สมัยก่อน เวลาพืชผลผลิตทางการเกษตรเหลือใช้ เรามักใช้วิธีการถนอมอาหารต่างๆ เช่น ดอง, กวน, แช่อิ่ม เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาออกไปให้นานยิ่งขึ้น หรือเก็บไว้กินยามขาดแคลน
แต่รู้ไหม? ปัจจุบันนี้ ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อการแปรรูปไม่ได้หยุดอยู่แค่ของกินอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังถูกนำมาแปรรูปให้กลายเป็นของใช้ เพิ่มประโยชน์การใช้งานให้มากยิ่งขึ้น เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย
เหมือนกับ “กระเป๋าจากมะม่วงกวน” ที่เห็นกันอยู่นี้ ใครจะคิดว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่ง จากมะม่วงกวนแสนอร่อย จะกลายเป็นของใช้สุดเก๋ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเหลือทิ้งทางการเกษตรไปได้
ไอเดียดังกล่าวมาจากสองหนุ่มสตาร์ทอัพจากเนเธอร์แลนด์ Koen Meerkerk และ Hugo de Boon อดีตบัณฑิตด้านการออกแบบจากสถาบัน Willem de Kooning เมืองรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่รวมตัวกันก่อตั้งแบรนด์ “Rotterdam” ขึ้นมา โดยการนำผลไม้อย่างเช่น มะม่วง ที่เราคุ้นเคยกันดีมาผลิตเป็นแผ่นหนังจากพืช ที่เรียกว่า “Fruit Leather” เพื่อนำไปต่อยอดให้กลายเป็นกระเป๋า รองเท้า หรือเฟอร์นิเจอร์สุดเท่
สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ กรรมวิธีดังกล่าว คล้ายกับการผลิตมะม่วงกวนของบ้านเรายังไงยังงั้นเลย วิธีการ คือ การนำเนื้อมะม่วงสุกมากวนด้วยความร้อนให้ละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้ง (เห็นไหมล่ะ! เหมือนมะม่วงกวนจริงๆ ด้วย) เพียงแต่มีการใส่สารเพิ่มความเหนียวอย่างโพลีเอสเตอร์ลงไป และสารเคลือบกันน้ำ เพื่อทำให้แผ่นมะม่วงกวนมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น เพื่อนำไปผลิตเป็นหนังเทียม
โดยเหตุผลแท้จริงที่ทำให้ทั้งคู่หันมาผลิตหนังเทียมจากมะม่วงกวน ก็คือ เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหารที่ล้นอยู่ในท้องตลาด โดยพวกเขาพบว่าในแต่ละวันร้านค้าในตลาดของเมือง มีผัก ผลไม้ที่เน่าเสียเหลือทิ้งประมาณ 3,500 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งแต่ละร้านต้องจ่ายค่ากำจัดขยะเหล่านี้ประมาณ 10 เซนต์ หรือราว 4 บาท/กิโลกรัม เพื่อนำไปทิ้งเปล่าๆ โดยไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจริงๆ ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยนำพืชมาผลิตเป็นหนังเทียมจำนวนมากจากผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น สับปะรด, องุ่น, แอปเปิ้ล เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีการนำมาสร้างแบรนด์ และขายอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น
Koen Meerkerk และ Hugo de Boon กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาขยะเท่านั้น แต่หนังเทียมจากมะม่วงของพวกเขา ยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนจากการใช้ทดแทนหนังสัตว์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้โลกร้อนขึ้น จากการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกอีกด้วย
นับเป็นอีกตัวอย่างไอเดียดีๆ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง หรือล้นตลาด ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแค่ของกินอย่างเดียวเสมอไป แต่สามารถทำเป็นของใช้ก็ได้ ผู้ประกอบการเกษตรกรคนใดจะลองนำเอาไปใช้ดูบ้าง ก็น่าสนใจไม่น้อย
ที่มา : https://shorturl.asia/VLp4m
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี