Finanace

4 ข้อคิดดีๆ ในการขอเงินทุน

Text : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร Founder & CEO : CEMSHALL 




Main Idea
 
  • อย่างที่ทราบกันดีว่การขอเงินทุนไม่ใช่เรื่องง่าย มี Startup หลายรายที่โดนปฏิเสธ จนทำให้เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจ
 
  • ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียความมั่นใจ ลองมาดูข้อคิดที่ได้จากการขอทุนเหล่านี้กัน

 

     หลาย Startup เมื่อมี Idea มีแนวคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาก็เริ่มมองหาแหล่งเงินทุน ซึ่งในปัจจุบันนี้มีแหล่งเงินทุนมากมายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งที่เป็นแบบ “ทุนให้เปล่า” หรือ “การเสนอขอร่วมทุน” ให้ Startup หน้าใหม่ได้เข้าไปนำเสนอผลงาน ซึ่งการขอทุนของเหล่า Startup นั้น ส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ ทำให้หลายคนเกิดอาการลังเล ท้อแท้ และหมดความมั่นใจ จนหันมาถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้มันดีจริงหรือเปล่า ดังนั้น จึงขอนำเสนอข้อคิดจากประสบการณ์ในการขอทุน เพื่อไม่ให้เสียความมั่นใจในกรณีที่ถูกปฏิเสธเงินทุน

     1. อย่ามั่นใจในตัว Product ของตนเองจนเกินไป
        มีคำหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงคือ “ของดีแต่พรีเซนต์ไม่เป็น” ย่อมไม่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน ก่อนที่จะไปเสนอผลงานขอเงินทุนต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมการแต่ละท่านนั้นมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม หลายสาขาวิชาทั้งที่เป็นนักวิชาการมีความรู้ด้านตำราและทฤษฎีที่แน่นแต่ไม่เคยทำธุรกิจ กับหลายท่านที่ทฤษฎีอาจไม่เชี่ยวชาญเท่าไหร่แต่เคยผ่านการทำธุรกิจมาแล้วอย่างโชกโชน ดังนั้น ต้องไม่คาดหวังว่าจะได้หรือไม่ได้ไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันการเสียกำลังใจหากไม่ได้รับเงินทุนเพราะกรรมการบางท่านชอบแผนงานของเราแต่บางท่านอาจไม่ชอบก็ได้

     2. ตัวเลขในการขอเงินทุน
        หลาย Startup ชอบคิดไปว่า “ขอให้เยอะๆ ไว้ก่อนดีที่สุด” บางโครงการให้ทุนสนับสนุนหลายล้านบาท Startup บางรายก็ขอจนเต็มเพดานเงินทุนโดยไม่สอดคล้องกับแผนงานและช่วงการดำเนินงานของธุรกิจตนเอง แบบนี้กรรมการอาจมองว่าไม่สมเหตุสมผลและอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ถูกปฏิเสธเงินทุนได้

     3. เข้าใจกรรมการ
        
กรรมการถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาให้หรือไม่ให้เงินทุนและในหลายครั้งพฤติกรรมของกรรมการอาจมาในรูปแบบของการใช้จิตวิทยาเพื่อทดสอบสมาธิและความตั้งใจของผู้นำเสนอผลงาน เช่น กรรมการเล่นไลน์ การรับโทรศัพท์ หรือคุยกันในขณะที่เรากำลังนำเสนอผลงาน Startup บางคนจึงตกม้าตายเพราะเมื่อเห็นพฤติกรรมนี้ก็นึกไปเองว่ากรรมการไม่สนใจโปรดักต์ของตนเองจนเกิดความกังวลทำให้พรีเซนต์ออกมาได้ไม่ดี และท้ายที่สุดก็สูญเสียโอกาสในการนำเสนอแผนงานที่ดีตามที่ตนเองตั้งใจไป

     4. การควบคุมอารมณ์
        
ในช่วงของ Q&A ที่เป็นช่วงท้ายของการนำเสนอผลงานอย่าไปคาดหวังว่ากรรมการจะถามเราแต่เรื่องของโปรดักต์กับธุรกิจเพราะในหลายครั้งคำถามมาพร้อมกับการทดสอบเชาว์ปัญญาในการตอบคำถาม ซึ่งอาจเป็นคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโปรดักต์ของเราเลย กรรมการบางท่านถามคำถามเดิมซ้ำไปซ้ำมาจนทำให้เราเริ่มรู้สึกหงุดหงิดเพราะต้องตอบคำถามในแบบเดิมๆ ให้คิดเสมอว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ของเจ้าของธุรกิจอยู่ก็ได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup