ถ้าพูดถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมและสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการ นาทีนี้คงหนีไม่พ้น “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI” ที่ปัจจุบันมีพัฒนาการและความล้ำแบบก้าวกระโดด หลายธุรกิจนำ AI มาประยุกต์ใช้ได้แบบไม่น่าเชื่อ ซึ่งบางอย่างอาจจะเกินความสามารถมนุษย์ ทำให้ “AI” ถูกตั้งคำถามว่าจะมาสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรืออาจมาช่วงชิงสิ่งที่มนุษย์เคยทำได้หรือไม่ โดยข้อสงสัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ใช้และทรรศนะที่ว่า “AI คือเครื่องมือที่จะมาสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม”

     ทั้งนี้ เพื่อเปิดอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ AI สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะพาไปสัมผัสกับ 4 ตัวอย่างของการใช้ AI ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เพื่อนำมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเรียกได้ว่าเข้ามาเปิดโอกาสและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียม ครอบคลุมทั้งการจ้างงาน การสร้างสังคมให้น่าอยู่ การลดภาระทางสุขภาพ รวมถึงโอกาสทางการศึกษา ที่ทั้งหมดล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

1. “AI” กับการสร้างโอกาสในการศึกษาให้ผู้พิการทางการได้ยิน

    เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถปรับเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ เทียบเท่ากับการมีครูผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาส่วนตัวผ่านอุปกรณ์พกพา ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้หลากหลาย และมีรูปแบบที่กระชับรวดเร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือกลุ่มเปราะบางอื่นๆ โดยมีตัวอย่าง เช่น แฟมิลี่เดฟ: แพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษามือด้วย AI เพื่อเพิ่มโอกาสทางสังคมของผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยระบบ ASL (American Sign Language) ที่มาช่วยแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ภาษามือ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท แฟมิลี่ เดฟ จำกัด เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าถึงการเรียนรู้ภาษามือที่เป็นมาตรฐานสากลจากอเมริกาได้ง่าย สะดวก และราคาถูก ซึ่งภาษามือที่เป็นสากลจะช่วยให้สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจเพราะมีผู้ใช้จำนวนมาก และยังเป็นต้นแบบภาษามือของไทยอีกด้วย

     ทั้งนี้ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษามือด้วย AI มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น การเรียนรู้คำศัพท์ในชีวิตประจำวัน โดยการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยตรวจสอบการสะกดนิ้วที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินฝึกฝน ฟีเจอร์หมวดสื่อออนไลน์ที่รองรับภาษามือระหว่างดู เพื่อให้ผู้พิการได้ฝึกฝนการอ่านภาษามือจากสื่อ ช่วยให้ผู้พิการรับรู้ข่าวสารผ่านล่ามทีวีได้อย่างเข้าใจ อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการสามารถเรียนรู้สื่อการสอนวิชาชีพผ่านเว็บแอปแฟลิมี่เดฟ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพให้สามารถสร้างงาน และสร้างรายได้ด้วยตนเอง