​หุ่นยนต์มาแน่! เทรนด์ที่ SME ต้องพร้อมใช้





 

     แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ต่างประเทศเท่านั้นที่มีการตื่นตัวเรื่องของการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์ บ้านเราเองก็เช่นกัน ซึ่งนอกจากการใช้ในไลน์ผลิต หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจเล็กๆ อย่างผู้ประกอบการ SME เองก็ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ลองมาพูดคุยถึงความสำคัญของผู้ช่วยยุคใหม่นี้กับ ล้ำบุญ สิมะขจรบุญ Local Business Unit Manager, Robotics บริษัท เอบีบี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ระดับโลก กัน   
 

Q: ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลงของการใช้หุ่นยนต์ที่เห็นนั้นเป็นยังไงบ้าง
 

     ล้ำบุญ: ในส่วนของอุตสาหกรรมแน่นอนจากเดิมที่เราใช้คนค่อนข้างมาก การผลิตยังไม่ค่อยอัตโนมัติ พอเราเริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ก็ถือว่าช่วยได้มาก จริงๆต้องบอกว่าการผลิตต้องการสิ่งที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น แต่เดิมอัตโนมัติอาจจะเป็นในลักษณะที่ว่าเราผลิตเป็นของใหญ่ๆซึ่งอาจจะไม่ต้องการความยืดหยุ่น แต่ปัจจุบันเราจะสังเกตว่าโปรดักต์หรือผลิตภัณฑ์หลายๆอย่างต้องการความยืดหยุ่นด้วย เช่น การผลิตน้ำขวดที่มีหลายขนาดไม่ว่าจะเป็นขนาดไซส์เล็ก ไซส์มินิ ไซส์จิ๋ว ไซส์กลาง ไซส์ใหญ่ เพราะฉะนั้นการผลิตแบบนี้ต้องหาเครื่องมือหรือตัวช่วยที่มีความยืดหยุ่นมาใช้ซึ่งตัวหุ่นยนต์ก็จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้


 

Q: จะเห็นว่ามีการพูดถึงหุ่นยนต์แบบแขนกลทั้งแบบแขนเดียวและสองแขนกันมากขึ้น แล้วหุ่นยนต์แบบนี้มีความแตกต่างและประโยชน์ยังไง
 

     ล้ำบุญ: แต่เดิมการใช้แรงงานคนเป็นเรื่องที่ทุกคนยังคุ้นเคยและค่าแรงต่างๆยังไม่ค่อยสูง เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ในช่วงแรกๆจะผลิตแบบแขนเดียวออกมาทำงาน เช่น ใช้ Transfer บ้าง ทำงานเชื่อมบ้าง ทำงานพ่นสีบ้าง แต่ปัจจุบันเราต้องการหุ่นยนต์เข้ามาทำงานในขั้นตอนหรือกระบวนการร่วมกันกับคน หุ่นยนต์ปกติที่ทำงานในไลน์อุตสาหกรรมก็ทำไป แต่หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกันกับคนนั้นมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ที่เป็นแบบสองแขนจะสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีกว่า เช่น นำมาใช้ในการประกอบที่มีชิ้นงาน 2 ชิ้น ประกอบแล้วอาจจะต้องโยนหรือส่งต่อให้กับ Process ถัดไปซึ่งอาจจะเป็นคนบ้างหรืออาจจะเป็นหุ่นยนต์ด้วยกันเองบ้าง เพราะฉะนั้นลักษณะงานแบบนี้ก็จะเหมาะกับการนำหุ่นยนต์แบบสองแขนเข้ามาใช้
 

Q: ฟังก์ชั่นสำคัญตอนนี้คืออยู่ที่การทำงานร่วมกันกับมนุษย์หรือ Collaborative
 

     ล้ำบุญ: ลักษณะหุ่นยนต์ที่เป็น Collaborative นั้นหมายความว่าหุ่นยนต์เหล่านี้มีความปลอดภัยสูงพอสมควรที่จะสามารถทำงานร่วมกับคนได้ เพราะฉะนั้นในร้านค้าก็ดี ในร้านสะดวกซื้อก็ดี ในอนาคตก็จะมีหุ่นยนต์ในลักษณะแบบนี้เข้ามาทำงานร่วมด้วย เพราะเวลาเขาทำงานเนี่ยปลอดภัยเพียงพอไม่ว่าจะเป็นแบบแขนเดียวหรือสองแขนที่เป็น Collaborative เวลาที่สัมผัสกับคนแล้วมีความปลอดภัยเพียงพอหรือพูดง่ายๆว่าไม่ทำให้คนบาดเจ็บนั่นเอง  
 


 

Q: คือหุ่นยนต์ประเภทนี้มีความแตกต่างจากเครื่องจักรในสมัยก่อน
 

     ล้ำบุญ: เครื่องจักรในสมัยก่อนนั้นก็เป็นหุ่นยนต์ เป็นเครื่องจักรที่ถ้าเราเอามือหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปอยู่ในช่วงของการทำงานของเขา เขาจะไม่รู้เลยก็จะชน จะเบียด จะตัดทำให้ร่างกายเราบาดเจ็บได้ แต่หุ่นยนต์ประเภท Collaborative นี้ไม่ใช่ เพราะจะมีตัวเซ็นเซอร์และการออกแบบของตัวแขนให้มีความปลอดภัย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่แค่เซ็นเซอร์อย่างเดียว เซ็นเซอร์อย่างเดียวยังการันตีไม่ได้ว่าจะไม่ทำให้คนบาดเจ็บ ดังนั้นต้องนับรวมทุกอย่างตั้งแต่การออกแบบเลย เช่น แขนซึ่งแต่เดิมหุ่นยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นแขนที่เป็นโลหะ แต่ปัจจุบันจะลดความเป็นโลหะลงและใช้วัสดุอื่นแทน เช่น ไทเทเนียม เพื่อให้มีน้ำหนักเบาขึ้นแล้วคลุมด้วยยางอีกที ดังนั้นต่อให้มากระทบหรือชนกับคนความปลอดภัยก็ยังมีเพียงพอ
 

Q: ในอนาคตอีกสักกี่ปีถึงจะเห็นภาพของการใช้หุ่นยนต์แบบนี้ในบ้านเราอย่างชัดเจน
 

     ล้ำบุญ: คิดว่าอีกไม่นาน เพราะมนุษย์ก็คงไม่อยากทำงานอะไรที่มันซ้ำๆ งานประจำที่เป็นกิจวัตรแบบนี้ อาจจะเบื่อ เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำแล้ว พอไม่อยากทำก็ต้องมีหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อะไรสักอย่างมาทำงานแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการผิดพลาดทางการทำงานซ้ำๆ ของคนแล้ว การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคส่วนของอุตสาหกรรม หรือบริษัทจะสามารถช่วยในเรื่องการลดต้นทุน การเพิ่ม Productivity หรือการเพิ่มผลผลิต เรื่องของความปลอดภัย รวมถึงเรื่องของการเหนื่อยล้าจากการทำงานที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของพนักงานดีขึ้น    

 


Q: ในแง่ของผู้ประกอบการ SME จะรับเอาเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์เข้ามาปรับใช้ยังไงได้บ้าง
 
 
     ล้ำบุญ
: ได้เยอะเลย อย่างหุ่นยนต์แขนกล จะสังเกตได้ว่าแขนของหุ่นนั้นก็จะเป็นแขนแบบทั่วๆไป ซึ่งทางผู้ประกอบการ SME สามารถที่จะทำการออกแบบฟังก์ชั่นการทำงานให้กับตัวหุ่นยนต์ได้ อย่างเช่น หุ่นยนต์ YuMi ของเราที่นำมาใช้ในการทำสายไหมได้เพียงวางระบบการทำงานพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้อย่างตัวตักน้ำตาล ถ้าหากใครไม่มีความรู้ก็จะมีบริษัทที่เรียกว่า System Indicator หรือ บริษัทที่ทำการ Indicate ระบบ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะซัพพลายอุปกรณ์ ออกแบบดีไซน์อุปกรณ์ที่จะทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์ให้ได้ ซึ่งจะเป็นการ Added Value หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่เป็น SME ไม่จำเป็นที่ต้องผลิตหุ่นยนต์เองแต่อยู่ที่ว่าจะนำหุ่นยนต์ที่มีอยู่นั้นไปใช้งานยังไง เช่น หากจะเอาเข้าไปใช้ใน Process การทำขนมปังก็ต้องมาดูว่าจะทำยังไงได้บ้าง ซึ่งหุ่นยนต์แขนเปล่าๆมันยังทำไม่ได้ก็ต้องมีตัวจับ อุปกรณ์ที่จ่ายขนมปังเข้ามา พอเข้ามาแล้วจะให้หุ่นยนต์ทำอะไรบ้าง เสร็จแล้วจะออกไปยังไง เป็นต้น
 

Q: ถ้ามองในแง่ราคาผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME จะสู้ไหวหรือไม่กับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในปัจจุบัน
 

     ล้ำบุญ: ได้แน่นอน เพราะเดี๋ยวนี้แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กแต่จริงๆแล้วยอดขายของเขานั้นไม่ได้น้อยและมีกำลังซื้อ ทุกวันนี้ไม่มีคำถามที่ว่ามันจะคุ้มค่าไหมแล้ว เพราะคำถามวันนี้คือจะเอาหุ่นยนต์ที่มีไปใช้ยังไง ปัจจุบันหุ่นยนต์ทุกรูปแบบในบ้านเราจะมีประมาณ 3,000 – 4,000 ตัวต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโดยตัวอุตสาหกรรมความคุ้มค่าในการลงทุนต่างๆมันได้แล้ว ดังนั้นเรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นที่ SME จะสู้ไม่ได้ แน่นอนเราจะบอกว่าเรื่องของ Cost หรือต้นทุนไม่ใช่เรื่องสำคัญก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามออกแบบให้มีต้นทุนต่ำที่สุดแต่ทำงานได้ดีที่สุด 
 

     ดังนั้น เรียกได้ว่าเรื่องของการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจของ SME นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ประกอบการต้องรู้จักติดตามเทรนด์และสร้างสรรค์ไอเดียในการนำไปใช้เพื่อให้ผู้ช่วยอย่าง “หุ่นยนต์” เข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมงานที่ทรงพลังและสร้างข้อได้เปรียบและความแข็งแกร่งให้กับการทำกิจการ  





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

โกเล ไอเดียสแน็กเพื่อสุขภาพจากก้างปลา เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา

“โกเล” (Gole Crispy) ปลาทูแท่งอบกรอบแคลเซียมสูง นวัตกรรมจากก้างปลาทะเล เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา เพื่อช่วยวิกฤตธุรกิจครอบครัว