โกเล ไอเดียสแน็กเพื่อสุขภาพจากก้างปลา เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา

TEXT : Surangrak

PHOTO : Gole

     จากทายาทโรงงานผลิตลูกชิ้นปลา เมืองนครศรีธรรมราช วันหนึ่งเมื่อเจอกับวิกฤตรอบด้าน ทำให้ วัชรี ปัญญาสะ ในฐานะลูกสาวคนโตต้องตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับมาช่วยดูแลกิจการครอบครัวแทนคุณพ่อที่ล้มป่วยกระทันหัน ดูแลน้องที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และรับมือกับวิกฤติโควิด-19 พร้อมกันไปด้วย

    แต่เมื่อยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง การหวังพึ่งธุรกิจแบบเดิมเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพออีกต่อไป นอกจากวัตถุดิบเนื้อปลาทะเลที่นำมาผลิตลูกชิ้นในแต่ละวัน วัชรีจึงมองไปถึงเศษก้างปลาที่เป็น Waste ของอุตสาหกรรม เหลือทิ้งกว่าเดือนละ 5 ตัน ส่งไปทดลองวิจัย จนพบว่าเป็นแหล่งแคลเซียมสูง มีแร่ธาตุ และวิตามินอื่นๆ อีกมากมาย เกิดเป็นไอเดียธุรกิจใหม่ในรูปแบบขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ “โกเล” หรือ “Gole Crispy สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ ให้เป็นล้าน

  วัชรี ปัญญาสะ (ซ้าย) และน้องสาว ทายาทโรงงานผลิตลูกชิ้นปลา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gole Crispy

ไม่ใช่ขยะ แต่คือ แหล่งแร่ธาตุ วิตามินสูง

     “เราเริ่มต้นธุรกิจนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2562 เดิมเราเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้นปลาขายส่งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และในพื้นที่ภาคใต้ ชื่อแบรนด์ ‘เจ๊แหม่มลูกชิ้นปลา’ เผอิญตอนนั้นคุณพ่อป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ เราในฐานะลูกสาวคนโต ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เป็นพนักงานบัญชีอยู่เกาะสมุย เพื่อมาช่วยดูแลธุรกิจที่บ้าน เพราะน้องๆ อีก 2 คนก็ยังเรียนอยู่ด้วย พอกลับมาปุ๊บก็เจอเข้ากับวิกฤติโควิดเลย ร้านค้าต่างๆ ที่รับไปขาย ก็เปิดขายไม่ได้ เพราะตลาดถูกสั่งปิดไปหมด

     "ตอนนั้นเลยรู้สึกว่าเราคงทำธุรกิจรูปแบบเดิมอย่างเดียวต่อไปไม่ได้ ลูกชิ้นปลาเป็นตลาด Red Ocean การแข่งขันสูง ต้องมองหาอะไรที่ยั่งยืนกว่านี้ ต้องทำอะไรที่มีนวัตกรรม จนมองเห็นเศษก้างปลา หัวปลาที่เหลือทิ้งจากการเอาเนื้อไปผลิตเป็นลูกชิ้น ตกเดือนหนึ่งประมาณ 5 ตันได้ เลยลองหาข้อมูลดูว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง จนมาพบข้อมูลว่าจริงๆ แล้ว กระดูกปลา หรือก้างปลาที่เราเห็นมีแคลเซียมมากถึง 40% เลยลองปรึกษากับหน่วยงานวิจัยว่าเราจะสามารถสกัดสารตรงนี้ออกมาได้ยังไง

     “จนนำไปส่งให้ทีมวิจัยค้นคว้า ก็พบว่านอกจากแคลเซียมแล้ว ยังมีสารสกัดอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้งานได้ดียิ่งขึ้น จึงนำนวัตกรรมการสกัดที่เรียกว่า ‘Alkaline Extraction’ มาใช้ (การสกัดโดยใช้ด่าง) เพื่อดึงสารสกัดต่างๆ ออกมาในรูปแบบ Powder Extract หรือผงแป้ง จากปริมาณก้างปลา 5 ตันที่เหลือทิ้งทุกเดือน สามารถสกัดออกมาเป็นผงแคลเซียม วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ได้เพียงแค่ 10% หรือประมาณ 500 กก.เท่านั้น” วัชรีเล่าจุดเริ่มต้นนวัตกรรมให้ฟัง