Finanace

จับตาสินเชื่อดิจิทัล แหล่งเงินทุนใหม่ของ SME Startup

Text : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงจาก บทความศูนย์วิจัยกสิกรไทย




Main Idea
 
  • ฐานลูกค้าสินเชื่อดิจิทัลคือกลุ่มคนใหม่ที่อาจยังไม่เคยเข้าถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหลักในระบบมาก่อน เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอย่างกลุ่มค้าขายที่มีรายได้ไม่แน่นอน  จึงกลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในโลกยุคดิจิทัล
 
  • ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลไม่มีข้อมูลเครดิตลูกค้าที่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยง  แต่ในอนาคตน่าจะยังขยายตัวได้อีกมาก  
 

 

     กลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในโลกยุคดิจิทัล เมื่อรูปแบบในการให้สินเชื่อในปัจจุบันอาจไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปที่สาขาของสถาบันการเงินเหมือนที่ผ่านมา รูปแบบการให้บริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่า “สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending)” กลับได้รับความสนใจมากขึ้น
 

สินเชื่อดิจิทัลคืออะไร...ใครเป็นลูกค้า

     สำหรับตลาดของสินเชื่อดิจิทัลคือฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาจยังไม่เคยเข้าถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหลักในระบบมาก่อน เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยอย่างกลุ่มค้าขายที่มีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ประจำปานกลางระดับต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ สินเชื่อดิจิทัลโดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลไม่มีข้อมูลเครดิตลูกค้าที่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ประกอบการฟินเทค เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเครดิตของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน การประเมินความเสี่ยงในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จึงเป็นไปได้ยาก

     โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง และผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินหลักมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีรายได้ที่ไม่แน่นอนหรือมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลโดยส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงลูกค้ารายใหม่ที่มีรายได้แน่นอนหรือมีรายการเดินบัญชีที่ชัดเจนเป็นหลัก นั่นหมายถึงว่าการพิจารณาสินเชื่อดิจิทัลโดยส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลพื้นฐานแบบเดิมๆ คือมองจากความสามารถในการชำระหนี้ที่มาจากรายได้หรือยอดขายเป็นหลัก

     ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตลูกค้าในการประเมินความเสี่ยง การให้บริการสินเชื่อดิจิทัลจึงเป็นการให้บริการสินเชื่อทางเลือกสำหรับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันที่มีอยู่เดิม อนุมัติในวงเงินที่ไม่สูงมาก ระยะเวลากู้ยืมสั้นเฉลี่ยประมาณ 1 – 3 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งเหมาะสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ต้องการเงินฉุกเฉินเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเงินทุนฉุกเฉินเพื่อใช้หมุนเวียนภายในกิจการ
 
   
     ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะของผู้กำกับและดูแลเรื่องนี้ต้องการให้ผู้ให้บริการใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ที่ไม่ใช่ข้อมูลทางด้านรายได้หรือยอดขายเพียงอย่างเดียว ในการพิจารณาให้สินเชื่อ อาทิ ข้อมูลชำระค่าสาธารณูปโภค พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีกลุ่มผู้เล่นในบริบทนี้ เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อดิจิทัล

     ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะยังคงเป็นผู้เล่นหลักในตลาดสินเชื่อดิจิทัล เนื่องจากมีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ ขณะที่การพิจารณาสินเชื่อดิจิทัลยังคงยึดหลักการจากการใช้ข้อมูลแบบเดิม นั่นคือ ข้อมูลรายได้หรือรายการเดินบัญชีซึ่งแสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายการเดินบัญชี และข้อมูลเครดิตลูกค้า เป็นต้น ประกอบกับพฤติกรรมของคนไทยที่มีความเชื่อมั่นต่อการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก และมีความคุ้นชินในการใช้แอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์ (Internet Banking และ Mobile Banking) มาในระยะหนึ่งแล้ว ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ณ เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีสะสมที่ทำธุรกรรมชำระเงินผ่าน internet banking อยู่ราว 30.36 ล้านบัญชี ขณะที่มีจำนวนบัญชีสะสมที่ทำธุรกรรมชำระเงินผ่าน mobile banking อยู่ราว 64.33 ล้านบัญชี

     ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำการตลาดให้บริการสินเชื่อดิจิทัลไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายผ่านช่องทาง Internet Banking หรือ Mobile Banking ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังมีการจับคู่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจบริการอื่นๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง E-Marketplace หรือ Online Food Delivery รายใหญ่ที่มีกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารรายย่อยเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายฐานลูกค้าสินเชื่อดิจิทัลไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่เพื่อทำการวิเคราะห์รายได้ที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ยอดขาย ยอดคำสั่งซื้อ ยอดคืนสินค้า รวมถึงข้อมูลการรีวิวสินค้าและบริการ เป็นต้น นั่นแสดงว่า ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสในการให้บริการสินเชื่อ

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะเห็นโอกาสของตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด -19 รอบนี้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup