TEXT : Sir.nim
ในการทำธุรกิจ หากสามารถค้นหา Pain Point หรือจับจุดความต้องการของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าอะไร ก็เรียกว่า สำเร็จ มาแล้วกว่าครึ่งทาง ซึ่งบางครั้งอาจเกิดขึ้นจากไอเดียง่ายๆ เหมือนกับนวัตกรรมที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ ใครจะคิดว่าวันหนึ่ง เราจะสามารถเปิดม่านชมวิวทิวทัศน์ภายนอกหน้าต่าง ขณะที่อุณหภูมิภายในห้องต่ำลงกว่า 5-7 องศา แม้แสงแดดจะส่องสว่างเข้ามาแค่ไหนก็ตาม
เลือกอย่าง แต่ (ไม่) ต้องเสียอย่าง
ข้อมูลจาก New Atlas รายงานว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Notre Dame และมหาวิทยาลัย Kyung Hee ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้พยายามคิดค้นการเคลือบหน้าต่างที่ช่วยป้องกันความร้อนได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าช่วงเวลาใดของวันก็ตาม
โจทย์ที่เป็น Pain Point การวิจัยครั้งนี้ ก็คือ การทำยังไงให้หน้าต่าง ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องแสงจากภายนอก เพื่อทำให้ห้องสว่างขึ้น และช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมองเห็นวิวจากภายนอกได้ แต่ขณะเดียวกันก็กลับนำพาความร้อนจำนวนมากจากดวงอาทิตย์เข้ามาด้วย
โดยกล่าวว่า 87% ของความร้อนที่เพิ่มขึ้นในห้องมีจุดกำเนิดมาจากหน้าต่าง เนื่องจากรังสี UV ผ่านกระจกได้ง่าย ทำให้ต้องเกิดการเลือกอย่าง เสียอย่าง เช่น อยากดูวิวสวยๆ ก็ต้องทนร้อนจากแสงแดด แต่หากไม่อยากร้อน ก็ต้องหามูลี่ หรือผ้าม่านมาปิด ทำให้มองไม่เห็นวิวจากภายนอก ไม่มีแสงส่องเข้ามา จึงเป็นเหตุให้นักวิจัยจากเกาหลีใต้ได้คิดค้นนวัตกรรมฟิล์มใสเคลือบกันความร้อนขึ้นมา เพื่อให้แสงสามารถส่องสว่างเข้ามาได้ แต่ขณะเดียวกันก็ป้องกันความร้อนไม่ให้เข้ามา
ต้องคิดให้ดีกว่าเก่า ดีไปกว่าเมื่อวาน
New Atlas รายงานเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วการคิดค้นฟิล์มใสและสารเคลือบกันความร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีผู้บุกเบิกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2020 แล้ว แต่สิ่งที่ค้นพบเพิ่มเติมขึ้นมาและต่างออกไปในปี 2024 นี้ ก็คือ เรื่องของมุมและองศา
Tengfei Luo (เถิงเฟย หลัว) นักวิจัยเจ้าของผลงานและศาสตราจารย์ด้านพลังงานศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย Notre Dame กล่าวว่าจริงๆ แล้ว สาเหตุที่หน้าต่างทำให้ห้องเกิดความร้อนขึ้นมาได้ เป็นเพราะมุมตกกระทบของแสงแดดกับหน้าต่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เนื่องจากหน้าต่างถูกติดตั้งในแนวตั้ง แสงแดดจึงตกกระทบหน้าต่างในมุมที่ต่างกันตลอดทั้งวัน หากสารเคลือบชนิดใดชนิดหนึ่งบังแสง UV ได้ที่มุม 90 องศา ก็จะมีประโยชน์เฉพาะในเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกกระทบกระจกในมุมนั้นเท่านั้น แต่สารเคลือบใหม่ที่ทีมของเขาคิดค้นขึ้นมานั้น สามารถช่วยปกป้องรังสี UV ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ไม่ว่าดวงอาทิตย์จะอยู่ที่ตำแหน่งใดก็ตาม
ในการคิดคำนวณดังกล่าว เขาใช้คอมพิวเตอร์ AI เป็นตัวช่วยประมวลผลควอนตัม (การคำนวณที่ซับซ้อนด้วยหลักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์) แทนการลองผิดลองถูก เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี เพื่อหาวิธีสร้างการเคลือบหน้าต่างที่เหมาะสมที่สุด จนได้ค้นพบวิธีปรับลำดับของชั้นเคลือบให้เหมาะสม ทำให้สามารถส่งและสะท้อนแสงในมุมที่กว้างขึ้นได้ เพื่อป้องกันความร้อนจากทุกมุมตลอดทั้งวัน จึงช่วยทำให้ห้องเย็นได้ตลอดเวลา ถึงแม้หน้าต่างจะใสก็ตาม
ส่วนสารที่นำมาใช้เคลือบนั้นทำมาจากส่วนผสมของซิลิกา อะลูมินา และไทเทเนียมออกไซด์ พร้อมด้วยซิลิคอนโพลีเมอร์หนาไมโครเมตร เพื่อการสะท้อนรังสีความร้อนได้ดียิ่งขึ้น ป้องกันความร้อนที่จะผ่านหน้าต่างเข้ามาผ่าน ด้วยวิธีดังกล่าวทำให้สามารถช่วยลดอุณหภูมิห้องลงได้ 5.4 - 7.2 องศาเซลเซียส ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่ใช้ได้ แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้กับหน้าต่างทุกชนิด อาคารสำนักงาน รีสอร์ต โรงแรม รวมไปถึงกระจกรถยนต์ด้วย
ดีต่อคน ดีต่อใจ ดีต่อโลก
มีรายงานเพิ่มเติมว่า จากการหันมาใช้นวัตกรรมเคลือบกระจกกันมากขึ้นจากหลายๆ งานวิจัย ไม่เพียงแค่ความสะดวกสบายต่อผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยลดโลกร้อนในทางอ้อมได้อีกด้วย
โดยมีรายงานว่าจากการหันมาใช้สารเคลือบหน้าต่างกันมากขึ้น เมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาสามารถลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ เพื่อทำให้เกิดความเย็นได้มากถึง 97.5 เมกะจูลส์ (MJ) ต่อตารางเมตร ทำให้เมืองต่างๆ ประหยัดพลังงานจากการทำความเย็นได้มากถึง 50.5% เมื่อเทียบกับการใช้หน้าต่างแบบเดิมๆ โดยสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มีรายงานว่าการใช้เครื่องปรับอากาศในปัจจุบันคิดเป็น 10% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานทั่วโลกจากการใช้เครื่องปรับอากาศจะเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2593 หากเราไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้
ที่มา : https://www.goodnet.org/articles/scientists-use-ai-to-create-cooling-window-coating
https://www.ecowatch.com/window-coating-heat-blocking-light-visibility.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี