Tech Startup

ตาดีได้ตาร้ายเสีย โอกาสทางการค้ารับเทรนด์ Telemedicine ธุรกิจการแพทย์ทางไกลที่โตไวในยุคโควิด




     ไม่เพียงธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตในช่วงเกิดโควิด อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้อานิสงส์ไม่แพ้กันคือ การแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine เพราะบริการดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้แม้อยู่คนละที่กับผู้ป่วย


     ทั้งนี้ช่วงที่โควิดระบาดรุนแรงในจีนนั้น แอปพลิเคชัน Ping An Good Doctor ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล รวมถึงมีบริการจัดยาตามคำสั่งแพทย์และส่งถึงที่พักถูกชาวจีนดาวน์โหลดราว 300 ล้านบัญชี มีผู้ขอใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าววันละกว่า 7 แสนครั้ง


     แม้แต่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็จัดทำโครงการสนับสนุนให้ผู้ป่วยใช้บริการแพทย์ทางไกลเพิ่มขึ้น ทั้งการปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน Line และการส่งยารักษาโรคทางไปรษณีย์ โดยในช่วง 2 เดือนมีผู้มาลงทะเบียนใช้บริการราว 4,000 คน





     ด้วยความสะดวกสบายจากการรับการรักษากับแพทยท์ทางไกลไม่ต่างจากการไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า แม้ COVID-19 จะคลี่คลายแล้ว ผู้ที่ใช้บริการการแพทย์ทางไกลจะยังคงใช้บริการนี้ต่อไปและอาจมีผู้ใช้บริการหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจาก Global Market Insights ชี้ให้เห็นว่าตลาด Telemedicine ทั่วโลกนั้นจะมีมูลค่าถึง 135,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 โตเฉลี่ยถึง 19.2% ถ้าเทียบกับปี 2562 มีมูลค่า 38,300 ล้านดอลลาร์
 

     สำหรับบริการแพทย์ทางไกลที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ

     1. การปรึกษาแพทย์ทางไกล (Health Teleconsultant)

     การปรึกษาแพทย์ทางไกล คือ การที่ผู้ป่วยสื่อสารกับแพทย์ผ่านการ Chat หรือผ่านระบบ Video Conference ผ่านการซักถามและสังเกตอาการผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยโรคได้เสมือนผู้ป่วยได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases  NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ ที่จะต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตามอาการและต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 

     สำหรับประเทศไทยมีการให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกลแล้วเช่นกัน อาทิ การติดต่อโดยใช้ Video Call และ Chat เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน Raksa และปรึกษาปัญหาสุขภาพสตรีกับแพทย์เฉพาะทางผ่านแอปพลิเคชัน Chiiwii Live เป็นต้น
 



     

     2. การติดตามผู้ป่วยระยะไกล (Remote Patient Monitoring)

     การติดตามผู้ป่วยระยะไกล คือ การนำอุปกรณ์ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย อาทิ ค่าความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ติดตั้งที่สถานที่พัก หรือพกติดตัว เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) จึงมีแนวโน้มที่ผู้ป่วย NCDs ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่รุนแรง และผู้สูงอายุ ซึ่งต้องควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งผู้ที่ใส่ใจสุขภาพตนเองและต้องการตรวจสอบสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะหันมาใช้บริการติดตามผู้ป่วยระยะไกลมากขึ้น
 



 

     3. การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery)

     การผ่าตัดทางไกลเป็นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน โดยมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพการผ่าตัดคมชัดและแสดงผล Real Time มากขึ้น เพื่อให้แพทย์ควบคุมการผ่าตัดจากระยะไกลได้อย่างแม่นยำ 

     โดย Global Market Insights คาดว่าตลาดหุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัดของโลกจะมีมูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23 ต่อปี
 
 

     โอกาสทางการค้า

     ความนิยมใช้บริการแพทย์ทางไกลที่เพิ่มขึ้นนี้ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกชุดทดสอบทางการแพทย์ (Test Kits) รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้บริการแพทย์ทางไกล เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตรวจวัด แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ HDD รวมถึงผู้พัฒนาระบบ Software และแอปพลิเคชัน
 
 
     ยกตัวอย่างเช่น หัวเว่ยที่ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และโรงพยาบาลศิริราช จัดทำโครงการนำร่องรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย เพื่อส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องสัมผัสกัน

     เช่น บริษัท Teladoc ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มให้คนไข้สามารถพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์และรับใบสั่งยาจากแพทย์ เพื่อนำไปซื้อยาต่อได้ทันที พบว่าในช่วงที่มีโควิด-19 จำนวนผู้ใช้บริการปรึกษาแพทย์อยู่ที่ 2.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 203% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้ไตรมาสที่ 2/2563 ทำได้ 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 85.1%เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (ข้อมูลจาก https://teladochealth.com/Bloomberg วันที่ 1 ก.ค. 63)

     อีกบริษัทคือ บริษัท Dexcom ผู้พัฒนาผลิตและจัดจำหน่ายระบบตรวจสอบน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบไม่ต้องเจาะเลือดในไตรมาสที่ 1/2563 มีรายได้ 451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรต่อหุ้นเติบโตถึง 500% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งในปี 2564 คาดว่า จะออกเครื่องรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กและมีฟีเจอร์มากขึ้น (ข้อมูลจาก https://investors.dexcom.com/Bloomberg วันที่ 28 ก.ค. 63)

 
Cr: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า, moneyandbanking


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup