ส่องไอเดีย RE:harvest สตาร์ทอัพเกาหลีรักษ์โลก เปลี่ยนกากเบียร์เหลือทิ้งเป็นแป้งทำอาหารสุดปัง
Text : Vim Viva
แน่นอนว่าแนวคิดการเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารเหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือที่เรียกว่า upcycled food นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีสตาร์ทอัพหลายแห่งดำเนินธุรกิจด้านนี้จนสร้างรายได้เป็นล่ำเป็นสันมาแล้ว แต่ที่เกาหลีใต้ธุรกิจนี้เพิ่งแจ้งเกิด และ RE:harvest ก็กลายเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่ทำให้ชาวเกาหลีได้ประจักษ์ว่ากากเบียร์และวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตแอลกอฮอล์ที่มักทิ้งเป็นขยะก็สามารถนำมาแปรเป็นอาหารได้
RE:harvest ก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดยอเล็กซ์ มิน หนุ่มอเมริกันเชื้อสายเกาหลี เขาเกิดที่นิวยอร์กและไปเติบโตที่แคลิฟอร์เนีย เขาเป็นอเมริกันเชื้อสายเกาหลีรุ่นที่ 3 ที่ตั้งรกรากที่อเมริกา จุดเปลี่ยนในชีวิตเริ่มต้นเมื่อเขามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลที่กรุงโซล หลังเรียนจบด้านบริหารธุรกิจเมื่อปี 2011 เขาก็ปักหลักที่เกาหลีใต้และทำงานในตำแหน่งปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้กับบริษัทชั้นนำของเกาหลีโดยมากเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B)
งานของเขาทำให้ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย “ตอนไปรวันดา ผมได้เห็นว่าผู้คนจำนวนมากอยู่ในสภาพหิวโหย ที่นั่นไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกคน แต่พอไปฝรั่งเศสและได้ใช้บริการร้านอาหารระดับมิชลิน จะพบความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ผมคุยกับเชฟที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสจึงได้ทราบข้อมูลว่าในการรังสรรค์เมนูต่างๆ จะมีวัตถุดิบเหลือทิ้งราว 281 กก.ต่อวัน ในขณะที่ผู้คนอีกซีกโลกหนึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร แต่อีกฝั่งของโลกกลับมีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก”
อเล็กซ์จึงตระหนักว่าอุตสาหกรรม F&B ในหลายประเทศของโลกยังขาดแคลนกระบวนการเปลี่ยนวัตถุดิบเหลือใช้จากการทำอาหารหรือเครื่องดื่มให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถบริโภคได้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อเล็กซ์ต้องการเปลี่ยนอาชีพจากที่ปรึกษาด้านการตลาดไปสู่ธุรกิจแปรรูปอาหาร และที่เขาเลือกทำธุรกิจในเกาหลีใต้ทั้งที่เป็นประเทศที่ upcycled food ยังไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่าเกาหลีเป็นประเทศขนาดเล็กมีพื้นที่เกษตรกรรมน้อยมากเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ดังนั้น เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุดิบอาหารจึงนำเข้า ในขณะเดียวกัน เกาหลีก็เป็นประเทศที่ส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตก็ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก
เมื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม อเล็กซ์ยังพบอีกว่าวัตถุดิบเหลือใช้จากอุตสาหกรรม F&B ในเกาหลีนั้นมีปริมาณมหาศาล คิดเป็นสัดส่วน 572 กก.ต่อคนต่อจำนวนประชากรเลยทีเดียว และปัญหาใหญ่สุดที่ตามมาคือวัตถุดิบเหลือใช้เหล่านั้นถูกทิ้งเป็นขยะอาหาร เป็นภาระให้บรรดาผู้ผลิตอาหารต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อมเพื่อกำจัดขยะเหล่านี้ อเล็กซ์จึงมองเห็นโอกาสที่จะทำเงินจากธุรกิจแปรรูปวัตถุดิบเหลือใช้