Starting a Business

Startup นิวยอร์ผุดไอเดีย upcycled food แปรกากมอลต์เป็น Super flour เลี้ยงคนได้ถึง 15 ล้านคนต่อปีคน

Text :  วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์




 Main Idea
 
  • รายงานระบุขยะจากอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของโลก สหประชาชาติประประเมินกว่าจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งไปขายตามร้านต่างๆ ก็มีอาหารถูกทิ้งคิดเป็นมูลคา 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นที่มาของกระแส upcycled food หรือการเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารเหลือทิ้งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
 
  • เบอร์ธา จิมีเนซ วิศวกรสาวปริญญาเอกสังเกตเห็นโรงงานผลิตเบียร์ขนาดเล็กผุดขึ้นรอบนครนิวยอร์ก และมีกากมอลต์ที่ยังใช้เป็นประโยชน์ได้ถูกทิ้งจำนวนมาก จึงชักชวนทีมงานก่อตั้งฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ RISE Products แปรรูปกากมอลต์ให้เป็นแป้งใช้ทำอาหารและขนม
 
  • นอกจากสอดคล้องกับกระแสในปัจจุบันยังกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย 



     ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุในแต่ละปี ราว 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตทั่วโลกเพื่อให้มนุษย์บริโภคได้รับความเสียหายหรือกลายเป็นขยะ และหากเล็งไปที่อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สร้างขยะจากอาหารไม่น้อย โดยอาหารที่ว่ามาในรูป “กากมอลต์” หรือ “กากเบียร์สด” (spent grain) อันเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเบียร์


     กากมอลต์เกิดจากการบ่มข้าวบาร์เลย์หรือข้าวมอลท์ ที่สเปรย์น้ำให้เมล็ดงอก จากนั้นนำมาต้มคั้นน้ำแป้งและน้ำตาลออกเพื่อไปทำเบียร์ ที่เหลือจึงกลายเป็นคือกากมอลต์ที่อุดมด้วยโปรตีนและเส้นใยอาหาร มีการประเมินว่ามีกากมอลต์จากทั่วโลกถูกทิ้งกลายเป็นขยะปีละประมาณ 42 ล้านตัน


     เบอร์ธา จิมีเนซ ผู้ก่อตั้ง RISE Products บริษัท Food Tech ในนิวยอร์กเป็นอีกคนหนึ่งที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของกากมอลต์และต้องการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น





     เบอร์ธาจบด้านวิศวกรรมเครื่องกล เธอจึงเน้นไปที่การก่อสร้างเมืองต่างๆ มากกว่า แต่หลังจากที่เข้ามาเรียนปริญญาเอกสาขาการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ความสนใจก็เปลี่ยนไปหลังจากที่สังเกตเห็นโรงงานผลิตเบียร์ขนาดเล็กผุดขึ้นรอบนครนิวยอร์ก หลังจบปริญญาเอก เธอได้ชักชวนทีมบัณฑิตมหาวิทยาลัยนิวยอร์กก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนมกราคม ปี 2017 เพื่อแปรรูปผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร


     โดยเน้นที่การนำกากมอลต์มาแปรเป็นแป้งทำอาหารและขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แป้งที่ได้จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรทเพียง 1 ใน 3 ของแป้งสาลีเอนกประสงค์ทั่วไปเนื่องจากน้ำตาลในแป้งถูกดึงออกไปใช้ในกระบวนการผลิตเบียร์ แต่มีโปรตีนมากกว่า 2 เท่า และเส้นใยอาหารสูงกว่าถึง 12 เท่า ทำให้แป้งที่ผลิตจากกากมอลต์ถูกเรียกขานว่า  Super flour


     นอกจากนั้น แป้งชนิดนี้ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะในเรื่องสีและรสชาติอันเกิดจากวัตถุดิบตั้งต้นที่นำมาผลิตเป็นแป้ง แบ่งเป็นแป้งที่ได้จากกระบวนการผลิตเบียร์ประเภท IPA และ Pilsner ส่วนที่มีสีเข้ม มาจากการใช้วัตถุดิบที่ผลิตดาร์กเบียร์หรือเบียร์ที่มีสีคล้ำ





     โชคดีที่คราฟท์เบียร์เป็นที่นิยมในนิวยอร์ก และที่นี่ก็เป็นแหล่งผลิตคราฟท์เบียร์ หากเป็นโรงงานผลิตเบียร์ที่อยู่ไกลเมืองออกไป ผู้ผลิตมักส่งกากมอลต์ไปให้ชาวไร่ชาวนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น เป็นอาหารสัตว์ แต่โรงงานที่อยู่ใกล้เมืองไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ กากมอลต์ส่วนใหญ่จึงมีปลายทางที่โรงกำจัดขยะ เบอร์ธาและทีมงานของเธอจึงติดต่อผู้ผลิตเบียร์หลายสิบรายใกล้เมือง อาสาเข้าไปเก็บกากมอลต์ที่ใช้แล้วตามโรงงานผลิตเบียร์ โดยทางโรงงานยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ ซึ่งถือเป็นการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย


     ในการตระเวณเก็บกากมอลต์จะต้องทำเวลา หลังจากเก็บกากมอลต์มาแล้ว ทีมงาน RISE Products มีเวลาเพียง 6-8 ชั่วโมงเท่านั้นในการนำกากมอลต์เข้าสู่กระบวนการในขณะที่ยังสดใหม่ ก่อนที่สารอาหารในวัตถุดิบจะสูญสลายไป ในช่วงระยะเวลา 2 ปีของการเริ่มธุรกิจผลิต Super flour เทคสตาร์ทอัพ RISE Products ได้เก็บกากมอลต์จากโรงงานผลิตเบียร์เกือบ 20 แห่งรอบย่านบรู้คลิน ควีนส์ และบรองซ์ จำนวนกากมอลต์ที่เก็บมาได้นั้น เมื่อนำมาแปรรูปเป็นแป้ง จะสามารถปรุงเป็นอาหารที่เลี้ยงผู้คนได้ 15 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว





     สำหรับผลิตภัณฑ์แป้งจากกากมอลต์ที่ผลิตออกมา RISE Products ได้จัดจำหน่ายให้กับบรรดาร้านอาหาร และร้านเบเกอรี และขายตรงให้กับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ https://www.riseproducts.co/  นอกจากนั้น เบอร์ธายังกำลังเจรจากับบริษัทอาหาร อาทิ with Kellogg’s, Whole Foods และ DiGiorno เกี่ยวกับการผลิตพิซซ่าแช่แข็งโดยใช้แป้งจากกากมอลต์ของ RISE    


      รายงานระบุขยะจากอาหารเป็นปัญหาใหญ่ของโลก สหประชาชาติประประเมินกว่าจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งไปขายตามร้านต่างๆ ก็มีอาหารถูกทิ้งคิดเป็นมูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นที่มาของกระแสเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารเหลือทิ้งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (upcycled food) อันเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่ที่เห็นจะอยู่ในรูปการนำผลิตผลทางการเกษตรที่รูปทรงไม่สวยหรือไม่ได้มาตรฐานมาแปรรูปเป็นอาหารหรือเครื่องปรุงต่างๆ ซึ่งปี 2019 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแปรอาหารเหลือทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นมีมูลค่า 46,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตในอัตราปีละ 5 เปอร์เซนต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
 

ที่มา : www.marketplace.org/2020/01/09/bertha-jimenez-reducing-waste-creating-taste/
          www.fandbnetworker.com/feat-iss-3-18-spent-grains-neednt?fbclid=IwAR1B4A2JZsAr8Kk568aV7XiCOAO3AM9VoAe2lsKrqREY2g1WV7mcS_Ynwhw
          www.forbes.com/sites/bridgetshirvell/2019/12/19/the-upcycled-food-industry-is-worth-467b-here-are-11-products-you-can-try-at-home/?fbclid=IwAR2FRMtpDcCY13-JWQue8RLioml9wi4glcnuIa-IiiEOHy5SdErrnSe4lq4#4ba586e0340d
          https://ediblequeens.ediblecommunities.com/drink/barley-brownie-rise-products-fights-food-waste-turning-local-breweries-spent-grains-flour?fbclid=IwAR2wAD1iLiE7xS853tmfjEnH1sUbawQU310zMtpQSTMCAlmRzZA0ZKlQsQM


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup