Cloud Marketplace แหล่งรวมบริการคลาวด์ในที่เดียว

 


เรื่อง กองบรรณาธิการ

    ปัจจุบันภาคธุรกิจเริ่มหันมาตระหนักและเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไอดีซีมีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2561 การลงทุนด้านคลาวด์จะมีสัดส่วนเป็นอย่างน้อย 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด เรียกได้ว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจมากขึ้น จากการเข้าถึงที่สะดวก รวดเร็ว 


    ขณะเดียวกันยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์นั้นใช้การลงทุนต่ำ ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนได้ ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตและสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้ โดยเฉพาะในยุคที่การค้าเสรีไร้พรมแดน ย่อมนำมาซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใช้เทคโนโลยีคลาวด์มาเป็นผู้ช่วยจัดการธุรกิจ เพราะต่อไปในอนาคตจะเป็นการแข่งขันกันด้วยเรื่องของเวลา และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


    จากผลสำรวจ Cloud Computing Readiness in Thailand 2015 ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ซึ่งมีการระบุว่า องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยจะเริ่มใช้คลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเต็มที่ในปี 2559 โดยจะมีบริษัท 55 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้งานคลาวด์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (Lass, Pass หรือ Sass) และธุรกิจ SME ในปีที่ผ่านมามีการใช้งานคลาวด์ในสัดส่วนที่มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งนี่คือแนวโน้มสำคัญของกลุ่มธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยที่ไม่ควรมองข้าม 


    แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีคลาวด์จะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการคลาวด์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็มีผู้ประกอบการ SME อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ที่ตนเองต้องการได้ ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจเป็นเพราะยุ่งกับการทำงานจนไม่มีเวลา หรือไม่รู้ว่าตนเองควรต้องใช้แบบไหน อย่างไร ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดบริการใหม่ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น


    จากการเปิดเผยของ ฐนสรณ์ ใจดี  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า True IDC ได้มีการเปิดตัว Cloud Marketplace ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หลากหลายได้ในที่เดียว ขณะเดียวกันถือเป็นการช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์บนคลาวด์ ได้มีช่องทางการจำหน่ายและนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย 


    เรียกได้ว่า SME จะสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าและบริการเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำโซลูชั่นของเอ็นเตอร์ไพรส์มาปรับแต่งให้เหมาะสมกับธุรกิจ SME ซึ่งเน้นความสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ Cloud Infrastructure และ Cloud Application เพื่อช่วยผู้ประกอบการใน 3 เรื่องหลัก คือ การสร้างรายได้ การลดต้นทุน และเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาด


    “ปัจจุบัน SME 2.9 ล้านราย ในประเทศไทย มีการใช้ไอซีทีคิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านบาท สิ่งที่สนใจมากที่สุด คือ SME ในกลุ่มนี้เริ่มมีพฤติกรรมซื้อออนไลน์ 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ โอกาสของเรา ทั้งนี้ ในจำนวน SME ทั้งหมด 79 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ใน 3 กลุ่มหลักๆ เท่านั้น คือ ค้าปลีก โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ร้านอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจนเลยว่ามีการใช้เทคโนโลยีเยอะ เพราะเขาต้องเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เขายิ่งต้องการลดต้นทุน ซึ่งคลาวด์เป็นสิ่งที่ช่วยเขาลดต้นทุนได้ชัดเจน เพราะว่าคลาวด์เป็นระบบแบบใช้เท่าไร จ่ายเท่านั้น อยากใช้น้อยก็จ่ายน้อย อยากใช้มากก็จ่ายมาก และด้วยจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ที่เริ่มมีการซื้อออนไลน์ นั่นหมายถึงว่า เขาพร้อมจ่าย แต่อาจไม่รู้จะซื้อจากใครที่มั่นใจได้ การที่เราเปิด Cloud Marketplace ก็จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงและเลือกใช้บริการคลาวด์ได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอาอะไรไปขายก็ได้ เราเลือกที่เหมาะสมสำหรับ SME ให้ด้วย เพราะเรารู้ดีว่า SME ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลา เขาเห็นอะไรเขาก็เอามาใช้เลย แต่จริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าผลกระทบคืออะไร ดังนั้น เราจึงต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสม พร้อมที่จะใช้งานทางธุรกิจได้ทันที นั่นคือจุดประสงค์หลักของการทำ Cloud Marketplac ในส่วนของเป้าหมายเบื้องต้น เราเชื่อว่าถ้าสามารถจับกลุ่มลูกค้าใน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้ ได้สัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว”


    นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำดีๆ จาก ลีเฮอร์ ออบิซูร์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี ประจำภูมิภาคอินโดจีน มาฝากกับ SME เพื่อให้การใช้งานคลาวด์นั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยบอกไว้ว่า ธุรกิจ SME ที่ใช้คลาวด์มักประสบปัญหาด้านการจัดการและขาดการสนับสนุน เมื่อธุรกิจจะต้องตัดสินใจพิจารณาช่องทางการใช้บริการคลาวด์ที่ต้องมองในมุมที่กว้างขึ้นและตัดสินใจว่าพวกเขาจะจัดการดูแลด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะจ้างบริษัทข้างนอกมาช่วยดูแลเรื่องที่อาจเป็นภาระกับองค์กร เช่น การกู้คืนข้อมูล การควบคุมแบบอัตโนมัติ และการปรับเปลี่ยนสเกลการใช้งาน ฯลฯ 


    ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากเลือกที่จะใช้บริการจากผู้ให้บริการคลาวด์มากกว่าการจัดการดูแลด้วยตัวเอง อาจเป็นด้วยว่าธุรกิจ SME ยังขาดแคลนความรู้เฉพาะจุด รวมทั้งกำลังคนและทักษะที่จำเป็นในการดูแลจัดการคลาวด์โดยเฉพาะ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะต้องเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการคลาวด์ ลีเฮอร์แนะนำว่า ควรเลือกผู้จำหน่ายที่มีประสบการณ์ มีความรู้พื้นฐาน และมีความสามารถในการให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม โดยธุรกิจ SME ควรแน่ใจว่า การบริการที่จะได้รับนั้นมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถดำเนินงานธุรกิจหลักไปได้อย่างลื่นไหล โดยไม่ต้องกังวลถึงการทำงานของคลาวด์ในแต่ละวัน นอกจากนั้น ควรพิจารณาข้อตกลงการให้บริการ (SLA) กับผู้ให้บริการคลาวด์อย่างละเอียด เพื่อให้ครอบคลุมกรณีฉุกเฉินหรือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อสร้างความสบายใจ และความรู้สึกปลอดภัยในการลงทุน


    เรื่องของความปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ธุรกิจ SME ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ธุรกิจ SME ต้องคำนึงว่า เซิร์ฟเวอร์ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นประเภทที่ติดตั้งภายในองค์กรหรือที่อยู่บนคลาวด์ ล้วนมีความอ่อนไหวและอาจถูกโจมตีได้จากหลายแหล่งที่มา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจะต้องปกป้ององค์กรของตนเอง พร้อมมีการวางแผนที่ดีและระมัดระวัง ไม่ว่าพวกเขาจะดูแลรักษาบริการคลาวด์ด้วยตนเองหรือจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาช่วยจัดการให้ก็ตาม และนี่คือเคล็ดลับที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบความปลอดภัยของคลาวด์คอมพิวติ้งในองค์กร


    เริ่มจากทำความเข้าใจกับระเบียบข้อบังคับต่างๆ อุตสาหกรรมบางประเภท มีมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตาม หากองค์กรของคุณมีระเบียบข้อบังคับเหล่านั้นอยู่ ควรให้แน่ใจว่าคุณได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด ถัดมาคือ ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เลือกใช้บริการจากบริษัทที่มีเอกสารหลักฐานรับรองที่แสดงความน่าเชื่อถือต่างๆ และมีความปลอดภัยที่สามารถตรวจสอบได้ จากนั้นคือ ต้องรับรู้และเข้าใจถึงระบบการทำงานของผู้ที่จะให้บริการ 


    โดยอันดับแรก ศึกษาการทำการตลาดของบริษัทผู้ให้บริการคลาวด์ สอบถามให้ชัดเจนและตรงประเด็นถึงรายละเอียดการทำงานและการให้บริการของบริษัทนั้นๆ ทำความเข้าใจถึงลำดับขั้นและประเภทของการเข้ารหัสข้อมูลที่บริษัทนั้นๆ นำเสนอ การควบคุมด้านความปลอดภัยในที่บริษัทนั้นๆ ใช้งาน รวมถึงการเคลื่อนย้ายและสถานที่ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเจรจาต่อรองเรื่องระดับขั้นของการให้บริการ ผู้ให้บริการคลาวด์บางแห่งจะมีการเจรจาต่อรองระดับขั้นของการให้บริการ ซึ่งมีการระบุสัดส่วนและคำนวณเวลาที่ใช้ในการตอบสนองเมื่อลูกค้าพบเจอปัญหา ข้อตกลงเจรจาเหล่านี้อาจรวมไปถึงค่าปรับหรือส่วนลดต่างๆ หากผู้ให้บริการปฏิบัติงานไม่ตรงตามข้อตกลง โดยข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้จะช่วยปกป้ององค์กรของคุณได้หากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน