Starting a Business

RURAL RUSH สร้างจุดขายที่แตกต่างด้วยการหยิบเส้นลวดมาถักโครเชต์เครื่องประดับ

Text : Kritsana S. Photo : Pae.yodsurang
 

 

Main Idea
 
  • นวินดา อิงคเวทย์ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำความชอบในการถักโครเชต์ มาเป็นเทคนิคในการรังสรรค์เครื่องประดับ Rural Rush ด้วยการใช้เส้นลวดมาถักโครเชต์
 
  • แน่นอนว่าเมื่อเริ่มต้นจากความชอบ เธอจึงมีความสุขกับสิ่งที่ทำ แต่ด้วยความที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ทำให้ต้องฝ่าฟันปัญหาต่างๆ เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว
 



     หลายคนเริ่มต้นทำธุรกิจจากสิ่งที่ชอบและมักไปได้ดี เพราะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ซึ่ง นวินดา อิงคเวทย์ ก็เช่นเดียวกันที่นำความชอบในการถักโครเชต์มาสร้างรายได้ผ่านการสร้างแบรนด์เครื่องประดับ Rural Rush ที่มีจุดเด่นตรงการนำเส้นลวดมาเจอกับเทคนิคการถักโครเชต์


     ‘นวินดา’ มีความชอบในงานถักโครเชต์มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเป็นงานที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและอ่อนหวาน โดยก่อนตัดสินใจเลือกถักโลหะอย่างเส้นลวดเป็นเครื่องประดับ เธอเคยทดลองถักวัสดุอื่นมาก่อน เช่น ยาง และเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่พบว่าเส้นลวดให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจกว่า นั่นคือรูปแบบงานที่สวยงาม คงรูป งานออกมาเนี้ยบเพราะพันเก็บปลายลวดไว้ในชิ้นงานได้ สามารถขัดให้เงา และรมดำเพื่อไม่ให้เกิดสนิมหรือผุกร่อน ช่วยให้เครื่องประดับมีอายุการใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น





     โลหะที่ ‘นวินดา’ เลือกมาถักเป็นเครื่องประดับนั้น มีทั้งเงิน ทองเหลือง และทองแดง มีการนำหินรูปทรงต่าง ๆ มาเพิ่มสีสันให้กับเครื่องประดับ โดยได้นำเทคนิคทางจิวเวลรีเข้ามาใช้ร่วมด้วย เช่น ทำหนามเตยเพื่อเกี่ยวหินไว้กับลวดถัก สำหรับเครื่องประดับงานลวดถักที่ขายภายใต้แบรนด์ Rural Rush มีสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู และแหวน


     เมื่อได้หยิบความชอบมาทำเป็นธุรกิจ แน่นอนว่าสาวเจ้าของแบรนด์ย่อมรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ทำ แต่ด้วยความที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ทำให้ต้องเจอกับ 3 ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการของเธอไม่ราบรื่นเหมือนที่คิดฝัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการตั้งราคาสินค้าที่ตั้งราคาไว้ต่ำจนเกินไป เพราะคิดแค่ว่าขายได้ก็ดีแล้ว แบรนด์ไม่เป็นที่จดจำ รวมถึงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ เพราะมองเพียงว่าชาวต่างชาติชอบงานทำมือ แต่เพื่อให้แบรนด์สามารถเดินต่อไปได้ เธอจึงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้





     “ในช่วงแรกที่ทำแบรนด์ เราตั้งราคาสินค้าแค่หลักร้อยต้นๆ โดยตั้งราคาจากต้นทุนค่าวัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องประดับเท่านั้น ไม่ได้คิดค่าอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น ค่าแรงตัวเอง และค่าที่อาจเกิดขึ้นมาในอนาคตอย่างค่าวางสินค้าในห้างหรือร้านฝากขายต่างๆ ซึ่งราคาที่ตั้งในตอนนั้นถือว่าต่ำมากสำหรับงานทำมือที่ทำได้ไม่เกิน 3-5 ชิ้นต่อวัน ตอนนั้นเลยแทบไม่มีกำไร ฉะนั้นเราเลยต้องมาตั้งราคาใหม่ โดยบวกค่าต่างๆ เข้าไปในเครื่องประดับคอลเลกชันใหม่ พร้อมพัฒนาคุณภาพและดีไซน์ของเครื่องประดับให้ออกมาเหมาะสมกับราคา


     ส่วนปัญหาเรื่องแบรนด์ไม่เป็นที่จดจำ เรามองว่าเป็นเพราะการวางคอนเซปต์คอลเลกชันไม่ชัดเจน และดีไซน์ที่เฉพาะกลุ่มเกินไป ดังนั้น จึงต้องวางคอนเซปต์ของคอลเลกชันให้ชัดเจนขึ้นและมีความเฉพาะเจาะจง โดยคอลเลกชันล่าสุดวางคอนเซปต์ว่าเกิดจากการทดลองวัสดุจนนำมาซึ่งการทำเครื่องประดับจากวิธีการถักแบบใหม่ เช่น ถักแบบใช้ลวด 4 เส้น และถักไส้ไก่ที่ใส่หินเข้าไปข้างใน ซึ่งต่างจากเครื่องประดับคอลเลกชันก่อนหน้าที่ถักแบบลวดเส้นเดียว ดีไซน์ให้เข้าถึงง่ายขึ้น และทำเครื่องประดับสองแบบออกมาขายคือ เครื่องประดับชิ้นมาสเตอร์พีซ เป็นเครื่องประดับลวดถักชิ้นใหญ่ จุดประสงค์เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ และเครื่องประดับชิ้นมาสเตอร์พีซขนาดเล็ก”





     จากการทำเช่นนี้ทำให้เธอสามารถขายเครื่องประดับในราคาที่สูงขึ้นได้ และแบ่งกลุ่มลูกค้าได้เล็กลง ซึ่งจากเดิมที่แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ อย่างกลุ่มลูกค้าต่างชาติและกลุ่มลูกค้าไทยก็สามารถย่อยกลุ่มลูกค้าลงตามราคาสินค้าได้ โดยเครื่องประดับราคา 500-1,000 บาท ลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนอายุ 30-50 ปี และเครื่องประดับราคา 800-3,000 บาท ลูกค้าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ


     อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Rural Rush เดินทางบนตลาดเครื่องประดับทำมือมานานกว่า 1 ปี ซึ่ง ‘นวินดา’พยายามอุดทุกรอยรั่วที่อาจมีผลให้ธุรกิจต้องสะดุด และยังคงทดลองวิธีการถักใหม่ๆ รวมทั้งการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ในเครื่องประดับ เพื่อให้เครื่องประดับ Rural Rush มีความน่าสนใจมากขึ้นและลูกค้ามีตัวเลือกใหม่เพิ่มขึ้น


     Facebook : ruralrush.handmade
     Instagram : ruralrush
     Line : ruralrush
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup