Finanace

​ถอดรหัสความผิดพลาดทางการเงิน ที่ไม่ควรเกิดกับ SME

    “ในแต่ละเดือน ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายที่สำคัญอะไรบ้าง และเป็นเงินจำนวนเท่าไร” 
    หากเราถอดรหัสคำถามนี้ออกมาเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนไม่ได้ ในอนาคตธุรกิจต้องมีปัญหาเรื่องการเงิน หรือการบัญชีไม่ช้าก็เร็วอย่างแน่นอน ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จึงมักมีพื้นฐานด้านการเงินที่พิถีพิถัน รอบคอบ และมีการจดบันทึกค่าใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เวลาที่ต้องนำรายละเอียดค่าใช้จ่ายย้อนหลังในแต่ละเดือนมาพิจารณา จะได้รู้ว่าหมดค่าใช้จ่ายไปกับส่วนใดบ้าง   มาดูกันว่าความผิดพลาดทางการเงินที่ผู้ประกอบการควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง 



    
   ความผิดพลาดที่ 1 : ซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้

    ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซื้อของที่หรูดูดี มีราคาเกินความจำเป็นมาใช้ในการทำธุรกิจ คล้ายๆ กับเวลาที่ผู้ชายหรือผู้หญิงซื้อรองเท้าและเสื้อผ้ามาจนเต็มตู้ไปหมดนั่นแหละ ซึ่งในความจริงอาจมีเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่เป็นประจำเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ก็กลายเป็นค่าตกแต่งตู้เสื้อผ้ายังไงละ 
    แนวทางการแก้ปัญหาที่ 1 : ลงทุนในสิ่งจำเป็นที่มีคุณภาพสูง 
    แทนที่จะซื้อของที่จำเป็นบ้าง ไม่จำเป็นบ้างมา 5 อย่าง ให้เปลี่ยนเป็นการคิดวิเคราะห์ แล้วลงทุนในสิ่งจำเป็นที่มีคุณภาพสูง เหมือนการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าดี มีคุณภาพ ดูเป็นแฟชั่นที่คลาสสิก จะทำให้เราสามารถหยิบมาใส่ได้ในหลายๆ โอกาส หากเป็นในแง่ธุรกิจก็เปรียบเสมือนการมองการณ์ไกลว่า ควรใช้อะไรจึงจะคุ้มค่า คุ้มทุน และทำกำไรได้ดีที่สุด


    ความผิดพลาดที่ 2 : ไม่ทราบค่าใช้จ่ายรายเดือน
    เป็นเรื่องที่น่าทึ่งทุกครั้งที่ผู้ประกอบการตอบว่า ไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง รวมแล้วประมาณกี่บาท ลองนึกภาพชีวิตของเราดู ในแต่ละเดือนเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องควักกระเป๋าออกไปตลอดทุกวัน ดังนั้น หากไม่รู้ว่าต้องจ่ายเงินค่าอะไรบ้าง จะบริหารจัดการเงินเดือนให้พอใช้ตลอด 30 วันได้อย่างไร จริงไหม
    แนวทางการแก้ปัญหาที่ 2 : จดบันทึกค่าใช้จ่ายและรายรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น
   แม้มันจะฟังดูง่าย และทำยาก แต่หากต้องการเริ่มต้นธุรกิจอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ ก็ได้เวลาต้องทำแล้ว      
    

    ความผิดพลาดที่ 3 : ใช้จ่ายเกินรายรับ
    หากเราไม่รู้ค่าใช้จ่ายรายเดือน ก็มีโอกาสใช้จ่ายสูงเกินตัว จนเกินรายรับ กลายเป็นความเสี่ยงต่อเงินหมุนเวียนทางธุรกิจ กว่าจะรู้ตัวก็ต้องกู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายรับ เรียกได้ว่ากระทบกันเป็นลูกโซ่เลยทีเดียว
    แนวทางการแก้ปัญหาที่ 3 : เข้าสู่มาตรการรัดเข็มขัด
   จำไว้เสมอว่า การทำธุรกิจต้องมีระบบ มีวินัยด้านการเงิน ใช้จ่ายให้น้อย เพื่อให้เกิดกำไรสูงขึ้น มองเรื่องความคุ้มค่า คุ้มทุน เช่น อุปกรณ์ที่ซื้อมาจะทำอย่างไรให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ได้สูงที่สุด ไม่ใช่มีเงินก็ซื้อไปโดยที่ไม่ได้คิดหรือไม่ได้วิเคราะห์อะไรเลย
    

    ความผิดพลาดที่ 4 : เป็นหนี้บัตรเครดิต
    บัตรเครดิตเปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้ให้ดี บริหารเงินหมุนเวียนในบัญชีเป็น ก็จะได้รับส่วนลดจากโปรโมชัน และ Cash Back ของบัตรแต่ละประเภทคืนได้ไม่ยาก แต่หากควบคุมการใช้จ่ายไม่เป็น บัตรเครดิต ถือเป็นมหันตภัยอันร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจมักจะใช้บัตรเครดิตเข้ามาเป็นตัวช่วยเมื่อขาดสภาพคล่อง
    แนวทางการแก้ปัญหาที่ 4 : ไม่นำบัตรเครดิตมาใช้ในการทำธุรกิจ
    ผู้ประกอบการรายเล็กหลายๆ ราย ไม่ต้องมีบัตรเครดิตก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้น ไม่ต้องเสียใจและพยายามมีบัตรสร้างหนี้เพื่อให้ตัวเองดูดีก็ได้ เพราะถ้ามีแล้วใช้ไม่ระวัง ใช้โดยไม่จำเป็นและฟุ่มเฟือยผลลัพธ์ที่ร้ายแรงจะเข้ามาหาโดยไม่ทันตั้งตัว


          
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี