Starting a Business

เริ่มต้นจากศูนย์แต่ทนายหนุ่มกลับปั้น HALO TOP ผงาดเทียบชั้นไอศกรีมแบรนด์ดัง

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 

 

Main Idea
 
  • ฮาโลท็อป” (HALO TOP) เป็นแบรนด์ไอศกรีมจากบริษัท Startup ที่เพิ่งก่อตั้งไม่กี่ปี แต่กลับมาแรงแซงขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งไอศกรีมที่ขายดี 3 อันดับแรกเคียงคู่ BEN&JERRY’S และ Haagen-Dazs   
 
  • อยากทราบแล้วใช่ไหม อะไรที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมน้องใหม่รายนี้ทำรายได้ปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผงาดขึ้นเทียบชั้นแบรนด์เก่าแก่ที่มีสาขาทั่วโลกได้
 

 

     หากพูดถึงแบรนด์ไอศกรีมที่ขายดีอันดับต้นๆ ในอเมริกามาแต่ไหนแต่ไรก็เห็นจะเป็น “BEN&JERRY’S” และ “Haagen-Dazs” แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนต้องเลิกคิ้วด้วยความแปลกใจเมื่อ “ฮาโลท็อป” (HALO TOP) แบรนด์ไอศกรีมจากบริษัท Startup ที่เพิ่งก่อตั้งไม่กี่ปีได้มาแรงแซงขึ้นสู่ไอศกรีมที่ขายดีสุดในอเมริกาช่วงซัมเมอร์ปี พ.ศ.2560 และนับแต่นั้นมา ฮาโลท็อปก็อยู่ในตำแหน่งไอศกรีมที่ขายดี 3 อันดับแรกเคียงคู่ BEN&JERRY’S และ Haagen-Dazs มาตลอด

     อยากทราบแล้วใช่ไหม อะไรที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมน้องใหม่รายนี้ทำรายได้ปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผงาดขึ้นเทียบชั้นแบรนด์เก่าแก่ที่มีสาขาทั่วโลกได้

     ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2554 จัสติน วูลเวอร์ตัน ทนายหนุ่มวัย 31 ปี ในขณะนั้นซึ่งทำงานประจำที่บริษัทหนึ่งในแอลเอเป็นคนชอบไอศกรีมมาก แต่อย่างที่ทราบกันดี ไอศกรีมที่มีจำหน่ายมักมีแคลอรีสูง จัสตินจึงพยายามคิดสูตรขนมที่ใกล้เคียงไอศกรีมแต่มีน้ำตาลและไขมันต่ำกว่า เขาจึงลองผสมกรีกโยเกิร์ตกับผลไม้สดตระกูลเบอร์รี และน้ำตาลจากหญ้าหวาน (สตีเวีย) พบว่า รสชาติถูกปาก จึงซื้อเครื่องทำไอศกรีมเครื่องเล็กๆ มา 1 เครื่องในราคา 20 ดอลลาร์ฯ เพื่อทำไอศกรีมไว้สำหรับรับประทานเอง

     แต่พอทำไปสักพักก็เริ่มคิดว่าถ้าเขาชอบไอศกรีมแบบนี้ คนอื่นก็น่าจะชอบด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะทำธุรกิจไอศกรีม จัสตินใช้เวลา 18 เดือนในการลองผิดลองถูกในครัวที่บ้าน ทดลองใช้วัตถุดิบต่างๆ กับสารที่ให้ความหวานแต่ละชนิดจนได้สูตรที่ลงตัว จากนั้นก็ลองผลิตออกมาแล้วทำ Cold Calling หรือการโทรศัพท์หาลูกค้าที่น่าจะซื้อโดยไม่ได้รู้จักกันมาก่อน กระทั่งเดือนมิถุนายน 2555 ไอศกรีมแบรนด์ฮาโลท็อปก็วางตลาด และทำรายได้ 12,000 ดอลลาร์ฯ ในปีนั้น




     เมื่อเห็นว่าสินค้าได้รับการตอบรับดี กลางปี พ.ศ.2556 เขาก็ลาออกจากงาน และหันมาลุยธุรกิจเต็มตัวโดยชักชวน ดั๊ก บูแต็ง เพื่อนรุ่นน้องซึ่งเป็นทนายเหมือนกันให้ลาออกมาร่วมหุ้นกันตั้งบริษัท โดยระดมทุนก้อนแรกจากการหยิบยืมครอบครัวและเพื่อนฝูงมา 500,000 ดอลลาร์ฯ ทั้งคู่เดินสายนำสินค้าไปออกบู๊ธในงานแสดง และนำเสนอเพื่อวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต

     สิ่งที่ผลักดันพวกเขาให้ทุ่มสุดตัวกับการดำเนินธุรกิจคือ หนี้สินที่พวกเขาแบกรับคนละกว่า 200,000 ดอลลาร์ฯ จากการกู้เงินเรียนระหว่างเป็นนักศึกษา และหนี้บัตรเครดิตที่ก่อขึ้นหลังเรียนจบ ดั๊กกล่าวว่า หากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ นั่นหมายถึงพวกเขาเข้าใกล้การล้มละลาย เรียกได้ว่าหุ้นส่วนทั้งสองอยู่ในสถานะหลังพิงฝานั่นเอง พวกเขาจึงต้องทำทุกทางเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด  

     ช่วง 2 ปีแรกยังเป็นการขายไปปรับสูตรไป จนปี พ.ศ.2558 ก็มีการเปลี่ยนแปลงสูตรครั้งสำคัญ เพิ่มโน่น ลดนี่จนได้มาซึ่งเนื้อไอศกรีมที่ลงตัวกว่าที่เคย พร้อมกันนั้นก็มีการเปลี่ยนดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ดูโฉบเฉี่ยวน่าถ่ายรูปลงในโซเชียลมีเดีย แต่ยังคงเอกลักษณ์การระบุตัวเลขแคลอรีตัวโตๆ ให้เห็นข้างกระปุก ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ฮาโลท็อปก็สามารถระดมทุนรอบสอง เป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนใหญ่ยังมาจากครอบครัวและมิตรสหาย

     จากยอดขายไม่กี่หมื่นดอลลาร์ฯ รายได้ฮาโลท็อป ไต่ไปสู่ 1.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี พ.ศ.2558 แล้วโชคก็เข้าข้างและนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์เมื่อคอลัมนิสต์ในนิตยสาร GQ ได้ทำการทดสอบและเขียนบทความเกี่ยวกับการกินไอศกรีมฮาโลท็อปนาน 10 วันโดยไม่กินอาหารอย่างอื่นเลย ทำให้แบรนด์ได้รับความสนใจและเป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคนับล้านๆ คน ต่อมาไม่นานสื่อออนไลน์ BuzzFeed ก็ได้รีวิวไอศกรีมฮาโลท็อปในเชิงบวก ก็ยิ่งทำให้ยอดขายโตอย่างรวดเร็ว   

     ยังไม่พอเหล่าเซเลบริตีและคนดังในสังคม เช่น สมาชิกตระกูลคาร์เดเชี่ยน นางแบบ และนักแสดงฮอลลีวู้ดหลายคนที่อุดหนุนและถ่ายรูปลงโซเชียลฯ ให้ผลคือ ปี พ.ศ.2559 ยอดขายฮาโลท็อปพุ่งไปอยู่ที่ 44.3 ล้านดอลลาร์ฯ และปีต่อมาทะลุทะลวงไปถึง 350.6 ล้านดอลลาร์ฯ





     สิ่งที่ทำให้ฮาโลท็อปประสบความสำเร็จมาจากการสามารถแก้ Pain Point ให้กับผู้บริโภคที่ชอบไอศกรีมแต่ขยาดกับแคลอรีที่สูงปรี๊ด จากได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพนัก แต่ฮาโลท็อปสามารถทำให้ไอศกรีมกลายเป็นของหวานที่รับประทานแล้วไม่รู้สึกผิดเพราะให้พลังงานเพียง 240-360 แคลอรี (ต่อปริมาณ 473 มิลลิลิตร) เท่านั้น น้อยกว่าแบรนด์อื่นกว่าเกินครึ่งเลยทีเดียว แถมรสชาติยังอร่อยอีกด้วย นี่เป็นความแตกต่างที่กลายเป็นจุดขายอันแข็งแกร่งของฮาโลท็อป

     หลังจากขึ้นแท่นแบรนด์ไอศกรีมสุดโปรดของคนอเมริกันไปแล้ว ฮาโลท็อปก็ขยายไปตลาดต่างประเทศ ประเดิมที่อังกฤษ และแคนาดา ในตลาดอังกฤษได้รับการตอบรับดีจนความนิยมได้แซงหน้าแบรนด์ไอศกรีมดังๆ ปัจจุบัน ฮาโลท็อปมีรสชาติให้เลือกเกือบ 50 รส และมีจำหน่ายใน 12 ประเทศทั่วโลก  

     ศักยภาพของฮาโลท็อปทำให้มีการประเมินว่ามูลค่าของแบรนด์ในตลาดนั้นสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ฯ และบริษัทใหญ่ๆ ต่างทาบทามเพื่อขอซื้อกิจการ ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปีนี้ ฮาโลท็อปได้ตกลงขายกิจการให้กับบริษัท เวลส์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ในรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการซื้อ-ขายในครั้งนี้

     และนี่ก็คือเรื่องราวของทนายความ 2 คนที่ไม่ได้มีความรู้ในการผลิตไอศกรีม หรือเชี่ยวชาญด้านธุรกิจแต่อย่างใด แต่กลับสามารถสร้างแบรนด์ไอศกรีมที่สั่นสะเทือนวงการขนมหวานด้วยการนำเสนอไอศกรีมโปรตีนสูง น้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำ จนสามารถเบียดขึ้นไปตีคู่แบรนด์ระดับโลกอย่าง BEN&JERRY’S และ Haagen-Dazs ได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup