Tech Startup

เทรนด์นอนไม่หลับเป็นเหตุ! ส่องกระแส Sleep Tech มาแรง ญี่ปุ่นทุ่มพัฒนานวัตกรรมช่วยนอนหลับ

 

Text : Vim Viva 

     เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทที่มีชื่ออยู่แล้วต่างพร้อมใจกันจับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ sleep tech หรือเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการนอน เช่น การนอนไม่หลับ รวมถึงนวัตกรรมที่ทำให้นอนหลับสบายที่สุด โดยนวัตกรรมที่มีการคิดค้นก็หลากหลายแตกต่างกันไป มีทั้งการพัฒนาเครื่องนอน และชุดนอนที่ทำให้หลับง่ายและสบาย ไปจนถึงการรบรวมข้อมูลแล้ววิเคราะห์เพื่อให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน  

 

 

     คำว่า “sleep tech” อาจทำให้คนส่วนใหญ่นึกถึงภาพอุปกรณ์ไฮเทคที่สามารถสวมใส่ได้ซึ่งเมื่อเทียบแล้ว บริษัทต่างชาติที่เป็นคู่แข่งบริษัทญี่ปุ่นจะมีความได้เปรียบกว่า เช่น นาฬิกาสมาร์ทวอทช์ของบริษัทแอปเปิล อุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัทฟิตบิท และอีกหลายบริษัท เช่น บริษัท Dreem ของฝรั่งเศสที่พัฒนอุปกรณ์สวมศีรษะที่ช่วยวัดตำแหน่งศีรษะ อัตราการหายใจ และกิจกรรมของสมองระหว่างนอนหลับที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น

     อย่างไรก็ตาม ทาคุโตะ โนโนมุระ หัวหน้าสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการนอนในโตเกียวกล่าวว่านวัตกรรมเกี่ยวกับการช่วยให้นอนหลับไม่ได้จำกัดแค่เพียงอุปกรณ์ดิจิทัลเท่านั้น ตราบใดที่มีหลักฐานและข้อมูลสนับสนุน อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ที่เป็นอนาล็อกก็สามารถยกให้เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการนอนได้เช่นกัน

     นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1984 โดยบริษัทผลิตที่นอนนิชิคาว่า สถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการนอนได้วิจัยและศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เช่น อุณหภูมิ ความสว่าง และท่วงท่าในการนอน ซึ่งงานวิจัยของสถาบันได้นำไปสู่การผลิตที่นอนรุ่น “AiR” ที่ช่วยลดแรงกดทับจากแผ่นหลัง ทำให้รักษาท่านอนที่สบาย ไม่ปวดหลังและไม่ทำร้ายสุขภาพ

 

 

     ขณะเดียวกัน บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งก็ให้ความสนใจในธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องนอนเช่นกัน ยกตัวอย่าง บริษัทเบรน สลีป (Brain Sleep) ในโตเกียวที่วางจำหน่ายหมอนระบายอากาศเมื่อปี 2020 คุณสมบัติของหมอนดังกล่าวคือช่วยระบายความร้อนจากร่างกายขณะนอนหลับนำไปสู่การนอนที่มีคุณภาพ

     โคสุเกะ มิชิบาตะ ซีอีโอเบรน สลีปเผยว่าบริษัทได้ระดมทุนผ่าน crowdfunding ซึ่งปรากฏว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจและให้ทุนสนับสนุนเรียกได้ว่าเกินกว่าที่คาดไว้ “การนอนไม่หลับ นอนไม่พอเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงในญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ นอนแบบไม่มีคุณภาพจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ”  

     ข้อมูลระบุตลาด sleep tech ในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ บริการทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อการนอนหลับ และอุปกรณ์ดิจิทัล ทั้งนี้ ยานอนหลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบริการทางการแพทย์ ขณะที่เครื่องดื่มและอาหารเสริมที่ช่วยให้นอนหลับจะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ส่วนสินค้าในกลุ่มนี้ที่แพร่หลายในญี่ปุ่นประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หรืออาหารฟังก์ชั่นที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐแล้ว     

     แม้กระทั่งบริษัทยาคูลท์ ฮอนฉะ ผู้ผลิตเครื่องดื่มนมเปรี้ยวของญี่ปุ่นที่เก่าแก่กว่า 80 ปีก็ร่วมเล่นในตลาดนี้โดยแนะนำเครื่องดื่ม Yakult 1000 ในปี 2019 สิ่งที่แตกต่างจากยาคูลท์ทั่วไปคือการเพิ่มจุลินทรีย์ lactobacillus casei strain Shirota กว่าแสนล้านตัว จุลินทรีย์ที่ว่าบริษัทอ้างว่าช่วยคลายเครียดและทำให้นอนหลับ เบื้องต้นจำหน่ายใน 6 จังหวัด และเพิ่งจำหน่ายทั่วประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 สามารถทำยอดขาย 1.14 ล้านขวด ซึ่งภายหลังซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายยาได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกันนี้แพร่หลายไปหมด

     ด้านบริษัทไดกิ้น อินดัสตรี้ ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่สุดของโลกก็เป็นอีกรายที่ต้องการมีส่วนร่วมในการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ บริษัทจึงศึกษาปัจจัยที่ทำให้ตื่นง่ายโดยการใช้เซนเซอร์จับอุณหภูมิที่ติดตั้งบนเพดานเพื่อมอนิเตอร์ใบหน้าของคนขณะนอนหลับ และคอยระบายอากาศให้หมุนเวียนบริเวณใบหน้า พบว่าให้ความรู้สึกเหมือนถูกกล่อมเบา ๆ

     ส่วนบริษัทพานาโซนิกก็เปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่น Eolia ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นบนบนสมาร์ทโฟน เมื่อวางมือถือใกล้หมอน แอปพลิเคชั่นจะบันทึกข้อมูลว่าผล็อยหลับตอนกี่โมง และพลิกตัวกี่ครั้ง นอกจากนั้น ยังมีเซนเซอร์ข้างเตียงที่วัดอุณหภูมิและความชื้นบริเวณรอบศีรษะและจะทำการปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ และระบบแสงของโคมไฟพานาโซนิกที่ค่อยเพิ่มแสงเพื่อปลุกผู้นอนในตอนเช้าแทนการปลุกด้วยนาฬิกา

 

 

     แม้ญี่ปุ่นจะเป็นรองคู่แข่งจากนอกในด้านสมาร์ทวอทช์ แต่สตาร์ทอัพในประเทศก็พยายามเต็มที่ในการตีตื้นขึ้นมา เช่น บริษัทแอคเซลสตาร์ส (ACCELStars) เทคสตาร์ทอัพจากเมืองคุรุเมะได้ร่วมมือกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียวพัฒนานาฬิกาอัจฉริยะที่ติดตั้งเทคโนโลยีอัลกอริธึมซึ่งสามารถบอกได้แม่นยำเกี่ยวกับสภาวะการหลับหรือตื่นของผู้สวมใส่

     มาซายูกิ อาซาโนะ ผู้บริหารแอคเซลสตาร์สกล่าวว่าการสวมใส่นาฬิกาเรือนนี้จะทำให้สามารถตรวจจับความไม่ปกติในการนอนได้ง่ายและเร็วขึ้น ลัดขั้นตอนในการเข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งหากเป็นการตรวจสอบทั่วไปจะซับซ้อนกว่านี้ เช่น ต้องวัดการทำงานของสมอง เป็นต้น แอคเซลสตาร์สมีแผนจะจำหน่ายสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้แก่สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ และเตรียมเปิดบริการตรวจสอบคุณภาพการนอนในปลายปีหน้าอีกด้วย

     ก่อนหน้านั้นมีสตาร์ทอัพหลายรายที่เข้ามาให้บริการด้านนี้ อาทิ บริษัทนูโรสเปซที่จัดทำโปรแกรมพัฒนาการนอนให้กับพนักงานในองค์กรต่าง ๆ  ลูกค้ารายใหญ่ของนูโรสเปซคือราคูเท็น กรุ๊ป ผู้นำด้านอี-คอมเมิร์ซของญี่ปุ่นที่นำโปรแกรมนี้มาใช้กับพนักงานในบริษัทและพบว่าหลังเข้าโปรแกรม คุณภาพการนอนของพนักงานดีขึ้น ส่งผลให้พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้น 120,000 เยนต่อคนต่อปีเลยทีเดียว

     ข้อมูลองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ระบุภาวะขาดการนอนหลับ หรือการนอนหลับไม่เต็มอิ่มเป็นปัญหาระดับชาติในญี่ปุ่น ประชากรญี่ปุ่นอายุระหว่าง 15-64 ปีนอนหลับเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 22 นาทีซึ่งน้อยกว่าที่ OECD กำหนดกว่าชั่วโมง โดยเฉพาะประชากรวัยทำงาน ชั่วโมงการนอนจะยิ่งน้อยลง มีการประเมินว่าภาวะขาดการนอนหลับของประชากรญี่ปุ่นส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 15 ล้านล้านเยนต่อปี

 

ข้อมูล

https://asia.nikkei.com/Business/Health-Care/Japan-Inc.-bets-on-sleep-tech-to-help-reduce-insomnia

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup