ส่องนวัตกรรมอาหารฝีมือคนไทย เมื่อชีส - เนื้อปูก็เป็นวีแกนได้

      ยุคนี้เป็นยุคแห่งการใส่ใจดูแลสุขภาพ ตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะสายวีแกนที่มีจำนวนผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งตลาดวีแกนของประเทศไทยมีผู้บริโภคประมาณ 2 ล้านคน ทำให้หลายๆ ธุรกิจธุรกิจชูแนวคิดดูแลโลกผ่านมื้ออาหาร ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต

     และนี่คือ 3 นวัตกรรมอาหารอนาคตเพื่อกลุ่มคนรักสุขภาพสายวีแกนจากฝีมือแบรนด์คนไทย กับการทำนวัตกรรมไร้เนื้อแบบเหนือชั้น สุดทึ่ง “เมื่อชีส - เนื้อปูก็เป็นวีแกนได้ ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อยากแนะนำให้รู้จัก

1. Deligan: เนื้อปูเทียมแบบก้อนแช่แข็งจากเห็ดยามาบูชิตาเกะ

     นวัตกรรมที่พัฒนามาจากการนำเห็ดยามาบูชิตาเกะระยะหลังออกดอกแล้ว 9-10 วัน ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการและโปรตีนสูง มีสารกลุ่มเบตากลูแคน ไตรเทอร์ปีน (triterpene) ทรีอิทอล (threitol) ที่ช่วยบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดระดับไขมันในเลือด ช่วยบำรุงสมอง มีศักยภาพช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคซึมเศร้า มาตัดแต่งเอาเฉพาะส่วนไมซีเลียมมาผ่านกระบวนการรักษาสภาพด้วยเกลือโซเดียม ไตรโพลีฟอสเฟต จากนั้นจึงนำมาแช่เยือกแข็งในสภาวะที่เหมาะสม จนได้เนื้อปูเทียมแบบก้อนแช่แข็งที่มีขนาดใหญ่คล้ายกรรเชียงปู มีรสชาติและเนื้อสัมผัสเด้งใกล้เคียงกับเนื้อปูก้อนของจริง สามารถเก็บได้ 2 ปี และราคาเข้าถึงได้

     ผลงานนวัตกรรมจากบริษัท เฟรช แอนด์ เฟรนด์ลีฟาร์ม จำกัด ที่พัฒนาขึ้นนี้ ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องรสชาติและชนิดของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแพลนต์เบสประเภทซีฟู้ด ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีเนื้อสัมผัสหรือรูปลักษณ์ไม่คล้ายกับอาหารทะเล ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าแพลนต์เบสซีฟู้ดจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 พันล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 9-10 ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45.5 พันล้านบาท ภายในปี 2031

2. Swees Cheese: ขนมขบเคี้ยวรูปแบบแท่งรสเชดดาร์ชีสวีแกนจากโปรตีนข้าวไทย

     ผลิตภัณฑ์จาก บริษัท สวีส แพลนท์ เบสด์ ฟู๊ดส์ จำกัด เล็งเห็นถึงโอกาสทางการตลาดที่เกิดขึ้นจากความนิยมของผู้บริโภคสายสุขภาพที่กำลังมองหาอาหารว่างปราศจากน้ำตาลและสารก่อแพ้ มีแคลลอรี่และไขมันต่ำ จึงได้พัฒนาขนมขบเคี้ยวรูปแบบแท่งรสเชดดาร์ชีสวีแกนจากโปรตีนข้าวไทยขึ้นจากการนำส่วนผสมหลัก ได้แก่ สารสกัดโปรตีนจากข้าวไทย น้ำมันมะพร้าว ไฮโดรคอลลอยด์จากสาหร่ายสีน้ำตาล และมะเขือเทศเข้มข้น มาผสมให้เข้ากันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยก่อรูปเป็นลักษณะน้ำนมวุ้นจากพืช (coagulation) แล้วนำมาขึ้นรูปในแม่พิมพ์ได้เป็นขนมขบเคี้ยวรูปแบบแท่งที่มีคุณสมบัติไขมันต่ำ แคลลอรี่ต่ำ มีความคงตัวชีสสูง และปราศจากสารก่อแพ้จากถั่ว ซึ่งไม่เพียงแต่อร่อย ทานง่าย พกพาสะดวกเท่านั้น แต่ยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แพ้แลคโตสและถั่ว

     หากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จสามารถออกจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าอย่างน้อย 50 ล้านบาท ภายใน 5 ปี จากการส่งออก

3. Veganan: แพลตฟอร์มตลาดวีแกนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน

     เกิดจากแนวคิดของวิสาหกิจชุมชนฟาร์มพอดีที่ต้องการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของผู้ประกอบการท้องถิ่นจังหวัดน่านที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคได้แต่นักท่องเที่ยวที่ต้องการจับจ่ายหาซื้อของฝากเท่านั้น และเมื่อเจอสถานการณ์โควิด ผู้ประกอบการจึงขาดรายได้เพราะไม่สามารถออกร้านขายสินค้าได้ วิกฤตนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เริ่มจัดทำโครงการ “แพลตฟอร์มตลาดวีแกนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน” ขึ้น โดยนำสินค้าเกษตรแปรรูปที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ เช่น เห็ดกรอบ เห็ดสวรรค์ ผลิตภัณฑ์จากพืชพื้นถิ่นจังหวัดน่าน อย่างมะแขว่น กาแฟ มาปรับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยยึดโจทย์ความต้องการของผู้บริโภควีแกนเป็นที่ตั้ง คือให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่ต้องไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และไม่เผาในพื้นที่ นับเป็นการยกระดับจากสินค้าชุมชนที่ได้กำไรน้อยสู่สินค้าสำหรับตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีโอกาสเติบโตสูง

     วรากร เกศทับทิม ผู้ก่อตั้งโครงการ “แพลตฟอร์มตลาดวีแกนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน เปิดเผยว่าตลาดวีแกนของประเทศไทยมีผู้บริโภคประมาณ 2 ล้านคน ดังนั้น หากชุมชนสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปให้รองรับกับความต้องการของกลุ่มคนที่รับประทานวีแกน โดยให้แพลตฟอร์มทำหน้าที่เสมือนเป็นคอมมูนิตี้มอลล์เชื่อมโยงผู้ประกอบการวีแกนให้มาทำงานร่วมกัน เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเป้าหมายทั้งในไทยและต่างประเทศให้สนใจที่จะมาพูดคุยและช้อปสินค้าวีแกนจากชุมชน

     “เพราะคนรับประทานวีแกนไม่ได้ต้องการสินค้าที่ผ่านกระบวนการมากมาย แต่ต้องการสินค้าที่สร้างความเชื่อมั่น (trust) ซึ่งสินค้าในแพลตฟอร์มทุกตัวมาจากภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านกระบวนการน้อย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการช่วยให้สิ่งแวดล้อมและโลกดีขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาก็เริ่มมียอดจําหน่ายผลิตภัณฑ์วีแกนผ่านแพลตฟอร์มเป็นหลักแสนบาท”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

สุขภาพดี เริ่มต้นที่โถสุขภัณฑ์! ฝารองนั่ง AI ที่เปลี่ยนห้องน้ำ ให้กลายเป็นจุดเช็กอัปสุขภาพ

ด้วยแนวคิดที่ว่า “สุขภาพดีเริ่มต้นจากห้องน้ำ” สตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริกาจึงได้พัฒนา TrueLoo ฝารองนั่งชักโครกอัจฉริยะที่สามารถตรวจวิเคราะห์สุขภาพผู้ใช้งานผ่านการขับถ่าย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม

โยเกิร์ตอัลมอนด์พร้อมดื่ม UHT  เก็บได้ 8 เดือน นวัตกรรมสุขภาพที่ธุรกิจไม่ควรพลาด

รู้จักโยเกิร์ตอัลมอนด์พร้อมดื่ม UHT นวัตกรรมล่าสุดที่ผสานคุณค่าจากธรรมชาติเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพยุคใหม่ และเปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจสู่ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

ZZZN Puffer Jacket แจ็กเก็ตอัจฉริยะวัดคุณภาพการนอน ช่วยให้หลับได้ทุกที่ หลับดีทุกเวลา

คงจะดีกว่า ถ้าอยากงีบเมื่อไรขึ้นมาก็ทำได้ จึงเป็นที่มาของไอเทมสุดล้ำอย่าง “ZZZN Puffer Jacket” หรือ แจ็กเก็ตอัจฉริยะที่ช่วยให้นอนได้ทุกที่ทุกเวลา แถมยังช่วยให้รู้ด้วยอีกว่า ที่หลับๆ ไปนั้นมีคุณภาพจริงหรือเปล่า?