Finanace

​เคล็บลับบริหารเงินฉบับฟรีแลนซ์ ทำอย่างไรให้อยู่ได้ทั้งเดือน

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง




Main Idea
 
  • ด้วยความที่รายได้ของฟรีแลนซ์ไม่ได้เข้ามาเป็นประจำสม่ำเสมอเหมือนเช่นมนุษย์เงินเดือน ดังนั้น จึงต้องระวังทั้งฝั่งรายรับและรายจ่ายให้ดี
 
  • และนี่คือเทคนิคการบริหารจัดการทางการเงินสำหรับฟรีแลนซ์ เพื่อจะได้อยู่บาลานซ์การทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น




     วิถีฟรีแลนซ์ คือการทำงานที่อิสระไม่มีเจ้านาย หลายคนเลือกวิถีนี้เพราะอยากมีเวลาให้ตัวเอง และครอบครัว   แต่การเป็นฟรีแลนซ์ก็ไม่ได้ง่าย เพราะนอกจากจะต้องมีคอนเน็กชั่น มีช่องทางการหางานแล้ว  เรื่องของการบริหารจัดการเงินที่ได้มาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อยู่ได้แบบไม่เดือนชนเดือน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ วันนี้จะพาไปคุยกับหนุ่มฟรีแลนซ์สายช่างภาพนิ่งและวิดีโอกันว่าเขามีการบริหารจัดการการใช้เงินที่ดีอย่างไร

     โยธิน เภาศรี เล่าให้ฟังว่า ยอมรับว่าการบริหารเงินสไตล์วิถีฟรีแลนซ์เป็นเรื่องที่ยากเพราะเงินไม่ได้มาแบบสม่ำเสมอเหมือนอย่างเงินเดือน ดังนั้นถ้าคนที่ไม่มีวินัย ไม่รู้จักวางแผนการเงินที่ดี ก็จะทำให้เงินเหล่านั้นหายเข้าไปในกลีบเมฆ พอสิ้นเดือนมาก็จะไม่มีค่างวดรถ งวดบ้าน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ  โดยเขาแนะนำเทคนิค คือใช้วิธีแบ่งโอนเงินไปเก็บเป็นก้อนๆ เช่น ก้อนแรกคือ ค่างวดรถ ก้อนต่อมาคือค่างวดบ้าน สองสิ่งนี้คือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะหากขาดส่งงวดไปอาจได้รับผลกระทบได้

     ต่อมาคือจะต้องกันไว้เป็นเงินเก็บประมาณร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือนที่ได้รับเงินมาเพราะเงินก้อนนี้เป็นก้อนแห่งอนาคตตัวเราเอง และครอบครัว ก้อนต่อมาที่จะต้องวางแผนให้ดีคือ ค่าใช่จ่ายสำหรับตัวเองรายจ่ายค่าของกินของใช้ สินค้าอุปโภค บริโภค ตรงนี้ก็สำคัญเช่นกันเพราะเราจะต้องดำเนินชีวิตในแต่ละเดือนให้รอดก็คงต้องหวังเพิ่งเงินในส่วนนี้ ส่วนอีกก้อนหนึ่งที่หนุ่มๆ จะต้องเก็บเงินก็คือเงินแต่งงาน อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังทำอยู่ในตอนนี้เพื่อหวังที่จะสร้างครอบครัว ส่วนนี้ขอแนะนำว่าให้ขยันๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่เกี่ยงงานรับให้เพราะจะได้เงินมาไวในปริมาณที่มาก พูดง่าย ๆ คือเก็บเงินได้เร็ว

     นอกจากการบริหารเงินแบ่งเก็บ หรือแบ่งให้เป็นสัดส่วนเป็นก้อนๆ แล้ว สำหรับคนที่จะเข้าสู่วงการงานฟรีแลนซ์ใหม่ๆ จะต้องเรียนรู้ระบบงานด้วย อย่างบางบริษัทหลังจากจบงานก็จะให้วางบิลไว้ 1 เดือน หรือ 45 วัน เงินถึงจะเข้า ดังนั้นจะต้องทราบในเรื่องนี้ด้วยเพื่อวางแผนรับมือการบริหารจัดการเงินให้อยู่ได้   

     จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ควรรู้ไว้เพื่อให้เราได้รับรู้ และตั้งตัว อย่างไรก็ตามในส่วนของคิวงานที่ดีควรรู้ล่วงหน้าก่อน 1 เดือนถึงจะดีทำให้เรารู้วันว่างเพื่อที่จะรับงานต่อๆ ไปได้เลยหากมีงานแทรกเข้ามา ไม่เพียงเท่านี้ยังขอแนะนำว่าให้มองการหางานแบบภาพรวมยาวๆ ให้หางานไว้เรื่อยๆ สำรองไว้ 3 เดือน หรือมากสุด 1 ปี จะดีมาก หากลูกค้ามีความชัดเจนเรื่องคิวจะเป็นผลดีต่อคนทำฟรีแลนซ์ทำให้เราเห็นตารางงานและวางแผนชีวิตได้ ส่วนเรื่องของการดูแลตัวเองเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรืออุบัติเหตุ แนะนำว่าให้ซื้อประกันไว้เพื่อรองรับตรงส่วนนี้ ด้านการลงทุนอื่นๆ ถ้าอยากลงทุนบ้างก็แนะนำแต่พองาม ส่วนตัวเขากำลังมองหาซื้อหุ้นไว้ รอหลังโควิด -19 คลี่คลายจะเริ่มลงทุนบ้าง แต่ขอเตือนให้พอประมาณเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง

     โยธิน เขาทิ้งทายว่ายังไงก็เอาใจช่วยชาววิถีฟีแเลนซ์ให้ฝ่าวิกฤตโควิด -19   ในครั้งนี้ไปให้ได้ ช่วงนี้ก็ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนประหยัด หาหนทาง หารายได้อื่นๆ เข้ามาเสริม เอาตัวเองให้รอด อย่างเช่นการขายภาพวิวให้กับชัตเตอร์สต็อกก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการหารายได้ในช่วงนี้
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup