Tech Startup

รู้จัก Oho! แพลตฟอร์มแก้ปัญหา Food Waste ร้านอาหารลดของเหลือทิ้ง ผู้บริโภคได้กินของดีราคาถูก

 

Text : rujrada.w

     รู้ไหมว่า Food Waste หรือขยะอาหารที่เหลือจากการบริโภคของคนเราแต่ละวันสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน และรู้ไหมว่าเราสามารถช่วยกันลดขยะอาหารได้ง่ายๆ ด้วยการสั่งซื้ออาหารผ่าน Oho! แพลตฟอร์มสั่งอาหารที่สร้างมาเพื่อแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food Surplus) และขยะอาหาร (Food Waste)

     วริทธิ์ธร มังกรทองสกุล และสมิทธ์ ชัยชาญชีพ Co-Founder ของ Oho! ได้วางโมเดลธุรกิจว่าต้องการสร้าง Win-Win-Win solution สำหรับทุกฝ่าย คือ ร้านค้าได้ลดต้นทุน ผู้บริโภคได้ซื้ออาหารคุณภาพดีราคาถูก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

 

     จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้วร้านค้าที่อยากเคลียร์สินค้าไม่ให้เหลือทิ้งมักทำโปรโมชั่นลดราคาตั้งแต่ 30-70 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดร้าน ฝั่งผู้บริโภคที่อยากได้สินค้าคุณภาพดี ราคาถูกก็มักจะเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงค่ำ แต่วิธีนี้กลับเปิดโอกาสให้ร้านเคลียร์ Surplus ได้น้อยมาก เพราะจำนวนคนที่จะเข้ามาที่ร้านภายใน 2 ชั่วโมงนั้นจำกัดมาก ขณะเดียวกันฝั่งผู้บริโภคที่อยากได้สินค้าคุณภาพดีราคาถูกก็ต้องไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะไม่สามารถไล่หา Food Surplus จากร้านอาหารทั่วไปทีละร้าน แต่แอปพลิเคชัน Oho! ที่รวบรวมข้อมูลนี้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ และ Food Sustainable Outlet ที่มีบริการครอบคลุมตั้งแต่ทานที่ร้าน รับกลับบ้าน และจัดส่งเดลิเวอรี

  • เปลี่ยนต้นทุนจมเป็นกำไรให้ร้านค้า

     ในธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจมีบางเมนูที่ผลิตมากเกินความต้องการในจนทำให้เกิดเป็นของเหลือทิ้งในแต่ละวัน หรือการสต็อกวัตถุดิบเอาไว้แล้วใช้ไม่หมดและกลายเป็นขยะอาหารในที่สุด

     ก่อนหน้านี้ วริทธ์ธรอยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มและเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นที่เจอปัญหานี้ด้วยตัวเอง เขายกตัวอย่างว่าสำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใช้ของสด วัตถุดิบเหลือทิ้งเหล่านี้กลายเป็น Waste ที่มีราคาสูงมาก เช่น ปลามากุโระ ราคากิโลกรัมละ 3,000 กว่าบาท ถ้าเหลือ 500 กรัมก็เท่ากับสูญเงินไปกว่า 1,000 บาทแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่ามีอีกหลายร้านที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน 

     “เรามองว่า Food waste ไม่ใช่แค่ของที่จะหมดอายุใน 2-3 ชั่วโมงภายในวันนั้นๆ แต่ Food waste เกิดขึ้นได้โดยที่รู้ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์เลยด้วยซ้ำ เคยคำนวณไหมว่าของที่อยู่ในตู้แช่ถ้าหมดอายุพร้อมกันจะมีมูลค่าเท่าไร”

 

 

     โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่เปิดขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี มักเผชิญกับปัญหาอาหารเหลือทิ้งอย่างชัดเจนในทุกๆ วัน เพราะในแพลตฟอร์มมีร้านมากมายที่เปิดขายทุกวัน ทุกเวลา และทุกรายการ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคมักเลื่อนหน้าจอไม่กี่ครั้งก็ตัดสินใจซื้อ ผู้ที่ได้เปรียบคือแบรนด์ใหญ่ที่จ่ายเงินเพื่อซื้อเพื่อนที่สื่อ แต่ร้านขนาดเล็กหรือขนาดกลางกลับผ่านตาผู้บริโภคน้อยกว่า

     “แค่คุณไปหา Surplus หรือ Waste อย่างน้อย 10 รายการต่อวันมาทำรายการขายที่ Oho! เราจะเป็นตัวกลางที่เคลียร์ 10 ออเดอร์นี้ให้หมด เปลี่ยนต้นทุนจมให้เป็นกำไรได้ เรามีกลไกดันร้านค้าในแต่ละช่วง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกๆ ร้านได้มีโอกาสเคลียร์โปรดักต์ ลูกค้าเปิดแอปฯ มาช่วงบ่าย 2 ก็จะมีร้านใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ร้านเก่าที่ขายหมดไปแล้วอาจจะปิดไปหรือมีเมนูใหม่ๆ เข้ามา การเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคจะกระชับขึ้น นี่คือข้อแตกต่างในเชิงของกลไก”

     ซึ่งทุกรายการที่ขายใน Oho! ต้องมีส่วนลดขั้นต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึง 70 เปอร์เซ็นต์จากราคาขายปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้ร้านขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารส่วนเกิน ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้ซื้อสินค้าราคาประหยัด

     “โปรดักต์แต่ละอย่างที่มาขายกับเรา ถ้าไม่ขายในวันนี้หรือภายในอาทิตย์นี้ก็จะกลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งร้านค้าจะไม่สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าให้กับธุรกิจได้เลย เราเป็นตัวกลางที่ผลักดันให้สามารถเคลียร์สินค้าเหล่านี้ออกไปได้ผ่านการทำโปรโมชั่นต่างๆ และให้ความรู้ผู้บริโภค จึงมีการเก็บ GP เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงไป Subsidize เพื่อให้ค่าส่งสำหรับผู้บริโภคต่ำลง”

 

                 

  • โมเดลจัดการ Food waste ที่เหมาะกับผู้บริโภคไทย

     เจ้าของไอเดียสร้างแพลตฟอร์มจัดการขยะอาหารก็คือสมิทธ์ ที่เคยใช้แอปพลิเคชันคอนเซ็ปต์คล้ายกันนี้ที่อังกฤษ แต่โมเดลแก้ปัญหา Food Waste ในต่างประเทศมีความแตกต่างออกไปจากประเทศไทย ทั้งในแง่โปรดักต์ที่ยุโรปจะเป็นแซนวิชหรือเบเกอรี แต่ประเทศไทยหรืออาหารเอเชียมักจะเป็นอาหารปรุงสด เพราะฉะนั้นโมเดลธุรกิจที่จะทำให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งสิ่งที่ทีมให้ความสำคัญ คือ ประสบการณ์ของลูกค้าเมื่อเข้ามาใช้แอปพลิเคชันที่ต้องได้รับคุณค่าทั้งด้านการเงินและสิ่งแวดล้อม

     “โมเดลเราไม่เหมือนของต่างประเทศแม้เป้าหมายจะเหมือนกัน วิธีการของต่างประเทศจะเป็นวิธีให้ลูกค้าจองไว้ก่อน แต่พฤติกรรมการกินของคนไทยเขาไม่สะดวกมาจองล่วงหน้านานๆ เต็มที่ก็ครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ความไม่แน่นอนของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองก็เห็นบ่อย บางครั้งเราวางแผนจะสั่งจองไว้แต่อยู่ดีๆ อยากออกไปกินข้างนอก สุดท้ายแล้วเมื่ออาหารที่จองไว้มาส่งก็จะกลายเป็น Food Waste อยู่ดี และคนไทยชอบความสะดวกสบาย เรื่อง On Demand และ Delivery จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับให้บริการในประเทศไทย”

     อีกแง่หนึ่งเทรนด์เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ในเมืองไทยยังไม่แข็งแรงมากจึงต้องสร้างความเข้าใจว่านอกจากผู้บริโภคจะได้ประหยัดเงินแล้ว สิ่งที่ได้มากกว่านั้นจากการสั่งอาหารในแพลตฟอร์ม Oho! คือ สามารถลดขยะอาหารและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จะมากหรือน้อยก็ไม่เป็นไร

     “เปรียบเทียบคนเรารับประทานอาหาร 30 วัน วันละ 3 มื้อเท่ากับ 90 มื้อ แค่สั่งกับเราแค่ 10 ออเดอร์ต่อเดือนซึ่งไม่ได้เยอะเลย แต่ทุกๆ ออเดอร์เขาได้มีส่วนร่วมในการลดต้นทุนให้กับร้านค้าและประหยัดเงินของตัวเอง แล้วก็ลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม เราพยายามให้ทุกคนที่เข้ามาแอปฯ Oho! สัมผัสได้ถึงสิ่งดีๆ ที่เราพยายามจะสร้าง”

 

 

  • โมเดลในอนาคต ครอบคลุมถึงต้นน้ำ

     หลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์มมาได้แค่เดือนเดียว ปัจจุบัน Oho! มีร้านอาหารพาร์ทเนอร์แล้วประมาณ 400 แบรนด์ อาทิเชนร้านอาหารอย่าง Flash Coffee, บุญตงกี่, ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ และร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่เห็นถึงความสำคัญของการลดอาหารเหลือทิ้งและจัดการขยะอาหาร ก้าวต่อไปของ Oho! คือสร้าง Operation System ที่จะช่วยให้ร้านค้าสามารถคำนวณ Food Waste แล้วลิสต์รายการขึ้นไปขายที่มาร์เก็ตเพลสโดยอัตโนมัติ โดยที่ร้านไม่ต้องมานั่งเช็กเมนูหรือนับสินค้าที่เหลือในแต่ละวันด้วยตัวเอง เป็นระบบที่จะส่งเสริมให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการสินค้าและวัตถุดิบในร้านให้เข้าใกล้ Zero Waste ได้ง่ายขึ้น

 

 

     นอกจากนี้ แผนการเติบโตของ Oho! คือการจัดการปัญหาขยะอาหารในระดับอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มหรือโรงงานผลิตอาหารเพื่อแก้ปัญหา Food Surplus อย่างครบวงจร เพราะบางฤดูเกษตรกรก็ได้ผลิตผลจำนวนมากจนล้นตลาด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ด้านโรงงานก็มีส่วนที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่ได้ หรือมีตำหนิเล็กน้อย พวกเขาก็เตรียมโมเดลธุรกิจที่จะเข้าไปแก้ไขในอนาคต

     “เราไม่ได้แค่สร้างแอปพลิเคชัน แต่เราอยากจะสร้าง Movement เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดันไปด้วยกัน”

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup