Starting a Business

“Zero Waste Daniel” แบรนด์แฟชั่นจากเศษผ้า 100%





 

     แม้อายุอานามจะหย่อน 30 ไปแค่ปีเดียว แต่ถ้าพูดถึงฝีไม้ลายมือในการออกแบบเสื้อผ้าของ แดเนียล ซิลเวอร์สไตน์ ดีไซเนอร์หนุ่มจากนิวยอร์กเรียกได้ว่าเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมแฟชั่นอเมริกาเหนือและยุโรป เพราะงานที่เขาออกแบบได้รับการคัดเลือกจากบรรดาศิลปิน เช่น เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน, คริสเตน เบล และ แอมเบอร์ วัลเลตต้า ที่พร้อมใจเลือกสวมใส่ชุดของแดเนียลไปร่วมงานพรมแดง และขึ้นปกนิตยสารต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

      แต่สิ่งที่ทำให้แดเนียลเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ การที่เขาเป็นผู้บุกเบิกแฟชั่น “ปลอดขยะ” ภายใต้แบรนด์ Zero Waste Daniel หรือเรียกสั้นๆ ZWD เรื่องราวของแดเนียลและที่มาของแบรนด์กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียที่มียอดวิวหลายสิบล้านวิว ZWD เป็นแบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีทแฟชั่นที่ต่างจากแบรนด์อื่น ตรงที่ไม่เพียงแต่เป็น Genderless Fashion หรือแฟชั่นไม่จำกัดเพศ หากยังตัดเย็บจากเศษผ้า 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นงานทำมือทั้งหมด โดยเศษผ้าเหล่านั้นได้มาจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเป็นเศษผ้าเหลือของดีไซเนอร์คนอื่นๆ ที่แดเนียลรวบรวมมาเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งกลายเป็นขยะไร้ค่า

     บริเวณหน้าร้าน Zero Waste Daniel ของแดเนียลที่ตั้งในย่านบรู๊คลินของนิวยอร์กประดับประดาไปด้วยเศษผ้า ภายในร้านนอกจากมีสินค้าให้เลือกทั้งเสื้อยืดแขนสั้น แขนยาว กระโปรง กางเกงขาสั้น จัมพ์สูทและเดรส ยังมีโต๊ะทำงานและจักรเย็บผ้าที่ทีม Textile Artist ของเขา หรือลูกค้าสามารถเลือกเศษผ้าแล้วให้ทีม Textile Artist ของร้านออกแบบและตัดเย็บให้เดี๋ยวนั้น ลูกค้าจะได้เห็นทุกขั้นตอนของการผลิตงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือและความประณีต และเมื่อเทียบกับเสื้อยืดทั่วไปราคา 10-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลูกค้าอาจเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ทำไมเสื้อยืดจากเศษผ้าเพียงตัวเดียวจึงมีราคาถึง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือบางชิ้นก็มีราคาสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ   

     สำหรับปูมหลังก่อนจะมาเป็นเจ้าของร้าน Zero Waste Daniel สุดฮิปในนิวยอร์กนั้น แดเนียลซึ่งมาจากรัฐเพนซิลเวเนียค้นพบความชอบของตัวเองเกี่ยวกับการออกแบบเสื้อผ้า เขาจึงมุ่งสู่เส้นทางแฟชั่นโดยการเข้าเรียนที่ FIT (Fashion Institute of Technology) และได้มีโอกาสฝึกงานกับดีไซเนอร์ตัวแม่ในวงการ เช่น คาโลริน่า เอร์เรร่า ผู้มีสไตล์โดดเด่นเฉพาะ และเป็นผู้รังสรรค์อาภรณ์ให้สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ หลายต่อหลายคน และ คาร์เมน มาร์ค วาลโว ดีไซเนอร์มากฝีมือด้านการออกแบบชุดราตรี

     แม้จะเรียนดีและคว้าเกียรตินิยมจากสถาบัน FIT แต่เมื่อจบออกมาในปี พ.ศ.2553 แดเนียลพบว่า การไต่สู่ตำแหน่งดีไซเนอร์ระดับดาวจรัสแสงในวงการไม่ใช่เรื่องง่าย เขาตระเวนหางาน และได้งานแรกเป็นการออกแบบเสื้อสเวตเตอร์ให้กับแบรนด์ใหญ่แบรนด์หนึ่ง และทำให้เขาเริ่มตระหนักว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีการผลิตเสื้อผ้าแบบ Mass นั้น ก่อให้เกิดขยะจากเศษผ้ามากมายมหาศาล โดยเฉลี่ย 15-20 เปอร์เซ็นต์ของผ้าทั้งหมดจากแต่ละโรงงานจะกลายเป็นเศษผ้า เฉพาะในสหรัฐฯ มีเศษผ้าที่ถูกทิ้งไม่ก่อประโยชน์ถึงปีละ 14 ล้านตัน แดเนียลเริ่มนึกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่น แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

     แต่นั่นก็เป็นเพียงความคิดที่ยังไม่มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะแดเนียลหันไปโฟกัสที่การทำเสื้อผ้าแบรนด์ “100%NY” ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการร่วมงานกับแบรนด์ดีไซเนอร์ระดับท็อป บวกกับแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวแบบส่วนตัวในอินเดียส่งผลให้ผลงานภายใต้แบรนด์ “100%NY” ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน กระทั่งแดเนียลไปร่วมแข่งขันในรายการ Fashion Star ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีเมื่อปี พ.ศ.2556 และชนะเลิศในรายการนั้นจากการนำเสนอคอลเลกชัน Zero Waste คือการใช้ผ้าในการตัดเย็บแต่ละชุดแบบหมดจดไม่เหลือเศษผ้าทิ้งเป็นขยะ ก็ยิ่งทำให้ดีไซเนอร์น้องใหม่อย่างแดเนียลเป็นจุดสนใจเพิ่มขึ้น 

     จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาลงมือทำเสื้อผ้าปลอดขยะอย่างจริงจังเกิดขึ้นหลังแดเนียลตัดเย็บเสื้อยืดให้ตัวเอง เป็นเสื้อยืดที่ทำจากเศษผ้าล้วนๆ เมื่อเขาสวมเสื้อยืดตัวนั้นและถ่ายรูปลงอินสตาแกรมก็ได้รับความสนใจ และมีคนขอซื้อ บ้างก็ถามว่า ทำขายหรือไม่ ปี พ.ศ.2559 แดเนียลจึงเบนเข็มมาเปิดร้าน Zero Waste Daniel เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในการลดขยะจากเศษผ้าในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผลงานที่รังสรรค์ออกมาทำจากเศษผ้า 100 เปอร์เซ็นต์ และใช้เศษผ้าน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1 ปอนด์ในการทำเป็นเสื้อผ้าแต่ละชิ้น แดเนียลเชื่อในแนวคิดที่ว่าการทุ่มเทพลังไปกับวัสดุเหลือใช้ย่อมดีกว่าการผลิตวัสดุใหม่ขึ้นมา

     ระยะเวลาเกือบ 3 ปีในการมีอยู่ของร้าน Zero Waste Daniel เศษผ้านับตันๆ ที่เป็นขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกแปรเป็นขุมทรัพย์ สร้างการเติบโตทางธุรกิจ คอลเลกชันของทางร้านมีหลายคอนเซปต์ เช่น วัฒนธรรมป๊อป การเมือง บันเทิง ท่องเที่ยว หรือแล้วแต่อารมณ์ของคนออกแบบ ทีมงานของแดเนียลประกอบด้วย ผู้จัดการร้าน และ Textile Artist ที่ทำหน้าที่ออกแบบลวดลายจากเศษผ้า โดยใช้เทคนิคในการตัดเย็บหลายอย่าง เช่น การปะผ้า (Applique) การต่อผ้า (Patchwork) การถักทอ และการจับจีบ

     “เราผลิตงานใหม่ๆ และดีไซน์ใหม่ๆ เกือบทุกสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าเราได้เศษผ้าแบบไหนมา และแบรนด์ไหนที่เราร่วมงานด้วย” แดเนียลกล่าว แต่ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ZWD ที่หลายคนจดจำได้เห็นจะเป็นการนำเศษผ้ามาสร้างลวดลายเป็นใบหน้าคน เช่น ใบหน้าของออดรีย์ เฮปเบิร์น อดีตนักแสดงเจ้าของฉายาเจ้าหญิงแห่งวงการฮอลลีวู้ด เดวิด โบวี นักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษผู้โด่งดังในยุค 60 และ พรินซ์ นักร้องผิวสีชาวอเมริกัน นอกจากเดินทางมาเลือกซื้อและชมขั้นตอนการผลิตที่ร้าน ลูกค้ายังสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของร้าน และสามารถกำหนดสี แบบ และลวดลายตามชอบได้อีกด้วย

     หลังจากที่ร้าน Zero Waste Daniel ประสบความสำเร็จด้วยดี แดเนียลได้ต่อยอดธุรกิจไปยังร้านค้าปลอดขยะด้วยการจับมือกับ ลอเรน ซิงเกอร์ บล็อกเกอร์สาวที่ใช้ชีวิตแบบไม่สร้างขยะและเขียนเรื่องราวลงในบล็อกเพื่อรณรงค์เรื่องนี้เปิดร้าน “Package Free” ในนิวยอร์กเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มที่หลีกเลี่ยงการสร้างขยะบนโลก เป็นร้านจำหน่ายสินค้าครบวงจรที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋าผ้า แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่ย่อยสลายตามธรรมชาติ ไหมขัดฟันแบบรีฟิล แก้วกาแฟแบบใช้ซ้ำ รวมถึงของใช้ต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ไร้บรรจุภัณฑ์

     การสร้างชื่อในวงการแฟชั่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อใดที่สามารถบุกเบิกแนวทางของตัวเองและยืนหยัดอยู่กับแนวคิดนั้นอย่างคงมั่น เชื่อว่าโอกาสแห่งความสำเร็จย่อมมี ดังที่แดเนียล ซิลเวอร์สไตน์ แห่ง Zero Waste Daniel กำลังประสบอยู่

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup