Text : Vim Viva

     เป็นข่าวที่น่ายินดีโดยเฉพาะในแวดวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมื่อโคตะ มาชิดะ และ ยูยะ ซากาอิ นักวิจัย 2 คนจากมหาวิทยาลัยโตเกียวได้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพนามว่า “ฟาบูล่า อิงค์” (Fabula Inc) เพื่อเปลี่ยนอาหารที่กำลังจะถูกทิ้งเป็นขยะให้กลายเป็นซีเมนต์ที่เมื่อนำไปประกอบเป็นรูปร่างต่างๆ จะมีความแข็งแรงทนทานและยืดหยุ่นได้มากกว่าซีเมนต์ปกติถึง 4 เท่า นวัตกรรมนี้จะช่วยขจัดขยะจากอาหาร บรรเทาภาวะโลกร้อน และลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบขยะ

     โดยทั่วไปกระบวนการผลิตซีเมนต์ซึ่งใช้วัตถุดิบหลักเป็นหินปูนจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 8 เปอร์เซนต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก หรือมากกว่า 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผลิตซีเมนต์แบบชีวภาพโดยผสมกับขี้เถ้าไม้ กากกาแฟ หรือวัสดุอื่นๆ เข้ากับซีเมนต์ดั้งเดิม แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ของฟาบูล่าโดย 2 นักวิชาการหนุ่มนั้นเรียกได้ว่าเป็นซีเมนต์ชีวภาพ 100 เปอร์เซ็นต์แถมยังรับประทานได้อีกด้วย

     แม้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะใช้เวลานานหลายปีแต่ขั้นตอนการผลิตนั้นเรียบง่ายมาก นั่นคือการนำเศษอาหารเหลือมาทำให้แห้งสนิท จากนั้นก็บดเป็นผงแล้วบีบอัดลงในพิมพ์ด้วยความร้อน แต่สิ่งที่ยากคืออาหารแต่ละชนิดใช้อุณหภูมิและแรงบีบอัดเพื่อทำให้แข็งไม่เท่ากัน

 

 

     อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยของมาชิดะ และซากาอิ มีวัตถุดิบหลายอย่างที่นำมาใช้ทำซีเมนต์ได้ อาทิ ผักกาดขาว กากกาแฟ เปลือกส้ม ฟักทอง เปลือกกล้วย สาหร่ายทะเล เศษหัวหอม ใบชา และอาหารเหลือจากกล่องเบนโตะ โดยมีการทดลองนำมาขึ้นรูปเป็นกระเบื้อง ผนังกั้น ถ้วยกาแฟ จานชาม และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนั้น ยังพบว่าผักกาดขาวสามารถนำมาผลิตเป็นซีเมนต์ที่แข็งแรงทนทานสุด ด้วยความหนา 5 มิลลิเมตร แผ่นซีเมนต์ที่ทำจากผักกาดขาวสามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่า 60 ปอนด์หรือราว 27 กิโลกรัมเลยทีเดียว

     ซากาอิเผยว่าฟาบูล่า สตาร์ทอัพของเขาอยู่ระหว่างเจรจากับหลายบริษัทเพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ชุดถ้วยกาแฟ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่แรงบันดาลใจของเขาสูงกว่านั้น กล่าวคือเขาคาดหวังซีเมนต์ที่คิดค้นขึ้นจะถูกนำไปผลิตเป็นที่พักพิงชั่วคราวกรณีที่เกิดภัยพิบัติ “ยกตัวอย่างเช่น ในการอพยพผู้ประสบภัยแล้วไม่สามารถอาหารส่งอาหารเข้าไปได้ ผู้ประสบภัยสามารถประทังชีวิตด้วยเตียงหรืออุปกรณ์ที่ทำจากซีเมนต์ชีวภาพ”

 

 

     ซากาอิอธิบายต่ออีกว่ากรณีที่ขาดแคลนอาหารจริงๆ ผู้ประสบภัยสามารถหักซีเมนต์เหล่านั้นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มเป็นอาหารได้ ซึ่งหากจะนำซีเมนต์มาใช้เพื่อจุดประสงค์นี้ ก็อาจจะมีการเพิ่มวัตถุดิบอื่นลงในซีเมนต์ เช่น เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส และมีการแต่งกลิ่น สี และรส เป็นต้น แต่หากไม่ใช้ในกรณีภัยพิบัติ ของใช้ที่ทำจากซีเมนต์ชีวภาพอาจต้องมีการเคลือบสารเพื่อกันน้ำและป้องกันการกัดแทะของหนูและแมลง หากไม่ใช้งานแล้วก็สามารถฝังกลบ ซีเมนต์จะย่อยสลายตามธรรมชาติไปเอง  

     ข้อมูลระบุก่อนหน้านั้นก็มีการคิดค้นก้อนอิฐทำจากเห็ดที่ให้ความแข็งแกร่งเหนือกว่าคอนเกรีต โดยฟิล รอส ดีไซเนอร์และนักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครเวิร์กส์ได้ผลิตก้อนอิฐจากเห็ดหลินจือใช้ชื่อว่า Mycotecture ก้อนอิฐที่ว่าไม่ได้ทำจากตัวเห็ดแต่ทำจากไมซีเลียม (mycelium) ซึ่งเป็นเส้นใยจากเห็ด ไมซีเลียมเติบโตเร็ว และมีคุณสมบัติทนทาน กันน้ำ กันไฟ ปลอดพิษ และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ