Finanace

คุยกับ พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย กับการปรับกระบวนทัพ LiVE แพลตฟอร์ม Crowdfunding


 

Main Idea
 
  • ช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding ภายใต้ชื่อ LiVE แพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ให้บริการระดมทุน ให้กับ Startup และ SME
 
  • แต่ด้วยปัญหาต่างๆ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ลงทุนและ Startup ก่อน  มาติดตามความคืบหน้าของ  LiVE กันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
 
 

     Crowdfunding หรือการระดมทุนผ่านออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding ภายใต้ชื่อ LiVE แพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ให้บริการระดมทุน และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจให้กับ Startup และ SME เป็นการช่วยลดข้อจำกัดด้านเงินทุนของ Startup และ SME
 

ทำความรู้จัก LiVE แพลตฟอร์ม
 
     LiVE แพลตฟอร์ม เป็นการระดมทุนรูปแบบ Equity Crowdfunding โดยเป็นการลงทุนเพื่อแลกกับหุ้นที่มีสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัท พร้อมโอกาสได้รับเงินปันผล และสามารถซื้อ-ขายเปลี่ยนมือหุ้นที่ได้มาเพื่อกำไร    

     พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการงานส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด เปิดเผยว่า “ถ้ามองถึงแหล่งเงินทุนของ Startup จะเห็นว่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจจะใช้เงินตัวเองหรือญาติพี่น้องลงทุนก่อน จากนั้นเมื่อพัฒนาโปรดักต์ออกมาระดับหนึ่งแล้วจึงเริ่มมองหาเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะไปขอสินเชื่อธนาคาร หรือมี Angle Investor มาลงทุนในช่วง Seed Money พอโตขึ้นมาอีกระยะหนึ่ง ต้องการเงินทุนที่มากขึ้นเพื่อขยายการเติบโต ก็จะมีนักลงทุนที่เป็น VC (Venture Capital) เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี VC ประมาณ 30-40 ราย มีมูลค่าเงินพร้อมลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท จะเห็นว่าแต่ละช่วงจะมีรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกัน อย่าง VC จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่เริ่มเห็นการเติบโต มีรายได้ มีฐานลูกค้าแล้วจำนวนหนึ่ง ทีนี้ถามว่าแล้ว Crowdfunding จะมาในช่วงไหน Crowdfunding มาเติมตรงส่วนที่เป็น Seed Money ซึ่งถ้าสังเกตตรงนี้จะเห็นว่ามีช่องว่างอยู่ เพราะ Angle Investor ในไทยแทบไม่มีเลย”
 




เปิดรับ Startup ที่มีศักยภาพ

     อย่างไรก็ตาม แม้ในปีที่ผ่านมาจะเปิดให้มีการระดมทุนบน LiVE แพลตฟอร์มไปแล้ว แต่ปรากฏว่ายังไม่มี Startup รายใดสามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย โดยพบปัญหาที่มาจากทั้งผู้ลงทุนและ Startup หลายประการ ซึ่งพงศ์ปิติอธิบายว่า ปัญหาจากทางฝั่งผู้ลงทุนโดยมากเป็นเรื่องความเข้าใจการลงทุนในรูปแบบ Crowdfunding และการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่านักลงทุนไทยขาดการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะที่ผ่านมาในการลงทุนจะผ่านตัวกลาง เช่น มีโบรกเกอร์ มีคนทำบทวิเคราะห์การลงทุนให้ แต่การลงทุนในลักษณะ Crowdfunding ผู้ลงทุนต้องเข้าใจศึกษาธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งในต่างประเทศนักลงทุนที่ลงทุนใน Crowdfunding จะเป็นคนที่ผ่านการทำธุรกิจมาระดับหนึ่งแล้ว มีเงินทุนพอแล้วอยากสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ หรือเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จแล้ว ต้องการจะสร้างธุรกิจต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ในเมืองไทยยังมีค่อนข้างน้อย
 

ทำไม statup ที่ประสบความสำเร็จมีเพียง 5%

     ขณะที่ปัญหาที่พบในฝั่งผู้ประกอบการนั้น พงศ์ปิติบอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง Seed Stage คือ Startup ส่วนหนึ่งยังขาด Entrepreneurship Mindset กล่าวคือ หลายคนมี Passion อยากพัฒนาโปรดักต์เพื่อแก้ปัญหาที่เจอแล้วคาดหวังว่าคนอื่นจะรู้สึกพอใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วโปรดักต์นั้นไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม Startup ที่ประสบความสำเร็จจึงมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

     “จริงๆ เรายังไม่สามารถคาดหวังว่าโปรดักต์ที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นที่ต้องการของตลาด หากยังไม่ได้ทำการทดสอบตลาด หลายคนเวลา Pitching จะพูดเสมอว่าโปรดักต์นี้ดีอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่ขาดไปคือแล้วมีคนอยากจะใช้หรือเปล่า หรือตรงใจกับผู้บริโภคหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เราเจอปัญหาในฝั่งผู้ประกอบการว่า อยากทำโปรดักต์ด้วยปัญหาที่เจอ แต่ระบุไม่ได้ว่าใครคือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการขาย”
 




ตั้งหลัก ปรับกระบวนทัพใหม่


     จากปัญหาเหล่านี้ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ลงทุนและ Startup ก่อน โดยวางเป้าหมายที่จะสร้าง Eco-System เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและความร่วมมือในการสร้างผู้ประกอบการที่ดีและผู้ลงทุนในระบบให้ได้    

     “ด้านผู้ประกอบการเราจะมีหลักสูตรเพื่อช่วยให้ความรู้ว่า การเป็นผู้ประกอบการต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทสนใจและเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงเป็นซัพพลายเชนในระบบธุรกิจของเขาได้ ตรงนี้เราสามารถช่วยได้ทั้งในเรื่องการให้ความรู้ การแมตชิ่ง การหาพาร์ตเนอร์ ที่จะทำให้สามารถขยายธุรกิจไปอีกได้ นอกจากนี้ เรายังให้ Startup ทำคลิปวิดีโอเพื่ออธิบายโมเดลธุรกิจให้กับผู้สนใจ เพื่อให้เข้าใจธุรกิจได้ง่ายขึ้น ในส่วนของผู้ลงทุนต้องมีเครื่องมือช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลแล้วมีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในการลงทุน โดยเราจะทำ Virtual Pitching Platform ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลผู้ประกอบการ ให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลครบในจุดเดียว ส่วนหนึ่งคือเราต้องการให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล เพราะว่าถ้าเราไปดูหลักการที่เราให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ แนวคิดแบบนี้เรามองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ให้ผู้ลงทุนได้ศึกษาข้อมูล Startup ด้วย”

     ทั้งหลายทั้งปวงนี้ หลังจากปรับกระบวนเมื่อทุกอย่างพร้อม เชื่อว่า LiVE แพลตฟอร์ม จะกลับมาสร้างความคึกคัก และสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ Startup และ SME อย่างแน่นอน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup