Finanace

ฟิตเรื่องเงิน ก่อนเริ่มต้นธุรกิจ

     
     ท่ามกลางการเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบการ SME หน้าใหม่ ในอีกด้านหนึ่ง จำนวนกิจการที่เลิกดำเนินธุรกิจก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน สาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการควบคุมทางด้านการเงินที่หละหลวม หรือมองว่างานด้านบัญชีการเงินเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่ากับงานหาลูกค้า การตลาดหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นอาชีพเสริม หรือเป็นกิจการเล็กๆ งบการเงินและอัตราส่วนสำคัญทางการเงินต่างๆ เป็นเหมือนการสรุปภาพรวมของกิจการ เพื่อให้เข้าใจธุรกิจของตัวเอง รู้ว่าตัวเองอยู่จุดใด มองเห็นปัญหา และสามารถแก้ไขได้ทัน
 
     1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
 
     “สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าตนกำลังมุ่งหน้าไปยังสถานที่ใดนั้น ก็จะปล่อยให้เส้นทางที่พาไปเป็นตัวกำหนดสถานที่ที่จะไป”  ในทุกแผนงาน การเริ่มต้นด้วยเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน จะช่วยให้เรารู้ว่าควรเดินทางไปอย่างไร

    เช่นเดียวกันกับการทำธุรกิจ การเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ มีส่วนช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจที่อยู่ในช่วงวัฏจักรต่างกัน ย่อมมีเป้าหมายที่ต่างกัน เช่น กิจการที่เพิ่งเริ่มต้น อาจต้องการการสำรองเงินเพื่อสภาพคล่องมาก ในขณะที่กิจการที่อยู่ในช่วงเติบโต จะเน้นไปที่การเพิ่มยอดขาย สร้างตราสินค้าให้เป็นที่นิยม เป็นต้น


 
     2. เช็คความคุ้มก่อนเริ่มลงทุน

    หลายครั้งที่เราต้องตัดสินใจทางธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน เช่น ธุรกิจขายขนม เดิมใช้เพียงแรงงานตัวเองตีแป้งเตรียมวัตถุดิบ ต่อมายอดขายเพิ่มขึ้น ลำพังการใช้แรงงานตัวเองอาจไม่เพียงพอ จึงเริ่มมองหาเครื่องตีแป้งเพื่อให้สามารถผลิตขนมได้จำนวนเพิ่มขึ้นรองรับกับยอดขาย

    จากตัวอย่างนี้ ถ้าจะตอบคำถามให้ได้ว่า การรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วยการลงทุนซื้อเครื่องตีแป้งมานั้น คุ้มหรือไม่ ภายในระยะเวลาเท่าใด เราอาจจะลองคำนวณตัวเลขเงินลงทุนและผลที่คาดว่าจะได้เพื่อเช็คความคุ้มค่าก่อนเริ่มลงทุน


 
     3. วางแผนการเงิน พิชิตเป้าหมาย

    กิจการจะรู้สถานะและผลการดำเนินงานของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ด้วยการจัดทำบัญชี ไม่ว่าจะเป็นงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด หรือแม้แต่การนำตัวเลขเหล่านั้นมาวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เสมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการตรวจสอบสุขภาพในปัจจุบันของกิจการ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ว่าจุดไหนที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ เช่น การควบคุมต้นทุน วิธีการรับชำระเงินจากลูกค้า หรือการบริหารสต็อกสินค้า ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนปรับตัวในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น


 
     4. เริ่มต้นอย่างมั่นใจ ด้วยแผนธุรกิจหน้าเดียว

    “การเขียนทำให้คนรอบคอบ” เป็นคำกล่าวของ เซอร์ฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ คำกล่าวนี้นำมาปรับใช้ได้ดีกับการเขียนแผนธุรกิจ แผนธุรกิจไม่ได้มีประโยชน์ไว้เพียงเพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดหาเงินทุนจากสถาบันการเงินหรือนักลงทุนภายนอก แต่เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพรวม มีความชัดเจน พร้อมทั้งยังเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจเบื้องต้น เสมือนเป็น Blueprint ใช้สร้างบ้าน ที่ควบคุมทิศทาง การออกแบบ งบประมาณให้เป็นไปตามที่ต้องการ
 
    การเข้าใจตัวเลขทางการเงิน จะช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ว่าควรปรับตัวอย่างไรบ้าง จุดใดที่ควรเสริมความแข็งแรงให้กับธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะสามารถรับมือได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป


 
ที่มา : K – Expert


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี