Finanace

6 วิธีเอาชนะค่าใช้จ่ายผันแปร ตัวการฉุดงบให้ดิ่งลงเหว

Text : วันวิสา งามแสงชัยกิจ
 



Main Idea
 
  • ถึงแม้จะวางแผนทางการเงินเอาไว้อย่างดีแล้ว แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอความเปลี่ยนแปลงจนทำให้ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนไป  
 
  • ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาความกังวลอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายผันแปรที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ลองใช้เทคนิคเหล่านี้ดู
 



     ในการตั้งงบประมาณขึ้นมาสักก้อนสำหรับการทำธุรกิจ แน่นอนว่าเจ้าของกิจการต้องวางแผนแล้วว่าจะใช้เงินเท่าไร เพื่อที่จะสามารถครอบคลุมรายจ่ายได้ทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรเมื่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงและผันแปรได้ตลอดเวลา ดังนั้น ลองมาดู 6 เคล็ดลับที่จะช่วยให้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวและกังวลว่า ค่าใช้จ่ายที่ไม่คงที่นั้นจะเป็นตัวฉุดงบบริษัทให้ดำดิ่งลงเหวกัน

     1. คำนวณค่าใช้จ่ายผันแปรโดยเฉลี่ย
         ย้อนกลับไปดูว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายผันแปรในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ลองคำนวณและหาค่าเฉลี่ยดู โดยอาจจะใช้ค่าเฉลี่ยสูงสุดที่ได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มาเป็นตัวตั้งของค่าใช้จ่ายผันแปรของปีนี้ เพื่อที่อย่างน้อยๆ ก็จะได้รู้ถึงทิศทางของการเงินได้  

     2. คิดเผื่อสัก 3-5 เปอร์เซ็นต์
         หลังจากที่ได้ค่าเฉลี่ยสูงสุดของค่าใช้จ่ายผันแปรมาแล้ว ทางที่ดีเพื่อความปลอดภัยควรคิดเพิ่มเข้าไปอีก 3-5 เปอร์เซ็นต์จากยอดรวมทั้งหมด เผื่อไว้สำหรับราคาบางอย่างที่อาจจะเพิ่มขึ้นและมีสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมอย่างอื่น ซึ่งถึงแม้เงินส่วนนี้อาจจะเกินจากงบที่ใช้จริงไป ก็ถือว่ากันไว้ดีกว่าต้องมานั่งแก้ปัญหาทีหลัง   

     3. เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายจริงกับค่าที่ประมาณการเอาไว้เสมอ
         ในช่วงท้ายปี ผู้ประกอบการควรมานั่งทำการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปจริงกับตัวเลขที่ได้คาดการณ์ไว้ว่า มีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าไม่ได้เกินงบที่ตั้งไว้ ก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว และผลลัพธ์สำหรับปีหน้าก็คงจะไม่ต่างกันเท่าไร แต่ถ้าหากไม่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าจะทำการโยกย้ายเงินส่วนไหนหรือแก้ไขอะไรได้บ้าง เพื่อลดอัตราของค่าใช้จ่ายที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้

     4. เปิดบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายผันแปรโดยเฉพาะ
         อีกวิธีที่เจ้าของธุรกิจไม่ควรมองข้ามก็คือ การเปิดบัญชีไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนที่ไม่ได้คาดคิดเอาไว้ เพื่อเอาไว้เป็นเงินทุนสำรองในกรณีฉุกเฉินที่มีค่าใช้จ่ายผันแปรเกิดขึ้น ซึ่งควรทำการฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน เผื่อเดือนไหนช็อตก็สามารถถอนออกมาและจัดการกับปัญหานั้นได้

     5. เข้าหาแหล่งเงินทุน
         หลายครั้งที่สิ่งที่คาดเอาไว้มักไม่เป็นอย่างที่คิด ดังนั้น ก็ต้องมีแผนสำรอง และตัวช่วยชั้นยอดอย่างการเข้าหาแหล่งเงินทุนจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ที่สามารถให้ Line of Credit หรือวงเงินสูงสุดที่สามารถให้นักธุรกิจกู้ยืมได้ จะช่วยเข้ามาเติมเต็มช่องวางนี้โดยให้เจ้าของกิจการสามารถถอนเงินเพื่อชำระค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้อย่างทันท่วงที    

     6. ควบคุมค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค
         ลองดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคให้อยู่ในเกณฑ์ที่เท่าๆ กันทุกเดือน ไม่มากจนเกินไปในบางเดือน เพื่อที่จะช่วยลดความไม่แน่นอนด้านรายจ่ายลงไปได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup