Finanace

เมื่อร้านค้าออนไลน์ต้องเข้าระบบ ทำแบบไหน ถึงจะประหยัดภาษี




Main Idea
 
  • ในโลกของความเป็นจริงเมื่อมีรายได้ผู้ประกอบการก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย แต่มีผู้ประกอบการมือใหม่หลายคนอาจไม่รู้ไม่เข้าใจ และมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงไม่ได้เสียภาษี
 
  • ราชิต ไชยรัตน์ จึงมีข้อแนะนำถึงผู้ประกอบการว่าถ้าเข้าระบบและทำให้ถูกวิธี จะประหยัดภาษีได้มากทีเดียว
 
 


     ในยุคที่การค้าขายอี-คอมเมิร์ซกำลังเฟื่องฟู มีเถ้าแก่น้อยเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่กระโดดมาเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว และเลือกที่จะทำการค้าขายบนออนไลน์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ แต่กระนั้นในโลกของความเป็นจริงเป็นที่รู้กันว่าเมื่อมีรายได้ผู้ประกอบการก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งมีผู้ประกอบการมือใหม่หลายคนอาจไม่รู้ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงไม่ได้เสียภาษี ขณะที่บางคนเห็นว่าการขายของอี-คอมเมิร์ซ ไม่มีหน้าร้าน ไม่น่าจะมีใครมาจับไปเสียภาษีได้ จึงเลี่ยงที่จะเสียภาษี แต่ ราชิต ไชยรัตน์ CEO, AccRevo ผู้ให้บริการบัญชีครบวงจรออนไลน์ แนะนำว่าจริงๆ แล้วถ้าเข้าระบบและทำให้ถูกวิธี จะประหยัดภาษีได้มากทีเดียว


     ธุรกิจที่ซื้อ-ขายสินค้าจะมีภาษีที่เกี่ยวข้อง 2 ตัวหลักๆ คือ ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยปกติแล้วรูปแบบการทำธุรกิจนั้นสามารถแบ่งประเภทได้เป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัท หรือห้างหุ้นส่วน ซึ่งถ้าค้าขายในรูปแบบบุคคลธรรมดาก็ต้องเสียภาษีเงินได้แบบบุคคล แต่ถ้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อมาใช้ในการค้าขาย การเสียภาษีเงินได้ก็ต้องเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น จึงต้องดูก่อนว่า รายได้จากธุรกิจในแต่ละรูปแบบนั้น เสียภาษีแตกต่างกันอย่างไร การเสียภาษีแบบไหนตอบโจทย์ธุรกิจ และสามารถประหยัดภาษีได้มากที่สุด


      ในเรื่องนี้ ราชิตบอกว่า ถ้าเราเลือกรูปแบบของธุรกิจให้ถูกต้องจะสามารถประหยัดภาษีได้มาก โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่จะตัดสินใจว่าควรจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทหรือไม่นั้น ให้วิเคราะห์จากจำนวนรายได้ต่อปี ถ้าเมื่อไหร่ที่ขายของออนไลน์แล้วมีรายได้สูงหลักล้านบาทต่อปี นั่นแสดงว่าน่าจะเริ่มเป็นการทำธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่งานอดิเรกหรืองานเสริมแล้ว ฉะนั้นควรจะจดทะเบียนเป็นบริษัทจะดีกว่า


      “ส่วนใหญ่คนทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะมีรายได้ 2,000,000-3,000,000 บาท หลายคนถ้าเป็นพนักงานประจำแต่เปิดขายบนออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ถ้าเจอสรรพากรมาตรวจ เขาจะต้องเอารายได้จากการค้าขายมารวมกับรายได้เดิมที่เขามี แต่ประเทศไทยจะใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งถ้ายิ่งมีเงินได้สุทธิสูง อัตราภาษีก็จะยิ่งสูงขึ้น แต่ถ้าจดทะเบียนบริษัทแยกออกมา มีการแยกรายได้ให้ชัดเจน จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะทำให้เขาสามารถประหยัดภาษีได้”    





     นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เวลาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะคิดจากฐานรายได้ แต่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะคิดบนฐานกำไร ดังนั้น สิ่งที่ได้คือ ถ้าเลือกรูปแบบธุรกิจให้ถูกต้องเหมาะสมแล้วจะประหยัดภาษีใน 3 ข้อต่อนี้

   
     1. ถ้าไม่ทำบัญชีจะเสียภาษีบนฐานรายได้ กรมสรรพากรจะใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าต้องมีกำไรจากการค้าขาย 40 เปอร์เซ็นต์ถึงจะอยู่รอด แต่ในความเป็นจริงธุรกิจคุณอาจจะมีต้นทุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และกำไรมี 20 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นเช่นนั้นก็จะลำบาก


     2. วิธีการคิดภาษีก็ถูกกว่า และการเสียภาษีบนฐานกำไร แปลว่ากำไรน้อยกว่ารายได้อยู่แล้ว ก็จะเสียภาษีถูกกว่า และถ้าทำในรูปแบบบริษัทจะสามารถเอาต้นทุนมาหักค่าใช้จ่ายได้เต็มที่
“พอเป็นบริษัทมีต้นทุน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราทำธุรกิจเราสามารถเอาต้นทุนทุกอย่างที่ทำธุรกิจไม่ใช่แค่ซื้อสินค้า เช่น ต้นทุนรายจ่าย ต้นทุนการเดินทาง ต้นทุนค่ารับรอง ต้นทุนการส่งเอกสาร สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด”


     3. การใช้สิทธิ SME ได้ โดยรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์เอาไว้ว่า ถ้าผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะถือว่าเป็น SME อัตราภาษีนิติบุคคลจากเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นว่า ถ้ากำไรของบริษัทไม่เกิน 3 แสนบาท จะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ส่วนของกำไรที่เกิน 3 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 15 เปอร์เซ็นต์ของกำไร และสุดท้ายส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ของกำไร


     คงพอจะเห็นแล้วว่าการเลือกรูปแบบธุรกิจที่ถูกต้องจะช่วยประหยัดภาษีได้อย่างไร โดยในตอนท้าย ราชิตยังเน้นย้ำว่า คนส่วนใหญ่จะมีปัญหาไม่อยากเสียภาษีถูกต้องจึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีอย่างไร ซึ่งตรงนี้ขอแนะนำในเบื้องต้นว่า ควรนำรายได้เข้าระบบบัญชีให้ถูกต้อง และเลือกรูปแบบธุรกิจให้ถูกต้อง การเสียภาษีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup