อย่าหาทำ! ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจเฟล เรื่องเล่าจาก 3 แบรนด์ที่เคยพลาด หากย้อนเวลาไปได้จะไม่ทำเด็ดขาด

TEXT : Sir.nim

PHOTO : Sunun

     ทำธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้ เคยถามตัวเองกันไหมว่า หากให้ย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ มีอะไรบ้างในวันนั้นที่คุณจะไม่คิดทำอย่างแน่นอน เชื่อว่าทุกธุรกิจย่อมเคยผ่านเรื่องราวเฟลๆ กันมาบ้าง เพื่อถ่ายทอดให้เป็นประสบการณ์ วันนี้เรามี 3 บทเรียนที่ (หากเลือกได้) อย่าหาทำ จาก 3 แบรนด์ มอลคาม, Nimnim Noodle และทายาทผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม มาเล่าให้ฟังกัน

ไม่อยากขายดี จนเจ๊ง บัญชี การเงินต้องแม่น

นพเก้า อยู่ภักดี

เจ้าของน้ำมะขามเปียกสำเร็จรูป แบรนด์ มอลคาม

     เรื่องที่หนึ่ง : เป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามและมักกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้เกิดคำที่ได้ยินในวงการค้าขายบ่อยๆ คือ “ขายดี จนเจ๊ง”

     “สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่มักมุ่งไปหาก่อนเลย ก็คือ การทำยอดขายให้ได้เยอะๆ แต่จริงๆ แล้วอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและจำเป็นอย่างยิ่งก่อนไปทำอย่างอื่น คือ การเงินและการบัญชี ไม่ถึงขนาดต้องมีความรู้ทางบัญชีมาก แต่ผู้ประกอบการควรรู้ให้ได้ว่า จริงๆ แล้วสินค้าที่เรากำลังทำอยู่นี้ ต้นทุนที่ต้องจ่ายจริงๆ คือ เท่าไหร่ มีอะไรบ้าง กระแสเงินสดของธุรกิจเป็นยังไง กำไรที่ได้จริงๆ มีเท่าไหร่ คุ้มกับที่ลงทุนไปหรือเปล่า เราเห็นมาหลายบริษัทแล้ว กับคำว่า “ขายดี จนเจ๊ง” เพราะคำนวณค่าใช้จ่ายไม่ดีพอ

     “ซึ่งผู้ประกอบการควรประเมินศักยภาพตัวเองให้ดี ก่อนคิดจะทำอะไรก็ตาม อย่ามองแต่ยอดขายที่จะเข้ามา บางทีอาจทำให้เราหลงกลได้ เหมือนกับธุรกิจของเราเองก่อนหน้าโควิด-19 เวลาทำอะไร เราก็คิดการณ์ใหญ่เหมือนกัน เวลาอยากทำโปรเจกต์อะไร ก็คิดแบบใหญ่ๆ ไว้ก่อน เติมเข้าไปให้สุด ให้ดีที่สุดไว้ก่อน ช่องทางไหนจะหาเงินมาลงทุนได้ เราลองดูหมด จนเจอกับวิกฤต ในวันที่ทุกอย่างหยุดชะงัก เงินใหม่ไม่มีเข้า เงินเก่าก็ต้องเอาออกมาใช้ เหมือนเรานั่งเผารถเบนซ์ทิ้งไปทุกเดือนๆ หลังจากนั้นมาเลยเป็นบทเรียนว่า จริงๆ ลองเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อนก็ได้ มันก็ทำได้เหมือนกัน และถ้าดีก็ค่อยไปต่อ ถ้าไม่ดี ก็หยุด ไม่ต้องสูญเงินไปมาก นี่คือ สิ่งที่อยากบอกทุกคน”

     อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/9461.html

ชื่อแบรนด์มีผลต่อการโกอินเตอร์

อุมาพร บูรณสุขสมบัติ

เจ้าโปรตีนเส้นไข่ขาว แบรนด์ Nimnim Noodle

     เรื่องที่สอง : ที่อยากให้ระวัง คือ ทรัพย์สินทางปัญญา ยิ่งถ้าเป็นสินค้านวัตกรรม ควรมีการจดลิขสิทธิ์ตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ ควรคิดเผื่อไว้เลยว่า ธุรกิจของเราอาจไม่ได้อยู่แค่ในประเทศก็ได้

     “อันนี้อยากแชร์ให้ฟัง จากแบรนด์ของเราเอง Nimnim Noodle (นิ่มนิ่ม) จริงๆ ตอนแรกที่คิด ด้วยความที่ทำงานมาสายนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เก่งแบรนด์ดิ้ง เราก็แค่อยากได้ชื่อที่จำง่าย เหมือนชื่อแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดัง เขาก็ใช้เป็นคำซ้ำ 2 พยางค์ ด้วยความที่ตอนทดลองเราจะพูดติดปากบ่อยๆ ว่า “เออ มันนิ่มๆ ดีเนอะ” ก็เลยเอาชื่อนี้มาใช้ แต่พอวันนี้ที่จะไปตลาดต่างประเทศ ต่างชาติเขาไม่เก็ท อีกอย่างเขาไม่ให้ใช้ชื่อที่บอกถึงเทคเจอร์ หรือคุณสมบัติของสินค้า จริงๆ เราสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เพราะเราไม่ได้ต้องการสื่อว่ากินแล้วดียังไง ไม่ได้จะโฆษณา แต่ก็ต้องตามทำทุกประเทศ มันเหนื่อย และมีค่าใช้จ่ายเยอะด้วย ก็เลยอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสำหรับแบรนด์ เพื่อให้สามารถทำตลาดได้กว้างกว่านี้ ให้ธุรกิจไปต่อได้ จริงๆ แอบกังวลเหมือนกัน แต่ก็เชื่อมั่นว่าในเมื่อเราตั้งใจทำสินค้าออกมาให้ดีที่สุดแล้ว คิดไว้รอบด้าน ทั้งมีประโยชน์ และอร่อย ยังไงสินค้าก็ขายตัวเองได้ ไปต่อได้แน่นอน”

     อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7465.html

อย่ารีบเปิดบริษัท ถ้าคิดว่ายังไม่พร้อม

วีรวัฒน์ วรนิวัฒน์

ทายาท ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม

     เรื่องที่สาม : มาจากทายาทผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม ที่แม้จะล้มลุกคลุกคลานกับการปั้นธุรกิจมาหลายครั้งแต่ วีรวัฒน์ หาได้หยุดความฝันของการเป็นนักธุรกิจลง ตรงกันข้ามฝันของเขากลับยิ่งใหญ่กว่าเดิม หลังจากเก็บหอมรอบริบกับชีวิตออฟฟิศได้ 4 ปี ก็ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเอง สร้างโรงงาน เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง

     “เป็นความผิดพลาด บทเรียนราคาแพง ย้อนเวลาไปได้จะไม่ทำเลย เปิดบริษัทรับคนมา 5 คนทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จะให้เขาทำหน้าที่อะไร สิ่งที่จะบอกกับ SME คือ คุณพยายามเริ่มต้นบางสิ่งบางอย่างที่น้อยที่สุดได้ไหม คือบางทีเราฝันใหญ่ แต่บนโลกของการทำธุรกิจจริงๆ การมีพนักงานเยอะแยะ มีออฟฟิศสวยๆ แต่ว่าเราขายไม่ได้เลยก็ไม่ได้ช่วยอะไร ทำให้หมดเงินไปเยอะมาก ในมุมผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากไอเดียให้มากสุด ใช้เงินให้น้อยสุด ใช้ทรัพยากรที่มีทำอย่างไรก็ให้ขายของให้ได้”

     อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/9087.html

     จากทั้ง 3 เคสผู้ประกอบการตัวอย่าง คงพอเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่านอื่นๆ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ว่าหากเลือกได้ อย่าหาทำ เพราะธุรกิจอาจเฟล ต้องสะดุด เหมือนกับบทเรียนที่พวกเขามาแชร์ให้ฟังก็ได้

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

เรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ชิมแล้วถูกปากถึงขั้นขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าเจ้าของจะใจอ่อนยอมให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์