู่ของเหล่าผู้เฒ่าผู้แก่อันแสนมั่งคั่ง หรือที่ถูกปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึกโดยลูกหลาน ซึ่งล้วนเข้าอกเข้าใจในการเก็บอนุรักษ์อาคารไม้ ลายฉลุขนมปังขิง ราวระเบียงเหล็กหล่อเป็นลวดลายวกวน

     บ้านเรียนรู้ชุมชนเลขที่ 69 คล้ายหนึ่งในแลนด์มาร์กบนถนนสุขาภิบาล มันไม่เคยห่างหายผู้มาเยือน ห้องแถวไม้ผสมปูนที่ทางตระกูลปฏิรูปานุสร ทายาทของขุนอนุสรสมบัติ (ม็อก) ผู้ก่อสร้างได้ยกให้กับชุมชน ผ่านการดูแลของชมรมพัฒนาริมน้ำจันทบูรและบูรณะโดยสถาบันอาศรมศิลป์ มันถูกฟื้นฟูพลิกฟื้น รวมภาพร่างในอดีตของย่านการค้าเก่าแก่ที่โอบล้อมมาจัดแสดงไว้อย่างมีชีวิตชีวา



     “เราสรุปกันว่าจะใช้วัฒนธรรมนำการค้าค่ะ” หลังเดินเข้าสู่ย่านท่าหลวง เวียนแวะเยี่ยมชมห้องแถวไม้จนจดจำมุมงดงามแทบไม่หมด ปัทมา ปรางพันธ์-หมู เชื้อเชิญให้เราถอดรองเท้าก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในอดีตของอาคารตึกทรงฝรั่งของบ้านพักประวัติศาสตร์ หลวงราชไมตรี ที่ตั้งอยู่เยื้องๆ กับร้านไอศกรีมตราจรวดอันเนืองแน่นวัยรุ่นในวันหยุด

     “โมเดลบ้านเลขที่ 69 นั่นเป็นที่แรกค่ะ บ้านหลวงราชไมตรีนี่เป็นที่ต่อมา” พี่หมูเล่าถึงการหันมาดูแลและอนุรักษ์อาคารบ้านเรือนริมน้ำจันท์ของคนที่นี่ผ่านชมรมพัฒนาริมน้ำจันทบูร พวกเขาเริ่มจากทำให้คนภายนอกรู้ว่าชีวิตตลาดยังคงมีลมหายใจ รณรงค์ให้แต่ละบ้านเปิดบ้านเผยอดีตอันงดงามผ่านส่วนตกแต่งและรูปแบบการค้าให้คนข้างนอกที่ผ่านมาได้รู้จักและเข้าใจ

     เราค่อยๆ ก้าวเข้าไปในรีสอร์ตที่เล่าเรื่องผ่านบ้านตึกของคหบดีผู้มั่งคั่งและมีส่วนร่วมในการสร้างอดีตที่เคยเรืองรองริมน้ำจันท์ ห้องหับถูกฟื้นฟูด้วยความเข้าใจในเรื่องการซ่อมบ้านด้วยปูนหมักปูนตำ ตกแต่งโชว์ขื่อเสาอันเป็นโครงสร้างโบราณ แบ่งซอยออกเป็นห้องสำหรับรับแขกผู้มาเยือนให้รื่นรมย์ริมน้ำภายใต้ภาพอดีตที่ยังหายใจ

     “ที่นี่เป็นของชุมชนค่ะ เป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม” พี่หมูเล่าถึงการปรับเปลี่ยนบ้านโบราณให้กลายเป็นรีสอร์ตสวยคลาสสิก โดยทางนายแพทย์ประสานพงศ์ ปุณศรี ทายาทของหลวงราชไมตรี ให้ทางชุมชนเช่าเพียงเดือนละ 1 บาท และได้รับทุนในการปรับปรุงแรกเริ่มมาถึง 2,000,000 บาท โดยมีข้อแม้เพียงว่าต้องมีพื้นที่ส่วนกลางจัดแสดงอดีตของย่านการค้าเก่าและเปิดให้ชมฟรี



     บ้านโบราณของหลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) คหบดีที่นำพาการปลูกยางพารามาสู่ภาคตะวันออกเป็นคนแรกหลังนี้เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เล่าเรื่องราวของเจ้าของที่เต็มไปด้วยภาพย่อยสู่ภาพใหญ่ของชุมชนตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่ง และอย่างถึงที่สุด เป็นเหมือนภาพร่างที่ใครหลายคนที่อยู่รายล้อมต่างหวงแหนและต้องการดูแลรักษา
 
     Where to Eat
     ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตรกว่าๆ ของย่านเก่าจันทบูรเต็มไปด้วยของอร่อยให้ลิ้มลองหลากหลาย แถบตลาดล่างมีเย็นตาโฟกั้งและข้าวพริกเกลือร้านป้าอี๊ดริมน้ำ ขนมไข่ป้าไต๊ ขนมพื้นเมืองอย่างขนมนิ่มนวล ขนมโบ๋ ข้าวเกรียบปากหม้อ แถบท่าหลวงมีร้านไอศกรีมตราจรวด ร้านข้าวตังโบราณ ร้านกาแฟสด Cap นอกจากนั้น ตลอดถนนสุขาภิบาลยังมีร้านอาหารริมน้ำ ร้านก๋วยเตี๋ยว และอาหารตามสั่งให้เลือกลองหลายบรรยากาศ ขนานกันที่ถนนท่าสิงห์ ร้านจันทรเป็นร้านอาหารพื้นเมืองเจ้าอร่อยของจันทบุรี

     Where to Stay
     เกษมศานต์ โรงแรมเก๋ สวยสบาย บนถนนท่าสิงห์ โทรศัพท์ 0-3931-1100, 0-3931-2340 เว็บไซต์www.hotelkasemsarn.com
     บ้านพักประวัติศาสตร์ หลวงราชไมตรี บูติกโฮเต็ลที่ตกแต่งปรับปรุงจากตึกฝรั่งโบราณหลังโอ่อ่ากลางย่านเก่าริมน้ำจันท์ได้อย่างมีรสนิยม โทรศัพท์ 08-8843- 4516,08-1915-8815 เว็บไซต์ www.baanluangrajamaitri.com


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี