Starting a Business

ค้นแหล่งเชื้อเพลิงเติมไฟการทำงานของ เกรซ-นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ

Text : Kritsana S. Photo : Vipa Vadi
 

 

Main Idea
 
  • Fellowlab Studio เป็นสตูดิโอถ่ายภาพของ เกรซ-นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ ที่เป็นเหมือนแหล่งรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
 
  • โดยส่วนตัวของเกรซเอง ก็มีเชื้อเพลิงที่ช่วยเติมไฟในการทำงานและใช้ชีวิต ซึ่งมาจาก 5 สิ่งต่อไปนี้  
 



     เกรซ-นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Fellowlab Studio สตูดิโอถ่ายภาพที่มาในคอนเซปต์ A place for creative creations โดดเด่นด้วยการออกแบบสตูดิโอให้เรียบและโล่ง เพื่อง่ายต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ นอกจากให้บริการเช่าสถานที่ถ่ายภาพแล้ว ยังยินดีให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น โปรดักชัน จัดหาสไตลิสต์ให้ลูกค้าที่ต้องการถ่ายแฟชั่น หรือแม้แต่คิดแคมเปญให้แบรนด์

     Fellowlab Studio เป็นเหมือนแหล่งรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟในการทำงานของเกรซลุกโชนอยู่ตลอดเวลามาจากสิ่งนี้
 




     1. UNIVERSAL RESPONSIBILITY


         “Dalai Lama เคยพูดไว้ว่า การทำเพื่อส่วนรวมจะทำให้เข้าใจส่วนรวมมากยิ่งขึ้น และได้คำตอบของคำถามที่ว่า เราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร หนึ่งในเป้าหมายที่เกรซทำ Fellowlab Studio คือ อยากทำเพื่อส่วนรวม อยากช่วยคน ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นมากกว่าแค่สตูดิโอถ่ายภาพ เพราะเราพร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานโปรดักชัน ซึ่งเกรซเข้าใจดีว่า คนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้หรือไม่ได้อยู่ในวงการนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขา การมีที่ปรึกษาหรือมีคนที่พร้อมช่วยเหลือจะช่วยให้สิ่งที่เขาต้องการทำสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”
 




     2. SELF-IMPROVEMENT


         “เกรซเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และถ้าสนใจเรื่องไหนก็จะศึกษาเรื่องนั้นให้รู้ลึกรู้จริง เกรซมองว่านี่ไม่ใช่การบังคับตัวเอง แต่เป็นการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น วงจรที่ไม่มีวันจบของเกรซคือ ยิ่งอยากรู้ก็ยิ่งอยากทำเพื่อให้รู้ เมื่อได้รู้ก็อยากลอง เมื่อได้ลองแล้วก็อยากรู้สิ่งใหม่ต่อไป เกรซมีความเชื่อว่า ความรู้สามารถเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้ จึงมีความตั้งใจอยากนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ของเราไปแบ่งปันกับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ โดยได้คิดโปรเจกต์ร่วมกับเพื่อนอย่างโปรเจกต์สอนเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ตั้งใจจะทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริงภายในสิ้นปีนี้”
 




     3. MINIMALISM


         “Minimalism คือ ศาสตร์ของการใช้ชีวิตด้วยการไม่มีสิ่งที่ไม่จำเป็น ตั้งแต่เด็กๆ เกรซมีของที่ไม่จำเป็นในชีวิตเยอะมาก ถ้าชอบอะไรก็จะซื้อ จนวันหนึ่งรู้สึกว่า เราซื้อของพวกนี้เพียงเพราะต้องการจะบอกทุกคนว่าเราชอบ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้ชอบมันโดยแท้ เกรซจึงตัดสินใจขายของที่ไม่จำเป็นทุกอย่างไปจนหมด เช่น เสื้อผ้า ฟิกเกอร์ กล้องและเลนส์ที่ไม่ได้ใช้งาน โดยเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไว้ รวมถึงความคิด เกรซก็กำจัดความคิดที่ไม่จำเป็นออกและคิดแต่สิ่งที่จำเป็นต้องคิด”
 




     4. NEW EXPERIENCE


         “ในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง เกรซมักได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ กลับมาเสมอ และประสบการณ์ที่ได้ในแต่ละครั้งก็เปลี่ยนชีวิตเกรซได้ การที่เกรซได้รับประสบการณ์กลับมาทุกครั้งที่ไปเที่ยว อาจเป็นเพราะเวลาเที่ยวกับเพื่อน เรากล้าทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะกล้าทำ ล่าสุดไปเที่ยวบาหลีกับเพื่อน เพื่อนไปยืนถ่ายรูปที่หน้าผาแล้วถูกคลื่นซัดกระแทกโขดหิน เหตุการณ์นี้ทำให้เกรซเข้าใจในคำเตือนของผู้ใหญ่ว่า อย่าทำแบบนี้ มันอันตราย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจ จนเมื่อได้เจอเหตุการณ์นี้กับตัวเองจึงรู้ว่า อันตรายอยู่ใกล้แค่เอื้อม และสิ่งที่ผู้ใหญ่เตือน เราก็ควรรับฟัง ทำให้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการทำประกันภัยระหว่างท่องเที่ยว และสนใจข้อมูลสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น ที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล”
 




     5. CREATIVE


         “เกรซชอบทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ทำให้ชอบงานศิลปะคือ การได้คิดและได้ทำสิ่งที่คิดให้สำเร็จ การทำงานศิลปะช่วยฝึกให้เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกรซเปรียบความคิดสร้างสรรค์เป็นเชื้อเพลิงแห่งการแก้ไขปัญหา เพราะเชื่อว่าสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ที่มีไปช่วยแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้ เกรซมองว่า ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ถ้าคิดว่าตัวเองมี แต่ส่วนใหญ่จะคิดว่าไม่มี เพราะเมื่อถึงเวลาต้องคิดแล้วคิดไม่ออกก็หยุดคิด และตั้งข้อแม้ต่างๆ ขึ้นมา เช่น ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดถ้าได้นั่งในคาเฟ่ ได้ดื่มกาแฟ หรือได้ฟังเพลงดีๆ ซึ่งเกรซว่าไม่เกี่ยว”
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup