Starting a Business

สาวมาเลย์เจ้าของธุรกิจโคมไฟบำบัดสุดเจ๋ง คว้าชัยในรายการ Shark Tank สหรัฐฯ

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 


   
  • Shark Tank เป็นรายการเรียลิตี้โชว์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายกิจการได้นำเสนอแผนธุรกิจเพื่อจูงใจกรรมการซึ่งเป็นนักลงทุนจำนวน 6 คน
 
  • แอมเบอร์ ลีออง กลายเป็นนักธุรกิจสาวคนแรกของชาวมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จในการขายงานให้กับกรรมการ 2 คน รับเงินลงทุนสนับสนุนถึง 800,000 เหรียญหรือราว 24 ล้านบาท
 
  • ธุรกิจที่นำเสนอคือโคมไฟบำบัดกระตุ้นนาฬิกาชีวภาพที่เธอมองเห็นช่องว่างในตลาด และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์จนได้รับการยอมรับ 




     แม้จะอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แต่แอมเบอร์ ลีออง นักธุรกิจชาวมาเลเซียวัย 35 ปีก็กำลังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในมาเลเซีย ประเทศบ้านเกิดของเธอเองหลังจากที่ได้รับคัดเลือกให้ไปออกรายการ “บ่อฉลาม” หรือ Shark Tank ในสหรัฐฯ จนสามารถเอาชนะใจกรรมการ 2 คน และคว้าเงินลงทุนสนับสนุนธุรกิจมาได้ 800,000 เหรียญหรือราว 24 ล้านบาท นับเป็นนักธุรกิจหญิงคนแรกของมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จในรายการนี้

     Shark Tank ซีซั่น 11 ตอน 2 ที่แอมเบอร์ไปปรากฎตัวเป็นรายการเรียลิตี้โชว์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายกิจการได้นำเสนอแผนธุรกิจเพื่อจูงใจกรรมการซึ่งเป็นนักลงทุนจำนวน 6 คน โดยสินค้าที่แอมเบอร์นำเสนอคือ “โคมไฟบำบัด” (light therapy lamp) ที่ช่วยควบคุมนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของมนุษย์ ผลปรากฏว่า กรรมการ 2 คน ได้แก่ มาร์ค คิวบัน และลอรี เกรเนอร์ตกลงใจร่วมลงทุนเป็นเงิน 800,000 เหรียญแลกกับการถือหุ้นให้บริษัท Circadian Optics ของแอมแอมเบอร์คนละ 10 เปอร์เซนต์

     ที่มาที่ไปของการทำธุรกิจนี้เกิดจากปัญหาที่แอมเบอร์ประสบเป็นการส่วนตัว แอมเบอร์เล่าว่าเนื่องจากรัฐมินเนสโซต้าที่เธออาศัยอยู่นั้นมีฤดูหนาวที่ยาวนาน ความหนาวเย็นของอากาศ ความมืด และความชื้นได้ส่งผลด้านลบต่อตัวเธอซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแบรนด์ของบริษัทแห่งหนึ่ง เธอรู้สึกว่าระดับพลังงานหดหาย และสมาธิในการทำงานลดลง

     แต่หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของแสงที่มีต่อร่างกาย เธอจึงตัดสินใจซื้อโคมไฟบำบัดมาใช้ โดยวางไว้บนโต๊ะทำงาน  ผลคือแสงจากโคมไฟทำให้เธอรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น ทว่าปัญหาเดียวที่เจอคือการถูกล้อจากเพื่อนร่วมงานเนื่องจากโคมไฟที่ว่าดูเชย ไม่เหมาะวางเป็นของประดับโต๊ะทำงาน แอมเบอร์จึงเกิดความคิดออกแบบและผลิตโคมไฟบำบัดเอง

     ปี 2016 แอมเบอร์ร่วมกับคิน มุยน ชิว ผู้เป็นสามีเปิดบริษัท Circadian Optics ที่มินนิอาโปลิสเพื่อจำหน่ายโคมไฟบำบัดที่ออกแบบเก๋ไก๋สวยงาม โคมไฟบำบัดที่ว่ามีความสำคัญโดยอธิบายได้ดังนี้ มนุษย์ทุกคนจะมีนาฬิกาชีวิต (body clock) ที่มีรอบ 24 ชั่วโมงควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การตื่นนอน การนอนหลับ การหลั่งฮอร์โมน ซึ่งนาฬิกาชีวิตที่ว่าจะถูกควบคุมอีกทีโดยแสงและอุณหภูมิ เมื่อร่างกายได้รับแสงแดดที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ร่างกายก็จะเริ่มทำงานตามวงจรในแต่ละวัน วงจรอันหลังนี้เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพหรือ Circadian Rhythms

     เรียกง่าย ๆ ว่านาฬิกาชีวภาพนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของนาฬิกาชีวิต หากไม่มีนาฬิกาชีวภาพระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็ไม่สามารถทำงานได้ตามธรรมชาติ โคมไฟบำบัดจึงเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยควบคุมนาฬิกาชีวภาพโดยการเลียนแสง สี และอุณหภูมิของดวงอาทิตย์

     โคมไฟบำบัดของ Circadian Optics มีทั้งหมด 5 ดีไซน์ด้วยกัน ได้แก่ Lumine, Luxy, Lumos, Lattis และ lampu โดยรุ่น Luxy ได้รับรางวัล Cleverest Award โดย Architectural Design โคมไฟบำบัดของแอมเบอร์สามารถใช้งานได้ยาวนาน 50,000 ชั่วโมง ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนหลอดไฟบ่อย ทั้งยังเป็นโคมไฟ LED ที่ไม่มีรังสียูวีจึงไม่ทำลายผิว เธอยังแนะนำอีกว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการใช้โคมไฟคือช่วงเช้า โดยใช้เวลาสัก 15-60 นาที การรับแสงในเวลาเช้าจะช่วยกระตุ้นการทำงานของนาฬิกาชีวิต ทำให้สดชื่น และมีพลัง

     ปี 2018 ที่ผ่านมาบริษัทของแอมเบอร์ทำยอดขายโคมไฟบำบัดรวมมูลค่า 4 ล้านเหรียญ คาดว่าปีนี้ ยอดขายจะขยับเพิ่มเป็น 5.6 ล้านเหรียญ โคมไฟบำบัดเป็นสินค้าที่ราคาค่อนข้างสูง โดยมีราคาระหว่าง 45-75 เหรียญ  และใช้แพร่หลายแค่บางภูมิภาคของโลก สำหรับตลาดโคมไฟบำบัด เฉพาะตลาดเอเชียแปซิฟิกตลาดเดียว ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 175 ล้านเหรียญ คาดว่าปี 2025 ตลาดโลกในกลุ่มผลิตภัณฑ์โคมไฟบำบัดจะมีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ

     แม้โคมไฟบำบัดจะทำยอดขายได้สูงในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น บรรยากาศสลัว หม่นมัวไม่ค่อยมีแสง และผู้คนได้รับผลกระทบจากภาววะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล หรือ SAD (Season Affective Disorder) แต่แอมเบอร์และสามีก็หวังจะขยายตลาดมายังมาเลเซีย และประเทศในเขตร้อนเพื่อเจาะกลุ่มคนทำงานที่ออกจากบ้านแต่เช้าก่อนตะวันขึ้น ใช้ชีวิตอยู่แต่ในอาคาร อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ และเลิกงานกลับบ้านก็ตอนฟ้ามืดแล้ว คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้เจอแสงธรรมชาติ การใช้โคมไฟบำบัดอาจช่วยทดแทนได้
 
     ที่มา : https://vulcanpost.com/677929/first-malaysian-on-shark-tank-circadian-optics-light-therapy-lamps/
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup