ถอดรหัส “ไทยสมเด็จ” ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย อยู่แบบไหนให้ Strong ในวันโลกเปลี่ยน




Main Idea
 
  • โลจิสติกส์ หรือการขนส่งสินค้า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันนี้ เป็นตัวช่วยที่ทำให้ธุรกิจเกิดความคล่องตัว และเติบโตไปได้ไกล และยังช่วยลดต้นทุนให้กับการทำการค้ายุคใหม่ได้อีกด้วย
 
  •  แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ส่งมอบความท้าทายให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย การจะอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ คือต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง



               
     ในขณะที่ภาครัฐกำลังเร่งส่งเสริมภาคธุรกิจให้เติบโตเข้มแข็ง มีนวัตกรรม สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ในอีกมุมหนึ่งของสายงานที่คอยทำหน้าเป็นผู้ช่วยอยู่เบื้องหลัง อำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจต่างๆ ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ก็คือ “โลจิสติกส์”  ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้สินค้าเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย ไม่บุบสลาย การขนส่งที่มีประสิทธิภาพยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจได้ด้วย แต่การจะเป็นโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพได้นั้น ย่อมต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับประยุกต์ใช้ ซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จ ก็เท่ากับช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ทำงานได้อย่างคล่องตัว ราบรื่น ไม่มีสะดุด เมื่อธุรกิจเติบโต เศรษฐกิจของประเทศก็ดีตามไปด้วย
 

     “ไทยสมเด็จ” ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทยมานานกว่า 49 ปี ประกอบธุรกิจในภาคการขนส่งที่เรียกว่า “ตัวแทนออกของ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ชิปปิ้ง” (Shipping)  คือหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการธุรกิจตลอดเวลา




     โดย วิสาร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมเด็จ เซอร์วิส จำกัด ได้ฉายภาพธุรกิจโลจิสติกส์ในอดีต ซึ่งทำมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จนถึงภาพการทำโลจิสติกส์ในปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการให้ฟังว่า
               

     “แต่ก่อนใบนำขนสินค้าตัวหนึ่งต้องใช้กระดาษยาวกว่า 12 นิ้ว ต้องก๊อบปี้ 7 ชั้น ต้องเก็บเอกสารค่อนข้างมาก เราจึงพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการ เพื่อช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วเราเริ่มใช้ระบบสแกนเอกสารในระบบดิจิทัลมาใช้เก็บเอกสาร เพื่อลดพื้นที่การจัดเก็บ รวมถึงสามารถเรียกดูได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่นั้นมาเราจึงลงทุนด้านไอทีมาตลอด ก่อนที่อินเตอร์เน็ตและดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจเหมือนเช่นทุกวันนี้”




     จากการให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้บริหารปรับปรุงจัดการองค์กรอยู่เสมอๆ ทำให้พวกเขาคว้างรางวัล Excellent Logistics Management Award หรือ “ELMA” รางวัลเกียรติยศมาตรฐานระดับสากลที่มอบให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์มาครองได้เป็นผลสำเร็จในปี 2561 และ 2562 โดยครั้งแรกได้จากการนำเทคโนโลยี Intelligent Customs Clearance Technology (ICCT) ที่ได้คิดค้นขึ้นมาเองเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านพิธีการศุลกากร เพื่อช่วยแก้ปัญหาขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยาก ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนทั้งของบริษัทและลูกค้า และยังเป็นบริษัทแรกที่พัฒนาระบบโดยไม่ต้องใช้พนักงานคีย์ข้อมูล ทำให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น


     สำหรับครั้งล่าสุดที่เพิ่งได้รับรางวัลมา ได้จากการคิดค้นโปรแกรมใหม่ “track & trace” เพื่อตรวจสอบสถานะเอกสาร การเดินทางของสินค้า ทำให้การออกของได้แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น ส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทันตามกำหนด รวมถึงยังมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการแยกประเภทของอีเมลต่างๆ ที่ส่งเข้ามา ทำให้แม้ในช่วงเวลากลางคืนที่มีการส่งอีเมลเข้ามา เช้ามาพนักงานสามารถทำงานต่อได้ทันที โดยไม่ต้องเข้ามาเช็คอีเมล เพื่อแยกประเภทของงานที่ส่งเข้ามาอีกที นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล PM Award ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของภาคเอกชนที่ได้รับมอบจากภาครัฐด้วย ซึ่งทุกรางวัลที่ได้มาก็ช่วยเพิ่มดัชนีความเชื่อมั่นให้กับองค์กรของพวกเขามากขึ้น




     “ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เราไม่ได้เอามาแทนคน แต่นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น ลดเวลาทำงานจากที่ต้องคีย์ข้อมูลทั้งวัน ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็เหลือแค่ไม่กี่ชั่วโมง สุขภาพพนักงานก็ดีขึ้น สามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่าได้ เพราะอาชีพชิปปิ้งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ประสบการณ์และความรู้ สินค้าชิ้นหนึ่งสามารถตีความหมายเป็นอะไรได้ตั้งมากมายและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานได้หลายส่วน ฉะนั้นยังไงเราก็ไม่สามารถนำไอทีเข้ามาใช้ได้ทั้งหมด คนยังมีความสำคัญอยู่ เราคือตัวแทนผู้ประกอบการ ถ้าเราทำงานไม่ดี ไม่รอบคอบ ผู้ประกอบการก็ต้องเดือดร้อน แต่หากเราสามารถทำได้ดี ธุรกิจของลูกค้าก็ดำเนินไปได้อย่างคล่องตัว เศรษฐกิจของประเทศก็ดีตามไปด้วย เป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง” เขาบอกทิ้งท้าย
               

     การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ยังเป็นเรื่องท้าทาย แต่ถ้า SME ปรับตัว พัฒนากระบวนการทำงาน เลือกนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริหารปรับปรุงการทำธุรกิจอยู่เสมอ ก็จะสามารถอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง เหมือน ไทยสมเด็จ ในวันนี้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน