Tech Startup

Happy Grocers สตาร์ทอัพสายเขียว ส่งต่อสินค้าออร์แกนิคจากเกษตรรายย่อยสู่คนเมือง

 

     ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาด ใครจะคิดว่าเด็กนักศึกษาที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัยเพียง 6 เดือน จะสามารถผุดไอเดียและทำธุรกิจจนเติบโตอย่างรวดเร็วได้

     แต่ Happy Grocers แพลต์ฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคสินค้าออร์แกนิคและเกษตรกรรายเล็กที่ต้องการขายผลผลิตในราคาที่สมเหตุสมผล ของโม-สุธาสินี สุดประเสิรฐ และ มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย 2 สาวเพื่อนซี้กลับทำเช่นนั้นได้

     ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียง 6 เดือน ในจังหวะที่โควิด 19 กำลังระบาด ตลาด ห้าง ร้าน เริ่มปิด พวกเธอได้ยินเสียงบ่นจากเพื่อนชาวต่างชาติว่าไม่สามารถหาอาหารสดผักผลไม้ได้เลย  ขณะที่ทั้งคู่ทำงานคลุกคลีอยู่กับเกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งในเวลานั้นเกษตรกรรายย่อยก็มีความลำบากเริ่มขายผลผลิตไม่ได้ เมื่อเห็นปัญหาดังกล่าวจึงเกิดไอเดียที่อยากจะช่วยทั้ง 2 ฝั่งให้มาเจอกัน  

     จากนั้นทั้งคู่ก็ลงมือทำงานด้วยกันอย่างรวดเร็ว โดย Happy Grocers เกิดขึ้นมาภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่มีไอเดีย เริ่มตั้งแต่การเปิดเฟซบุ๊ซ แฟนเพจ เพื่อประกาศและใครอยากซื้อก็ให้อินบ็อกซ์มาสั่ง ถัดจากนั้นก็พัฒนาเว็บไซต์กันเอง มีการใช้ SEO แล้วมี Traction ทันที ประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง ลูกค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลูกค้าหลายคนอยากซื้ออยากเจอตัว จึงนำไปสู่การทำ Happy Grocers Truck ที่วิ่งย่านสุขุมวิท อารีย์ สาทร

     ปัจจุบัน Happy Grocers มีเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายประมาณ 150 คน ใน 16 จังหวัด เช่น  เชียงใหม่ นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี ศรีสะเกษ เป็นต้น  

เริ่มต้นด้วยประสบการณ์ เติบโตไวด้วยพันธมิตร

     “เราทั้งคู่ทำงานกันตั้งแต่เรียนปี 1เลยมีโอกาสทำงานกับคนหลายกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะทำงานกับองค์กรต่างชาติ เช่น ยูเอ็น ดังนั้นพอเริ่มทำ Happy Grocers ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เลยเป็นเพื่อนต่างชาติ มันเลยเหมือนว่าเราก็ไม่ได้จุดเริ่มต้นจากศูนย์ซะทีเดียว เรามีคอนเน็กชั่นกันอยู่พอสมควร แต่เราก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจเลย จึงต้องเรียนรู้ระหว่างทางค่อนข้างเยอะ” โม กล่าวถึงการเริ่มต้นของ Happy Grocers ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่ก็ยอมรับว่าโดยธรรมชาติการทำธุรกิจแล้วจะต้องมีปัญหาอุปสรรคบ้าง ซึ่งเธอมองว่าเป็นเหมือนการเรียนรู้ที่จะทำให้ Happy Grocers เติบโตมากขึ้น   

     อย่างไรก็ตาม หากดูโมเดลธุรกิจของ Happy Grocers แล้วจะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรหลายจังหวัด ขณะที่ทีมงานนั้นมีเพียงไม่กี่คน ในเรื่องนี้โมบอกว่า พวกเธอโชคดีที่ได้รู้จักกับกลุ่ม Haze Free Social Enterprise จากจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย  ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเข้าสนับสนุน ในการดูแลเกษตรกรที่ทำออร์แกนิค นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเธอจึงยังสามารถทำได้ทั้งๆ บริษัทมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้

     โม บอกว่าแม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Happy Grocers จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่พวกเธอจะเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุน การสร้างซัพพลายเชนที่เชื่อใจได้ มีคุณภาพ มีความโปร่งใสของกระบวนการ และความปลอดภัยในความเป็นออร์แกนิค เพื่อต้องการสร้างรากฐานให้ Happy Grocers มีความแข็งแรง   

     มาถึงวันนี้ เธอตั้งใจที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ โดยการเอาข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรเข้าไปอยู่บนบล็อกเชนทั้งหมด เพื่อแสดงความโปร่งใสของกระบวนการทั้งหมด โดยจะทำข้อมูล 4 เรื่องหลัก คือ

    1.การตรวจสารอินทรีย์ในดิน ไม่ใช้สารเคมี มีความหลากหลายทางชีวภาพ

    2.เทรดแฟร์ เพื่อพิสูจน์ให้ลูกค้าแต่เห็นว่ามีการซื้อขายกันจริง

    3.พื้นที่ที่ทำการเกษตรต้องไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าคุ้มครองหรือป่าสงวน

     4.ไม่มีการเผาในกระบวนการเพาะปลูก โดยจะเป็นการดูได้ว่าพื้นที่นี้ไม่มีการเผาเกิดขึ้น

     “เพราะเกษตรกรกลุ่มที่ทำงานด้วยที่น่านและเชียงใหม่ เมื่อก่อนก็ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วก็มีการเผาพื้นที่เพาะปลูกด้วย เราพยายามที่จะเปลี่ยนให้เขามาปลูกผักออร์แกนิคแทน มีการใช้พื้นที่ปลูกต้นไม้และทำคาร์บอนเครดิตโปรแกรมสำหรับพื้นที่ที่เหลือซึ่งก็จะมีการมอนิเตอร์ว่าคนที่อยู่ในโปรแกรมนี้ต้องไม่มีการเผาอีกต่อไป”

ต่อยอดสู่น้ำมะพร้าวส่งออกแบรนด์ไชโย

     เมื่อปีที่ผ่านมา Happy Grocers ได้มีการต่อยอดธุรกิจสู่สินค้าใหม่นั่นคือ น้ำมะพร้าว 100% แบรนด์ไชโย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการส่งออก และส่งออกไปยังประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์  เป็นความตั้งใจของทั้งคู่ที่อยากส่งออก

     “ตอนที่มันเริ่มทำ Happy Grocers  มาได้2 ปี เรามีจำนวนเกษตรกรที่ทำงานด้วย 100 คนต่อลูกค้า 1,000 คน ถ้าเราอยากให้เกิดอิมแพคกว้างเราจะต้องสเกลธุรกิจให้มากกว่านี้ ก็เลยเริ่มสนใจที่จะส่งออก โดยเลือกทำน้ำมะพร้าว 100% แบรนด์ไชโย แล้วเราก็ตั้งใจที่จะส่งออก เพราะถ้าเราทำน้ำมะพร้าวขายที่เมืองไทย ไม่น่าจะสร้างอิมแพคได้ คนไทยสามารถหามะพร้าวสดกินได้ง่าย ดังนั้นมันจะดีกว่าที่เราจะเอามันไปให้กับคนที่เข้าไม่ถึงได้ง่ายเหมือนคนไทย เราเลยตั้งใจส่งออก ซึ่งตอนนี้ส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์และเยอรมนี ซึ่งเยอรมันเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมะพร้าวมากที่สุดในยุโรปประมาณปีละ 8 ล้านลิตร”

 

เป้าหมายคือทำให้ยั่งยืน

     สำหรับเป้าหมายของ Happy Grocers โมบอกว่า อยากจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้สินค้าออร์แกนิกส์ง่ายๆ  โดยคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ทำให้ชีวิตของลูกค้าสะดวกสบายที่สุด เพราะจากการศึกษาข้อมูลทางการตลาดพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการที่จะต้องไปหาซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืน ดังนั้นถ้ามีเว็บไซต์แล้วสามารถคลิกเลยที่เดียวแล้วส่งถึงบ้านได้เพียงกล่องเดียวก็จะดีมาก

     “แม้เราจะเป็นสตาร์ทอัพแต่จริงๆ วิธีคิดของเราคือ Social Enterprise ซึ่งจะค่อนข้างเติบโตได้ยาก จึงเป็นความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังการผลิต หรือการแข่งขันในการตลาด เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะทำให้ได้ ทำให้คนที่ทำ Social Enterprise ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะขายของได้ไหม เพราะว่าเรามีแพลตฟอร์ม Happy Grocers อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องของความโปร่งใสของซัพพลายเชน อยากให้คนรู้และเข้าใจมากขึ้นว่าที่มาที่ไปของอาหารคืออะไรจากข้อมูลที่เราให้เขาได้ การเริ่มว่ายากแล้ว แต่สิ่งที่ยากคือการที่จะทำให้มันอยู่ต่อได้มีลูกค้า รายได้ที่ยั่งยืน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup