Tech Startup

Stitch Fix มิติใหม่แห่งการช้อปผ่านสไตลิสต์ออนไลน์





 

     หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ Personal Shopper หรือ Personal Stylist ที่เริ่มมีให้บริการบ้างแล้วในบ้านเราตามห้างสรรพสินค้าและในช็อปของแบรนด์สินค้าแฟชั่นดังบางแบรนด์ แต่บริการนี้เป็นที่นิยมในต่างประเทศมานานแล้ว Personal Stylist หรือ Personal Shopper เป็นบริการให้คำปรึกษาส่วนตัวด้านเครื่องแต่งกายให้สอดคล้องกับบุคลิกภาพ รสนิยม อาชีพ และการใช้ชีวิตประจำวันโดยผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น ซึ่งรูปแบบการให้บริการนอกจากการพบปะพูดคุยกับสไตลิสต์แบบตัวต่อตัวหรือต่อสายคุยทางโทรศัพท์แล้ว ปัจจุบันยังมีบริการผ่านออนไลน์อีกด้วย โดย Tech Startup ที่ชื่อ Stitch Fix

     ธุรกิจนี้เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน โดย แคทรีนา เลค บัณทิตสาขาบริหารธุรกิจจากฮาร์วาร์ดที่มองว่า หากจะทำธุรกิจ เธอต้องมองไกลไปอีก 20 ปีข้างหน้า เล็งว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร ธุรกิจที่ออกแบบมาควรตอบโจทย์หรือสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค ไอเดียที่เป็นที่มาของ Stitch Fix มาจาก 3 แรงบันดาลใจคือ 1.พี่สาวเป็นฝ่ายจัดซื้อสินค้าแฟชั่นของห้างสรรพสินค้าในนิวยอร์กมักส่งเสื้อผ้ามาให้ลอง 2.การเป็นสมาชิก Community Supported Agriculture ที่ให้บริการจัดส่งกล่องบรรจุผักผลไม้ตามฤดูกาลให้ลูกค้า และ 3.การเห็นโมเดลธุรกิจของ Netflix บริการสื่อบันเทิงออนไลน์แบบเหมาจ่าย

     จากความคิดที่ว่าเวลาเลือกซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ ปัญหาที่พบเจอคือ จำนวนผู้ขายและจำนวนสินค้าซึ่งมีมากมายมหาศาลทำให้ลูกค้าเลือกไม่ถูก บางทีก็ดูได้ไม่ทั่วถึง แคทรีนาได้นำแรงบันดาลใจเหล่านั้นมาเขียนเป็นแผนธุรกิจในช่วงที่เรียนฮาร์วาร์ด รูปแบบคือการให้บริการจัดส่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ตรงตามบุคลิกของลูกค้าไปให้เลือก โดยลูกค้าจ่าย 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ และทำแบบสอบถามผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือแอพพลิเคชันประมาณ 10-15 นาทีเพื่อเก็บเป็น Profile Style เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสไตล์แฟชั่นที่ชอบ ขนาดที่สวมใส่ แบรนด์โปรด และงบประมาณในการช้อป

     ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบอัลกอริทึมโดยการเปรียบเทียบข้อมูลลูกค้ากับสินค้าที่มีอยู่ในคลัง จากนั้น สไตลิสต์ทำการคัดเลือกสินค้าจำนวน 5 ชิ้นจัดลงกล่องส่งถึงบ้านลูกค้าให้เลือก ชิ้นไหนลูกค้าลองแล้วชอบก็จ่ายเงินซื้อ ถ้าไม่ชอบก็จัดส่งคืนโดยไม่เสียค่าส่ง ลูกค้าจะได้รับกล่องเสื้อผ้าที่คัดเลือกโดยสไตลิสต์ในอัตราความถี่เดือนละครั้ง โดยสามารถเลือกวันที่ต้องการให้จัดส่งสินค้าได้

     แคทรีนาเริ่มธุรกิจตั้งแต่ช่วงยังเรียนที่ฮาร์วาร์ดร่วมกับหุ้นส่วนที่เคยทำงานกับแบรนด์เสื้อผ้า J.Crew ของอเมริกา โดยแคทรีนาทำตัวเป็นสไตลิสต์จัดหาเสื้อผ้าส่งลูกค้าเอง หลังเรียนจบ เธอย้ายออฟฟิศไปซานฟรานซิสโกและยังมุ่งมั่นกับการปลุกปั้นธุรกิจภายใต้ชื่อ Stitch Fix และลงทุนจ้างมืออาชีพอย่าง ไมค์ สมิธ ซึ่งเคยทำงานที่วอลมาร์ตมาร่วมงานด้วย ทั้งคู่คุยกันเกี่ยวกับเรื่องว่าจะทำอย่างไรจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เธอเล่าถึงความรู้สึกช่วงนั้นว่า “เวลาเราทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำ มันให้ความรู้สึกว่าถ้าเราไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดก็คงเป็นคนที่โง่ที่สุด เป็นเวลาหลายปีเลยทีเดียวที่ฉันไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เรียกว่าโง่หรือฉลาด”

     พร้อมๆ กับการเฟ้นหาผู้ร่วมงานจากวงการต่างๆ แคทรีนาก็นำโปรเจกต์ธุรกิจ Stitch Fix ไปเสนอบรรดานักลงทุนอิสระเพื่อหาผู้ร่วมทุนด้วย ช่วง 2-3 ปีแรก Stitch Fix ไม่มีงบการตลาด อาศัยการบอกกันปากต่อปากจนทำให้จำนวนลูกค้าค่อยๆ เพิ่มขึ้น ธุรกิจเริ่มเติบใหญ่ จากที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิงวัยทำงานก็ขยายกลุ่มไปยังสาวอวบพลัสไซส์ คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ชาย สินค้าที่ให้บริการมีตั้งแต่เชิ้ต แจ็กเกต สูท เสื้อกันหนาว เลกกิ้ง กางเกง กระโปรง เสื้อกั๊ก ผ้าพันคอ ยีนส์ บูต แว่นตา รองเท้า เรียกว่าครบครันในเรื่องแฟชั่น ขณะที่จำนวนซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้น Stitch Fix เองก็เริ่มผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเองเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าเพิ่มด้วย

     จากปี พ.ศ.2554 ที่ริเริ่มธุรกิจ ปัจจุบัน Stitch Fix มีลูกค้าที่ใช้บริการราว 2.5 ล้านคน และในบรรดาพนักงานทั้งหมด 5,800 คน มากถึง 3,500 คนทำหน้าที่สไตลิสต์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา แคทรีนาก็ขึ้นแท่นนักธุรกิจหญิงวัยไม่ถึง 40 ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งจากการนำพา Stitch Fix เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก เปิดตลาดการซื้อ-ขายในราคาหุ้นละ 16.90 ดอลลาร์ฯ ในการเปิดตลาดวันแรกสามารถระดมทุนได้กว่า 100 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้มูลค่า Stitch Fix ในตลาดพุ่งไปอยู่ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์ฯ และกลายเป็นกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในต้นปี 2561

     ในโลกของ Tech Startup ที่ส่วนใหญ่ผู้บริหารชายกุมบังเหียน แคทรีนาเป็นนักธุรกิจหญิงที่โดดเด่นและได้รับการจดจำในฐานะผู้บริหาร Tech Startup หญิงรายเดียวและอายุน้อยสุดที่สามารถนำบริษัทของเธอเข้าตลาดหุ้น ผลประกอบการล่าสุดเมื่อไตรมาส 2 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อ 27 มกราคม 2561 Stitch Fix ทำยอดขาย 296 ล้านดอลลาร์ฯ และอัตราการเติบของธุรกิจอยู่ที่ 24.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

     แคทรีนากล่าวว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ Stitch Fix ประสบความสำเร็จคือ การพัฒนาบริการตลอดเวลา เช่น การเพิ่มแบรนด์สินค้าให้เลือก ล่าสุดเพิ่งเปิดบริการ Extra เพิ่มสินค้าตัวเลือกอย่างชุดชั้นใน กางเกงใน และถุงเท้าเข้ามาให้ครบวงจรยิ่งขึ้น เป็นการรักษาลูกค้าไว้ไม่ให้ซื้อเจ้าอื่น นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญต่อข้อคิดเห็นหรือคำติชมจากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นบรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหลาย เพราะหาแบรนด์ขายได้ Stitch Fix ก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย

     ภารกิจของบริษัทคือ การเปลี่ยนวิธีการซื้อสินค้าของผู้คนโดยรวมเอาเทคโนโลยีและการเลือกเสื้อผ้าแบบมีสไตลิสต์แนะนำเข้าด้วยกัน ทำให้ลูกค้าประหยัดเวลาไม่ต้องเดินหาเสื้อผ้าเอง ซึ่งสิ่งที่ Stitch Fix นำมาใช้คือ Data Science หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้ออกมาเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปอำนวยความสะดวกในการทำงานของสไตลิสต์คือ ระบบอัลกอริทึม ทำให้สามารถประเมินพฤติกรรมการซื้อ คาดการณ์ความต้องการ บริหารคลังสินค้าให้สมดุล และออกแบบเสื้อผ้าใหม่ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าได้

     โดยสรุปความสำเร็จของ Stitch Fix มาจากการมีวิสัยทัศน์ล่วงหน้า 20 ปีของแคทรีนา เลคที่มองว่า รูปแบบการจับจ่ายซื้อหาสินค้าแฟชั่นจะเปลี่ยนไป และเธอสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้โดยนำเทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าจำนวนมากเพื่อให้ทราบรสนิยมของลูกค้าแต่ละราย ทำให้การบริการนั้นมีความเป็นพิเศษและเป็นส่วนตัว นอกจากนั้น การไม่หยุดนิ่งกับที่ พัฒนาทั้งสินค้าและบริการอยู่ตลอดเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า จนท้ายที่สุด Stitch Fix ก็ไต่ระดับไปสู่การเป็น Tech Startup ระดับยูนิคอร์น และเข้าสู่ตลาดเป็นบริษัทมหาชนในที่สุด
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup